สัมมนาวิชาการ คน ในกระแสการเปลี่ยนแปลง

    ccscs seminar 2013
    ภาพ (จากบนลงล่าง)
    1-2. กลุ่มดินสอสี
    3. wikimedia commons
    4. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์

    ลงทะเบียนล่วงหน้า (ฟรี) คลิก ที่นี่

    สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: รพีพรรณ เจริญวงศ์
    โทร. 082 445 2664
    e-mail: ccscs.tu [at] gmail.com

    ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
    ร่วมกับ
    ประชาไท
    และ กลุ่มจับตาประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch – TSMW)

    ขอเชิญร่วมงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2556

    “คน” ในกระแสการเปลี่ยนแปลง

    วันที่ 16 กันยายน 2556
    เวลา 08.30-17.00 น.
    ณ ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์
    ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1
    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


    ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ชีวิต “คน” โดยเฉพาะที่อยู่ในเขตชนบทได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก พวกเขามีความสัมพันธ์กับระบบตลาดและทุนอย่างซับซ้อนแนบแน่นมากขึ้น ทั้งในด้านการผลิต การลงทุน และการจ้างงานในภาคเกษตร ขณะเดียวกันรายได้หลักของครัวเรือนพวกเขามาจากการทำงานนอกภาคเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจากการเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของคนรุ่นลูกหลาน นอกจากนี้ พวกเขามีวิถีชีวิตและแบบแผนการบริโภคคล้ายคลึงคนเมืองหรือคนชั้นกลางมากขึ้นทุกขณะจนยากที่จะแยกจากกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้อีกต่อไป ขณะที่เส้นแบ่งระหว่างเมืองกับชนบทก็พร่าเลือนอย่างมากโดยเฉพาะในเขตชานเมือง

    ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ในแง่หนึ่งดูเหมือนว่า “คน” ทั้งในเขตชนบท ชานเมือง รวมทั้งในบางส่วนของเขตเมืองได้ก้าวพ้นจาก “ความยากจนแบบเก่า” ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดการพัฒนา การอยู่ห่างไกลจากตลาดการคมนาคมที่ยากลำบาก รวมทั้งการขาดแคลนสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ทว่าขณะเดียวกันคนจำนวนมากยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันและความยากลำบากหลายด้าน จนอาจกล่าวได้ว่าพวกเขามีชีวิตอยู่ใน “ความยากจนแบบใหม่” ซึ่งหมายถึงความยากจนที่เกิดจากกระบวนการพัฒนาและนโยบายของรัฐและการมีปฏิสัมพันธ์กับตลาดและทุน เช่น การลดลงและการขาดแคลนที่ดินทำกิน ความเสี่ยงและความไม่มั่นคงจากภัยพิบัติ การขาดอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจการเกษตร การขาดทักษะและความรู้สำหรับการทำงานนอกภาคเกษตร การขาดหลักประกันและสวัสดิการในการทำงานนอกภาคเกษตร เป็นต้น

    ที่ผ่านมา “คน” ที่อยู่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้พยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อประคองชีวิตให้อยู่รอดภายใต้เงื่อนไขระดับมหภาค ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติที่เกิดบ่อยและรุนแรงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง นโยบายของรัฐ เช่น นโยบาย “ประชานิยม” พืชผลการเกษตร ทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการทวีความซับซ้อนขึ้นของระบบทุนนิยมและระบบเศรษฐกิจการเกษตรที่เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับโลกลงมาจนถึงระดับหมู่บ้าน เช่น การขยายตัวระบบการเกษตรแบบพันธะสัญญา และการเปิดการค้าเสรี เป็นต้น ทว่าสภาวการณ์เหล่านี้ยังไม่ได้รับความสนใจหรือทำความเข้าใจในระดับที่มากพอ และแม้จะมีงานศึกษาทางมานุษยวิทยานิเวศและนิเวศวิทยาการเมืองรวมทั้งงานศึกษาในกลุ่ม Agrarian Transformation Studies จำนวนหนึ่ง แต่งานเหล่านี้มักดำเนินการโดยนักวิชาการต่างชาติ ส่งผลให้ไม่สู้เป็นที่รับรู้หรือมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจกับสาธารณะมากนัก ขณะเดียวกันสื่อมวลชนและภาค “ประชาสังคม” ไทยยังคงยึดติดอยู่กับภาพ “ชุมชนชนบท” ที่หยุดนิ่ง พึ่งตนเอง และพอเพียง ซึ่งขัดแย้งกับชีวิตทางเศรษฐกิจของคนในเขตที่เรียกว่าชนบทในปัจจุบันอย่างมาก


    กำหนดการ และ บทคัดย่อ

    Download (PDF, 706KB)