ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม: การเสนอรายงานชุดโครงการวิจัย ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย

rethinking thailands political landscape

ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพาประเทศไทยไปสู่จุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปเหมือนเก่าอีกทั้งยังได้สลายมายาภาพเกี่ยวกับสังคมไทยลงไปจนแทบจะหมดสิ้น ถ้อยคำที่ท่องจำในชั้นเรียนและเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะจำพวก “คนไทยรักใคร่สามัคคีและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน” กลายเป็นตลกร้ายเมื่อความนิยมทางการเมืองได้กลายรูปเป็นความเป็นอริ และไม่ได้ปรากฏผ่านเฉพาะการเลือกตั้งอย่างสันติ หากแต่ยังแปรเป็นความรุนแรงหลากชนิดทั้งบนท้องถนน ในสถานที่ราชการ ที่ทำงาน ตรอก ละแวก หรือแม้กระทั่งที่พักอาศัย ขณะเดียวกันภาพของคนต่างจังหวัดและคนชนบทในละครโทรทัศน์ประเภทเกษตรกรที่โง่เขลา ยากจนข้นแค้น หรือว่าสาวใช้ที่ทั้งวันเอาแต่นินทาเจ้านาย ถูกท้าทายอย่างถึงรากเมื่อคนเหล่านี้ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของพวกเขาทั้งในแง่ประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของตนและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ขณะที่คนเมืองที่ได้ชื่อว่ามีการศึกษากลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่ชะลอหรือเบี่ยงเบนกระแสการเปลี่ยนแปลง การก้าวขึ้นมาทวงถามสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของประเทศโดยคนจำนวนมากที่ฟากหนึ่งเน้นการเคารพกติกาและความเสมอหน้าขณะที่อีกฟากเชิดชูคุณงามความดีของบุคคลมากกว่าทำให้ความขัดแย้งครั้งนี้มีแนวโน้มจะยืดเยื้อและยากจะคาดการณ์ได้ว่าจะคลี่คลายไปในทางใด

ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศหรือว่าด้วยความประสงค์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ หากแต่เป็นผลของการบรรจบกันของกระบวนการหลายด้าน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาก่อให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองในวงกว้าง ขณะที่การที่การเมืองระดับชาติหันมาให้ความสำคัญกับการแข่งขันเชิงนโยบายส่งผลให้การเลือกตั้งมีนัยสำคัญในความรู้สึกของผู้ลงคะแนนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมไปกับเกิดการปรับความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างสำคัญในทุกระดับโดยเฉพาะในส่วนของการอุปถัมภ์ค้ำชูระหว่างกัน ขณะเดียวกันการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจส่วนหนึ่งช่วยให้คนจำนวนมากมีโอกาส “ลืมตาอ้าปาก” มากขึ้นและเห็นว่าสถานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาสัมพันธ์กับการเมืองแต่ละระดับอย่างไร ขณะที่การผลัดแผ่นดินในอนาคตอันใกล้ได้กระตุ้นให้อุดมการณ์หรือจินตนาการทางการเมืองของแต่ละฝ่ายทวีความเข้มข้นและแหลมคมขึ้นอย่างมาก ในบางพื้นที่ความเป็นภูมิภาคนิยมได้ถูกผสมเข้ากับอุดมการณ์ราชาชาตินิยมผ่านทางกลยุทธ์ของพรรคการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่อีกหลายพื้นที่อุดมการณ์ราชาชาตินิยมถูกตั้งคำถามและท้าทายอย่างแหลมคมภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย

ชุดโครงการวิจัย ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีวัตถุประสงค์ที่จะสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอุดมการณ์ในประเทศไทยในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาว่ามีลักษณะเช่นใด การเปลี่ยนแปลงแต่ละด้านมีความสัมพันธ์หรือว่าส่งผลต่อกันอย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจะช่วยให้เข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่อย่างรอบด้านและรัดกุมได้อย่างไร ผลการศึกษาของชุดโครงการวิจัยซึ่งดำเนินการในช่วงปี พ.ศ.2553-2555 ทั้งในระดับภาพรวม ในเชิงปริมาณ และในระดับพื้นที่ในทุกภูมิภาค ต่างชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างคมชัดและเชื่อมโยงให้เห็นว่ามีนัยสำคัญต่อความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังทวีความแหลมคมขึ้นอีกครั้งอย่างไร

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีพันธกิจในการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะในการร่วมคลี่คลายปัญหาต่างๆ จึงเห็นสมควรที่จะจัดให้มีการนำเสนอผลการศึกษาในชุดโครงการวิจัยดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถฝ่าวิกฤติการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ได้อย่างรอบคอบและมีสติอีกทาง

คณะสังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอเชิญร่วมการสัมมนาวิชาการ

ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

การเสนอรายงานชุดโครงการวิจัย ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย
ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วันอังคารที่ 28 มกราคม 2557 เวลา 09.00-17.00 น.
ณ ห้องบรรยายชั้น 1 (ห้อง 103) คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


กำหนดการ

08.30-09.00 น.
ลงทะเบียน

09.00-09.15 น.
คณบดีคณะสังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยา กล่าวต้อนรับเเละเปิดการสัมมนา

09.15-10.15 น.
การเสนอผลการศึกษา ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย

ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย
ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร
รศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์

ร่วมเเสดงความคิดเห็นโดย ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ เเละ ผศ.ดร.นลินี ตันธุวนิตย์

10.15-11.15 น.
การเสนอผลการศึกษา
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
เกี่ยวกับการเปลี่ยนเเปลงด้านเศรษฐกิจเเละสังคมไทย พ.ศ.2555

อ.ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์

ร่วมแสดงความคิดเห็นโดย อ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล

11.15 – 12.00 น.
การเสนอผลการศึกษา
พลวัตรของการเมืองในระบอบการเลือกตั้ง
และผลต่อความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นไทย

ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์
ร่วมแสดงความเห็นโดย ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

13.00 – 14.15 น.
การเสนอผลการศึกษา
1) พัฒนาการจิตสำนึกและปฏิบัติการทางการเมืองของชาวเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่

ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
2) การเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองในชนบท: กรณีศึกษาบ้านคลองโยง จ.นครปฐม
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง

ร่วมแสดงความเห็นโดย รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล

14.15 – 15.30 น.
การเสนอผลการศึกษา
1) ชุมชนแห่งนั้นชื่อปรารถนา:
วัฒนธรรมการเมืองในชีวิตประจำวันกับเครือข่ายความสัมพันธ์ในการพัฒนาท้องถิ่น

อ.ดร.จักรกริช สังขมณี
2) พลังชุมชนของชนบทใหม่ในกระแสโลกาภิวัตน์: กรณีศึกษาบ้านสหกรณ์
ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร

ร่วมแสดงความเห็นโดย ผศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์

15.45 – 16.30 น.
การเสนอผลการศึกษา
ชีวิตทางการเมืองของชาวใต้ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัย
ผศ. ดร.อนุสรณ์ อุณโณ

ร่วมแสดงความเห็นโดย ผศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ

16.30-17.00 น.
ประเทศไทยยังเหมือนเดิม (?)
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล

ดำเนินรายการตลอดการสัมมนา โดย อาจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ