สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่รู้สึก


suddan ed 2015 cover


[1] ปาจารยาจารย์ อาจารย์ และเจ้าหน้าที่

suddan ed 2015 A spread

[2] ศิษยานุศิษย์

suddan ed 2015 B spread

[3] มิตรสหายและศิษย์ร่วมสมัย

suddan ed 2015 C spread

[4] บทส่งท้าย

suddan ed 2015 E spread

ส่วนหนึ่งของโครงการจัดพิมพ์หนังสือ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี
การก่อตั้งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


จดหมายเชิญ

17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 คือการเปลี่ยนผ่านวันเวลาสำคัญของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งซึ่งจะมีอายุครบ 50 ปี เริ่มต้นจากการเป็นแผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ก่อนที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นแผนกอิสระสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาและได้สถาปนาขึ้นเป็นคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ทำการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีเป็นแห่งแรกของประเทศในปี พ.ศ. 2527 ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หากนับรวมจำนวนสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทั้งในฐานะเจ้าหน้าที่ประจำคณะ ผู้สอน ผู้เรียน ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน นับตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งปัจจุบัน คงมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 4,000 คน ซึ่งแต่ละคนคงมีความทรงจำ ความรู้สึก เรื่องเล่าหลากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคณะที่บางครั้งบางคราวผุดขึ้นมาในมโนสำนึก อันอาจเป็นผลมาจากบรรยากาศหรือเหตุการณ์เล็กๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ระหว่างการเดินอยู่ในตลาด ในท้องถิ่นที่ไม่คุ้นเคย ที่ทำงาน เสียงจอแจในร้านเหล้า ความพลุกพล่านในสนามบิน กลิ่นควันบุหรี่ หรือแสงแดดจัดจ้าของบ่ายวันหนึ่ง แต่กลับทำให้หวนไปนึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับคณะบางช่วงบางตอนตอนลุกโพลงขึ้นมา ผู้สอนบางคน อาจนึกถึงความอึดอัดของการสอนในวันแรก ความโกลาหลของนักศึกษาปีหนึ่งในวันเปิดเทอม ศิษย์เก่าบางคนอาจนึกถึงคำบรรยายในห้องเรียน แนวคิดทฤษฎีบางเรื่อง บรรยากาศอันมัวซัวของห้องสมุด บทสนทนาในวงเหล้า ค่ายกิจกรรม สนามฟุตบอล เสียงโขกหมากรุกหรือบรรยากาศของอาศรมฯ สำหรับผู้ที่ได้ร่วมงานในคณะ อาจนึกถึงงานวันปีใหม่ งานวันเกษียณอายุของสมาชิกบางคน หรือบรรยากาศเงียบสงบในช่วงปิดเทอม … ฯลฯ

ขอเชิญชวนให้ร่วมกันค้นหา ขุดค้น และบันทึก “ความทรงจำที่กลับมาโดยบังเอิญ” ที่รำลึกขึ้นได้โดยผ่านความรู้สึก สำนึก รับรู้ หรือผัสสะต่างๆ แล้วทำให้หวนนึกถึงผู้คน สถานที่ บรรยากาศ เรื่องราวในช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพื่อรวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่รู้สึก ในโอกาสของการครบรอบกึ่งศตวรรษของคณะ

มาร์แซ็ล พรุสต์ นักประพันธ์เอกของโลกชาวฝรั่งเศส ผู้เขียนนวนิยาย การค้นหาวันเวลาที่สูญหาย (A la Recherche du temps perdu) ความยาวกว่า 3,000 หน้า ซึ่งตีพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2456-2470 กล่าวไว้ว่า

“แม้อดีตบางช่วงในชีวิตจะไม่เหลือร่องรอยไว้ให้เห็น ด้วยผู้คนได้ตายจากไปสิ้นและสิ่งต่างๆ ก็พินาศไปหมดแล้ว หากมีเพียงกลิ่นสัมผัสและรสสัมผัสที่ยังดำรงอยู่อีกยืนยาว ประดุจวิญญาณหลังความตาย แม้จะบอบบาง แต่ก็มีพลังและชีวิตชีวาอดทนและซื่อสัตย์ เฝ้ารอคอยอยู่บนซากของวัตถุที่ถูกผลาญทำลาย เพื่อให้ถึงวันเวลาที่จะรองรับสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่แห่งความทรงจำ” (นพพร ประชากุล, พรุสต์: ตัวตน กาลเวลาและวรรณกรรม, 2546)

คำขอบคุณ คำขอโทษ และคำร้องขอ

บรรณาธิการขอแสดงความขอบคุณทุกท่านที่ร่วมเป็นผู้รำลึกและเขียนหนังสือ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่รู้สึก โดยส่งผ่านมาทั้งที่เป็นต้นฉบับลายมือ และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ขอขอบคุณ ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล คุณคณิต ลิมปิพิชัย นายกสมาคมสังคมวิทยาฯ คุณวิชัย แสงดาวฉาย คุณรพีพรรณ เจริญวงศ์ อาจารย์วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ ผศ. ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน 50 ปีคณะ รวมถึงท่านอื่นๆ ที่มิได้ออกนามในที่นี้ ซึ่งได้ช่วยสนับสนุน ประสานเชื่อมโยง แสวงหาข้อเขียน ทวงต้นฉบับ สัมภาษณ์เพิ่ม ฯลฯ เพื่อให้หนังสือเล่มนี้มีความพิเศษเพิ่มมากขึ้น

บรรณาธิการขอแสดงความขอโทษอย่างสูงต่อคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และศิษย์เก่าที่อาจไม่ได้รับทราบคำเชื้อเชิญ จึงทำให้อดีตและความทรงจำสำคัญของคณะจำนวนอีกมหาศาลต้องขาดหายไป อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่รู้สึก มีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น จึงขอให้ถือเสมือนว่าหนังสือเล่มนี้คือคำเชื้อเชิญมายังทุกท่าน ที่บรรณาธิการพลาดเรียนเชิญ คณาจารย์ ศิษยานุศิษย์ มิตรสหายและศิษย์ร่วมสมัยสามารถส่งข้อเขียนมาเพิ่มเติมเพื่อจัดทำเป็น “สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ฉบับดิจิทัล” เผยแพร่ในวงกว้างภายในช่วงปีของการเฉลิมฉลองนี้ และเพื่อเปิดโอกาสให้แสวงหาและค้นพบวันเวลาที่สูญหายไปร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อก่อสร้างสถาปัตยกรรมแห่งความทรงจำของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่กำลังจะเดินผ่านวันเวลากึ่งศตวรรษของตนเองและมุ่งหน้าไปสู่อนาคตกาล

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


อ่าน “50 ปี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” และ “กาล-เวลา” พร้อมชมภาพประกอบจากหนังสือ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่รู้สึก ได้ที่นี่