จินตกรรมและจินตนาการ ผ่านวัตถุสิ่งของ “สุวรรณภูมิ”

ภาพประกอบ: ชุติมาศ เลิศศิรรังสรรค์


บทแนะนำวัตถุจัดแสดงในชุด

จินตกรรม-จินตนาการ “สุวรรณภูมิ”

โดย พจนก กาญจนจันทร


เผยแพร่ครั้งแรกใน สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ (บรรณาธิการ). 25 ปีพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ.2530-2555. กรุงเทพฯ: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555. หน้า 9.

โบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “จินตกรรม-จินตนาการ สุวรรณภูมิ” ในโอกาสครบรอบ 25 ปี พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รวมถึงภาพถ่ายโบราณวัตถุอีกส่วนหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในที่นี้ เป็นโบราณวัตถุที่พบใน “สุวรรณภูมิ” มีอายุย้อนหลังไปกว่าสองพันปีเป็นต้นมา คณะทำงานได้คัดเลือกเฉพาะวัตถุชิ้นสำคัญบางชิ้น จากคลังสะสมส่วนบุคคล ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรือง-มั่งคั่งทางวัฒนธรรมของดินแดน “สุวรรณภูมิ” อาทิ รูปเคารพที่ทำจากทองคำ จากเวียดนามตอนใต้ บริเวณปากแม่น้ำโขง ที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมพื้นถิ่น กับวัฒนธรรมเอเชียใต้ที่เข้ามามีอิทธิพลและเจริญรุ่งเรืองมากอย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา, เครื่องสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีลักษณะของวัฒนธรรมดองเซิน (Đông Sơn Culture) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในเวียดนามเหนือ แต่พบในประเทศกัมพูชา นอกจากนั้น ยังมีโบราณวัตถุอื่นๆ ที่แสดงถึงเครือข่ายการติดต่อแลกเปลี่ยนภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกับเอเชียใต้ ที่แสดงถึงรสนิยมการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยได้ส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ ทั้งในรูปของวัตถุสำเร็จรูป หรือในรูปของวัตถุดิบและเทคโนโลยีการผลิต

เหรียญทองคำและเหรียญเงิน ที่ปรากฏรูปในเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา เช่น รูปหอยสังข์ รูปศรีวัตสะ รูปวัว-สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่พบได้ในสมัยต้นประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือเหรียญจากรัฐอาระกันต่างยุคสมัย ที่มีจารึกโดยใช้อักษรหลายภาษา ระบุพระนามกษัตริย์ หรือข้อความทางศาสนา ซึ่งในมิติหนึ่งแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรืออีกมิติหนึ่งอาจแสดงถึงความผันผวนทางการเมืองจากการที่มีผู้คนหลายกลุ่มเข้ามามีอำนาจในดินแดนแห่งนี้ พื้นที่บริเวณนี้แทบจะไม่เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งอารย-ธรรมที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานศึกษาทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีแทบไม่ปรากฏให้เห็น ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ที่ติดต่อกับเอเชียใต้ ความหมายและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของรัฐอาระกัน กลับถูกบดบังด้วยการเมืองในปัจจุบันอย่างน่าเสียดาย

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญของดินแดน “สุวรรณภูมิ” ในที่นี้ จึงเป็นตัวแทนเรื่องเล่าของคนในประวัติศาสตร์ที่ส่งมอบต่อให้กับคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ตราบใดที่วัตถุนั้นยังไม่สูญสลาย เรื่องเล่านั้นก็จะยังคงอยู่ รอเวลาให้ผู้สนใจ และนักวิชาการจากหลายสาขาได้เข้ามาร่วมศึกษา ค้นคว้าและเป็นตัวแทนเล่าเรื่องของผู้คนในประวัติ-ศาสตร์ที่เคยมีชีวิตอยู่ในดินแดนที่เรียกกันว่า “สุวรรณภูมิ”