ธนกฤต ภัทร์ธราธร: บนรอยต่อของการท่องเที่ยวและความยั่งยืน


ธนกฤต ภัทร์ธราธร


ธนกฤต ภัทร์ธราธร

เจ้าหน้าพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ระดับสูง
งานท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ
เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต
ปีการศึกษา 2530

ตอนที่เลือกคณะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ.2527 นั้น ยังเป็นการสอบทีเดียวเลือกได้ 6 คณะ ตอนที่เลือกสอบนั้น ผมจำได้ว่า ผมเลือกคณะบัญชีฯ จุฬาฯ เป็นอันดับที่ 1 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับที่ 2 คณะสังคมวิทยาฯ มธ เป็นอันดับที่ 3 ส่วนอันดับ 4-6 จำไม่ได้แล้วว่าเลือกอะไรไว้ ตอนที่ประกาศผลสอบ รู้ว่าติดก็ดีใจนะที่ได้เรียนในธรรมศาสตร์ แต่เวลาคนที่บ้านกับเพื่อนๆ ถามว่าเรียนไปทำไม ตอนนั้นตอบได้ทันทีว่า “ไม่รู้” แต่ที่เลือกเพราะคะแนนไม่สูงมากเลยเลือกไว้

ตอนนั้นมีทั้งดีใจกับลังเลใจว่าจะเรียนดีไหม เพราะว่าสอบติด ABAC ด้วย แต่สุดท้ายก็เลือกเรียนเพราะเป็นธรรมศาสตร์ (สมัยนั้นยึดถืออยู่ 2 สถาบันหลัก คือ จุฬาฯ และธรรมศาสตร์) และอีกอย่างที่เลือกเรียนที่นี่เพราะป้ายคัทเอ้าท์ต้อนรับนักศึกษาใหม่ใช้คำว่า “ยินดีต้อนรับเพื่อนใหม่” ต่างจากที่อื่น ที่ไปมาเพราะใช้คำว่า “ยินดีต้อนรับน้องใหม่” เลยรู้สึกว่าที่นี่น่าเรียนนะอย่างน้อยก็ไม่มีการใช้คำว่าน้อง เท่าเทียมกันดี และไม่มีระบบโซตัสซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ชอบมากๆ เลย

เมื่อได้เข้ามาเรียนในรั้วมหาลัยแล้ว ตอนนั้นนักศึกษายังเรียนที่ท่าพระจันทร์ตลอด 4 ปี มาเริ่มปี 2529 ที่นักศึกษาปี 1 ไปเรียนที่รังสิต 1 ปี แล้วกลับมาเรียนที่ท่าพระจันทร์ต่ออีก 3 ปี ตอนนั้นคณะสังคมวิทยาใช้ตึกร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ ที่พักของนักศึกษาใช้ทางหนีไฟของตึกสังคมสงเคราะห์ ที่นี่เป็นเหมือนที่บ้าน ที่เรียน ที่พักผ่อน และอีกหลายอย่าง พวกพี่ๆ รุ่นก่อนเรียกว่า “อาศรม” ซึ่งใช้คำที่เหมาะมากเลย

ตอนเรียนก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าจบไปทำอะไร ถามรุ่นพี่ รุ่นพี่ก็ตอบว่าทำได้หลายอาชีพ เลยยิ่งงงเข้าไปอีก ยิ่งเรียนก็ยิ่งสงสัยว่าเรียนไปทำไม แต่ตอนนั้นมีคำตอบในใจอีกอย่างคือ ตั้งใจว่าจบแล้วจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็เลยไม่ค่อยสนใจแล้วว่าเรียนไปทำไม

หลังจากที่จบปริญญาตรีที่คณะสังคมวิทยาฯ เพื่อนที่เรียนด้วยกันชวนไปสมัครสอบเรียนปริญญาโท สาขาผังเมือง ที่จุฬาฯ ตอนนั้นก็ไปเป็นเพื่อนสอบแต่บังเอิญสอบติดเลยคิดหนักว่าจะเรียนต่อที่ไหนดี เพราะใจหนึ่งอยากไปเรียนต่อด้านบริหารที่ต่างประเทศ อีกใจหนึ่งเรียนต่อจุฬาฯ และเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ด้วย ต้องยอมรับว่าตอนนั้นค่อนข้างยึดกับชื่อเสียงของสถาบันมากกว่าสาขาที่จะเรียน สุดท้ายก็เลือกเรียนที่ผังเมือง จุฬาฯ เพราะรุ่นพี่บอกว่าถ้าจบสาขาผังเมืองสามารถรับเข้าราชการได้เลย เนื่องจากเป็นสาขาวิชาขาดแคลน หลังจากที่จบจากผังเมืองตอนนั้นก็ได้ไปสมัครเข้าทำงานที่สภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) และย้ายมาทำงานที่กรมการผังเมือง (ปัจจุบันเป็นกรมโยธาธิการและผังเมือง) ตอนทำงานที่กรมการผังเมืองจะใช้ความรู้จากการเรียนผังเมืองในการทำงานเป็นหลัก ทำอยู่ได้ประมาณ 5 ปีก็ลาออกมาทำธุรกิจของตัวเองเนื่องจากย้ายจังหวัดบ่อย

มาปี 2548 เพื่อนที่จบผังเมืองได้ชวนมาทำงานโครงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติคลื่นสึนามิที่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือเรียกสั้นๆ ว่า อพท. ตอนมาทำงานครั้งแรกได้ทำงานเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยและมาตราการป้องกันพิบัติภัยคลื่นสึนามิที่เขาหลัก หลังจากนั้นเริ่มทำงานโครงการเกี่ยวกับงานเยาวชนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่เกาะช้าง และทำงานด้านเยาวชนเรื่อยมาตั้งแต่ 2550 – 2554

ในปี 2555 ได้มาดูแลงานการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นงานบุกเบิกของ อพท. การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นงานที่เกี่ยวกับการเพิ่มคุณค่าให้กับวัฒนธรรมของชุมชน สร้างความตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมให้ชุมชนและเยาวชนเห็นคุณค่าเพื่อให้มีความอยากที่จะเผยแพร่คุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรษ เช่น การทำสังคโลก จังหวัดสุโขทัย การทำผ้านวม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย หรือแม้กระทั่งวิถีชีวิต เช่น การทำต้นผึ้ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรรักษาให้สืบทอดส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อๆ กันไป ทั้งนี้ก็ด้วยการสร้างความตระหนักในคุณค่าให้พวกเขายังคงดำรงรักษาไว้

ที่เล่ามาทั้งหมดดูเหมือนเป็นการเล่าเรื่องส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ต้องเล่าเพราะจะได้เข้าใจภาพของการทำงานกับประโยชน์ของการเรียนสังคมวิทยาฯ ตั้งแต่มาทำงานที่ อพท. ขอบอกว่าการทำงานที่นี่ค่อนข้างราบรื่น อาจเป็นเพราะสังคมของการทำงานที่นี่ เมื่อก่อนมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 30-40 คน เท่านั้น เลยอยู่กันแบบพี่น้อง ซึ่งการเรียนสังคมวิทยาฯ จะสอนให้เราต้องเข้าใจว่าทำไมสังคมถึงเป็นอย่างนั้น ตรงนี้ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับที่ทำงานได้อย่างสบาย และก็สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ที่ทำงานได้อย่างสงบสุข เพราะสามารถคุยกับเพื่อนที่ทำงานได้ทุกคน แม้ว่าในที่ทำงานจะมีการแบ่งเป็นกลุ่มแต่ก็สามารถเข้าได้กับทุกกลุ่มเพราะว่าเราสามารถปรับตัวเข้าใจทุกคน ยอมรับเขาได้ทุกคน เพราะการทำงานของทุกคนย่อมมีเหตุผลของการทำงาน บางครั้งงานที่ต้องพึ่งพาเขาอาจไม่ได้ดังที่เราคิดหรือหวังไว้ แต่เราก็สามารถเข้าใจและยอมรับเขาได้เพราะสังคมวิทยาฯ สอนว่า “เราต้องเรียนรู้สังคมนั้นว่าทำไมเป็นอย่างนั้น อย่าไปคิดเอาเองว่าสังคมเป็นอย่างนั้นเพราะว่าเหตุนั้นเหตุนี้” และอีกอย่างก็คือ “หากเราอยากให้เขาทำกับเราอย่างไร เราก็ต้องทำอย่างนั้นกับเขา ไม่ชอบให้เขาทำอย่างไรกับเรา ก็อย่าทำอย่างนั้นกับเขา” ดังนั้นจึงไม่เคยคิดแทนเขาว่าทำไมเขาไม่ทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้ เลยทำให้ไม่มีการตั้งเงื่อนไขกับทุกคน ทำให้เราคบได้กับทุกคน ดังนั้นการทำงานของเราก็อยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นมิตรกับทุกคน รวมไปถึงกับการปรับตัวเข้ากับเจ้านายเราด้วยนะ

สำหรับการทำงาน การเรียนสังคมวิทยาฯ ได้มีส่วนช่วยในการทำงานประสบความสำเร็จและราบรื่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากการที่ได้ทำงานพัฒนาศักยภาพเยาวชน จำเป็นที่จะต้องเข้าใจในตัวเยาวชนว่าสังคมของพวกเขาเป็นอย่างไร คุยเรื่องอะไร ชอบอะไร สิ่งเหล่านี้เราจะต้องยอมรับว่าพวกเขาเป็นอย่างนี้ และต้องสามารถคุยแบบเป็นเพื่อน รวมทั้งสามารถช่วยพวกเขาแก้ปัญหาต่างๆ หากว่าเราไปตั้งเป้าหมายให้พวกเขาก่อนสิ่งที่ตามมาคือการต่อต้าน แต่การทำงานจะตั้งต้นด้วยความสุขของน้องๆ ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีการตั้งเป้ามากมาย ยกเว้นการช่วยกันตั้นกติกาการอยู่ร่วมกันเพื่อความสงบสุข นั่นคือการนำสังคมวิทยาฯ มาใช้คือการให้สังคมออกกติกากันเอง พวกเยาวชนก็จะอยู่ภายใต้กติกาที่เขาตั้งขึ้นมา และงานก็สามารถจบลงได้อย่างราบรื่นพร้อมกับความสุข ความสนุกสนาน รวมไปถึงความผูกพัน จนถึงทุกวันนี้ยังมีน้องๆ ที่เข้าค่ายมาคุยใน Facebook มากมาย คุยถึงเรื่องความสนุกสนานในการเข้าค่าย ปรึกษาปัญหาต่างๆ ของพวกเขา และเราก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา

ทุกวันนี้ อพท. มีการฝึกยุวชน อพท. 14 คน เพื่อการทำงานด้านเยาวชนของ อพท. ซึ่งกว่าจะฝึกพวกเขามาก็ผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งนี้เพราะวัยที่ต่างๆ กันอย่างมาก แต่คำตอบของความสำเร็จก็คือการจบสังคมวิทยาฯ นี่เอง

แม้ปัจจุบันจะมาดูแลงานด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นหลัก ก็ยังต้องนำความรู้จากสังคมวิทยาฯ มาใช้เนื่องจากเป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม ทำให้เราสามารถเข้าใจภาพของงานได้ชัดเจน และนำไปผสมผสานกับองค์ความรู้ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก็ทำให้เราได้แนวทางของการนำคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมเสนอผ่านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และตอนนี้ได้กลับมาร่วมงานกับคณะอาจารย์สังคมวิทยาฯ ยิ่งทำให้มีความรู้สึกเหมือนได้กลับมาร่วมครอบครัวเดิมที่ยังคงคิดเห็นและอบอุ่น ก็ยังดีใจที่ได้กลับมาเรียนรู้มุมมองและความคิดของสังคมวิทยาฯ เพิ่มเติม

วันนี้มีคำตอบแล้วว่าเรียนสังคมวิทยาฯ ไปทำไม ?

สังคมวิทยาฯ เป็นคัมภีร์ของการดำเนินชีวิตของเรา ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน การอยู่ในที่ทำงาน และการทำงานในพื้นที่ เพราะสังคมวิทยาฯ สอนให้เราเข้าใจสังคมว่าทำไมเป็นเช่นนั้น เกิดอะไรขึ้น ทำให้เราสามารถปรับตัวอยู่ได้อย่างสมดุล ประสบการณ์ที่เกิดกับตัวเองเป็นเครื่องบอกว่า การเรียนสังคมวิทยาฯ ช่วยให้ได้เปรียบ เพราะสามารถทำงานร่วมกับทุกคนได้ท่ามกลางความขัดแย้งของแต่ละกลุ่ม และสามารถทำงานได้ราบรื่นเพราะเราเข้าใจผู้ที่ร่วมงานกับเรา

ขอให้ทุกคนที่เรียนสังคมวิทยาฯ จงดีใจที่ได้เรียนคณะนี้ เพราะถึงแม้ว่าจะไม่เห็นเด่นชัดว่าจบแล้วไปทำงานอะไร แต่สิ่งที่เด่นชัดคือ จบแล้วทำงานอะไรก็สามารถทำได้อย่างราบรื่น เพราะสังคมวิทยาฯ คือศิลปะชั้นสูงของการดำเนินชีวิตในทุกด้าน