รายงานประจำปี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ปีการศึกษา 2559-2560




รูปเล่ม: ดุษฎีพร ชาติบุตร

สารจากคณบดี


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุสรณ์ อุณโณ
คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ปี พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2560 เป็นรอยต่อหรือช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญอีกช่วงของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยในเชิงบริหาร ผู้บริหารคณะชุดเก่าได้หมดวาระลงตามคณบดีในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 และได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารชุดใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ซึ่งแม้จะมีความสืบเนื่องในตัวคณบดี แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงในส่วนของรองคณบดีทั้งในแง่ตัวบุคคล จำนวน และบทบาทหน้าที่ โดยได้มีการควบรวมรองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาเข้ากับรองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการเนื่องจากลักษณะงานมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มงานด้านสื่อสารองค์กรให้กับรองคณบดีฝ่ายการนักศึกษาเนื่องจากเป็นงานสำคัญที่ยังไม่มีรองคณบดีฝ่ายใดรับผิดชอบดูแลเป็นการเฉพาะและงานด้านฝ่ายการนักศึกษาก็มีความคาบเกี่ยวกับงานด้านนี้ ส่วนรองคณบดีฝ่ายวางแผนและประกันคุณภาพก็ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นรองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพเพื่อให้สอดรับกับการปรับเปลี่ยนจากการประกันคุณภาพเป็นการพัฒนาคุณภาพภายใต้ระบบ EdPEx (Education Criteria for Performance Excellence) ในระดับคณะ รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของรองคณบดีด้านนี้ที่มาช่วยแบ่งเบางานด้านบริหารบุคคลของคณบดี เนื่องจากไม่มีรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะผู้บริหารชุดนี้จึงมีจำนวนลดลงพร้อมไปกับการที่แต่ละคนต่างมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความกระชับและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ แม้นโยบายและแนวทางการบริหารของผู้บริหารชุดนี้จะคล้ายคลึงกับชุดก่อนหน้า แต่ก็ได้มีการปรับขยายให้กว้างขวางขึ้นรวมทั้งมีการตอบสนองต่อโจทย์และความท้าทายใหม่ๆ โดยในด้านของการเป็นผู้นำทางวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะไม่เพียงแต่สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยและการเผยแพร่ผลงานวิชาการของคณาจารย์เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงจำนวนและประเภท หากแต่ยังได้รื้อฟื้นการประชุมวิชาการระดับชาติด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ขาดหายไปในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาและเดิมแยกขาดจากกัน โดยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาคณะในฐานะเจ้าภาพได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมการจัดประชุมวิชาการประจำปีด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาครั้งที่ 1 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ภายใต้หัวข้อ “เชื่อม ข้าม เผชิญหน้า ณ จุดตัด” เพื่อให้นักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยา นักวิชาการสาขาอื่น รวมถึงนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กัน

ส่วนในด้านการมีบทบาทสร้างสรรค์ในสังคมหรือสาธารณะ คณะได้ขยายงานด้านนี้ออกไปค่อนข้างมาก มีการขยายความร่วมมือกับสถาบันวิชาการ หน่วยงาน องค์กร กลุ่มต่างๆ ในการจัดเสวนาทางวิชาการและกิจกรรมอื่นๆ ที่เน้นการใช้ความรู้ความเข้าใจทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในการทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเสมอภาคและเป็นธรรมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คณะยังสนับสนุนโครงการวิจัยการจัดทำดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคมมาอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตจะได้พัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมบริการวิชาการภายใต้ ศูนย์สันติประชาธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการจัดตั้งขึ้น

ส่วนการเข้าสู่ความเป็นนานาชาติ นอกจากการจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาสอนทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาและดำเนินกิจกรรมทางวิชาการด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดหลักสูตรนานาชาติ คณะยังเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะรัฐศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม) มหาวิทยาลัยมหิดล (สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (คณะสังคมศาสตร์) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (คณะสังคมศาสตร์) ในการเป็นเจ้าภาพเตรียมจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ AAS-in-Asia 2019 หัวข้อ “Asia on the Rise/Right?” ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาคณะได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอาคารและสถานที่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ในส่วนของพื้นที่ด้านหลังอาคารศูนย์รังสิตที่ได้ปรับปรุงเป็น “ลาน 50 ปี” ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นทั้งสถานที่ทำงานและพักผ่อนหย่อนใจของนักศึกษาและเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมสันทนาการของคณะที่ผู้เข้าร่วมมีทั้งนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ และปัจจุบันคณะกำลังดำเนินการปรับปรุงอาคารศูนย์รังสิตชั้น 1, 2, 3 และ 5 เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมต่างๆ ได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คณะมีแผนที่จะปรับปรุงอาคารที่ท่าพระจันทร์ ทั้งในส่วนของโครงการบัณฑิตศึกษา โครงการปริญญาเอก และที่ทำการศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อให้สอดรับกับการใช้ประโยชน์และทำเลของอาคารมากขึ้น

ขณะเดียวกันงานด้านต่างๆ ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ด้านวิชาการมีการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรีภาคปกติ มีการปรับเปลี่ยนจากเน้นหนักด้านสังคมวิทยา ด้านมานุษยวิทยา และสมดุล เป็นเน้นหนักด้านสังคมวิทยา ด้านมานุษยวิทยา และด้านพิพิธภัณฑ์และการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ส่วนด้านฝ่ายการนักศึกษา คณะได้สนับสนุนนักศึกษาในด้านต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาและประสบการณ์ด้านวิชาการ ขณะที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 29 มีนาคม 2560 หลังจากปิดปรับปรุงจากการประสบอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 พร้อมกับมีการเปิดตัวนิทรรศการ 30 ปีพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ “คน สิ่งของ และการสะสม” และพร้อมกันนี้ที่ผ่านมาก็ได้มีผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ท่านใหม่มาสานงานต่อ เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีผู้อำนวยการท่านใหม่มาสานงานต่อ ซึ่งนอกจากจะจัดกิจกรรมบริการวิชาการ เช่น การเสวนา ก็จะให้ความสำคัญกับกลุ่ม (cluster) โครงการวิจัยที่อยู่ภายใต้ศูนย์ฯ ได้แก่ การเคลื่อนย้าย พรมแดนความสัมพันธ์ ดิจิทัล และดัชนีความเป็นธรรมทางสังคม

ช่วงสองปีที่ผ่านมาจึงเป็นอีกช่วงเวลาที่คณะได้รุดหน้าไปค่อนข้างมากและอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะมีอุปสรรคหรือความยากลำบากอยู่บ้าง แต่คณะก็สามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ ทั้งนี้ก็ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ศิษย์เก่า หรืออาจารย์เกษียณ ฉะนั้น ไม่ว่าความท้าทายข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมมีความเชื่อมั่นว่าคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจะยังคงเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคง