การจัดการมรดกวัฒนธรรม กรณีเขตเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา

apsara-and-cultural-heritage-management-in-cambodia

อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล

เผยแพร่ครั้งแรกที่ facebook วารสารดำรงวิชาการ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


ตามปกติเรามักคุ้นเคยกับการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม หรือทรัพยากรทางวัฒนธรรม โดยองค์กรเพียงองค์กรเดียว ในกรณีประเทศไทย คือกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม แม้ว่าจะมีองค์กรส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในปัจจุบัน แต่การขออนุญาตและการควบคุมก็ยังคงต้องผ่านกรมศิลปากร

ในกรณีของเขตเมืองพระนคร (อันประกอบไปด้วย นครวัด นครธม และกลุ่มโบราณสถานใกล้เคียงอีกจำนวนหนึ่ง) การจัดการเริ่มต้นมาตั้งแต่ 1991 หลังความวุ่นวายทางการเมืองสิ้นสุดลง (หลังจากกองทัพเขมรแดงหมดบทบาทและอำนาจลง รวมถึงมีข้อตกลงสันติภาพที่ปารีส) และนครวัดได้รับการประกาศเป็นแห่งมรดกโลก สถานการณ์ของกัมพูชาในขณะนั้นคือไม่สามารถดำเนินการอนุรักษ์หรือจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมได้ ด้วยขาดทั้งบุคลากร (นักโบราณคดีและนักวิชาการจำนวนมากเสียชีวิตในช่วงการปกครองของเขมรแดง ที่เหลืออยู่ก็มีจำนวนน้อยและเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างล้าหลังไปหลายสิบปี) รูปแบบการจัดการโบราณสถานจึงเป็นความร่วมมือระดับนานาชาติ มีประเทศเสนอตัวให้ความช่วยเหลือในด้านการศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนา มากกว่า 20 ประเทศ รัฐบาลกัมพูชาเองก็จัดตั้งองค์กรที่คอยดูและประสานงานกับทีมนานาชาติขึ้นมาชื่อ APSARA Authority มีขอบเขตในการดูแลในเขตเมืองพระนครและกลุ่มโบราณสถานใกล้เคียงอันเกี่ยวเนื่องกับเมืองพระนคร และแหล่งโบราณในเขตจังหวัดเสียมเรียบ

APSARA ทำงานแบบเดียวกับกรมศิลปากร แต่โครงสร้างแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ในกัมพูชามีกระทรวงวัฒนธรรมที่คอยดูแลเรื่องการศึกษา วิจัย และจัดการแหล่งโบราณคดี เช่นเดียวกับกรมศิลปากรของไทย แต่ APSARA ไม่ได้ขึ้นตรงกับกระทรวงวัฒนธรรม หากขึ้นตรงกับคณะรัฐมนตรี เงินในการบริหารจัดการทั้งการขุดค้น วิจัย อนุรักษ์ และจัดแสดงโบราณวัตุ มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมเข้าชมโบราณสถานและ พิพิธภัณฑ์ ที่อยู่ในความดูแลของ APSARA

ที่ซับซ้อนมากกว่านั้นคือ APSARA มีลักษณะการทำงานแบบรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ทำงานอย่างอิสระ เพราะรัฐบาลกัมพูชาไม่ได้มองว่าเมืองพระนครเป็นเพียงมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ หากยังได้รวมไปถึงความหมายในแง่ความเป็นทรัพย์สินของชาติ (national property) ดังนั้น การเข้ามาทำงานขุดค้นและวิจัยในเขตเมืองพระนครจึงต้องผ่านทั้งสำนักงานของ APSARA และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัทเอกชนที่ดูแลเรื่องการจัดเก็บค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ ในความดูแลของ APSARA นักวิชาการต่างชาติทุกคนที่ทำงานวิจัยใดๆ ก็ตามในเขตเมืองพระนคร หรือเสียมเรียบ ต้องได้รับเอกสารที่เรียกว่าบัตรผ่าน และต้องนำติดตัวไปทุกครั้งเพื่อแสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วซึ่งมีิอยู่แทบจะทุกโบราณสถาน แม้ว่าชาวต่างชาติเหล่านั้นจะเดินทางไปกับเจ้าหน้าที่หรือทีมงานของอัปสรา แต่ก็ไม่มีข้องดเว้น (อาจงดเว้นในกรณีที่เป็นคณะใหญ่ ที่ไม่ต้องแสดงบัตร แต่ในระดับรายบุคคลจำเป็นต้องมีเอกสารยืนยัน) เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะรายได้จากธรรมเนียมค่าเข้าชมโบราณสถานในเขตเสียมเรียบนี้มีจำนวนมหาศาลต่อปี ดังนั้นรัฐบาลจึงสร้างระบบเพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่น คือ บริษัทเอกชนจะมีหน้าที่จัดเก็บและนำส่งเงินให้รัฐ (ทั้งขายและตรวจสอบตั๋วเข้าชม) ซึ่งผู้ดูแลเงินคือกระทรวงการเงินและการลงทุน (Ministry of Finance and Invesment) เงินที่ได้นั้นจะกระจายไปหลายส่วนส่วนหนึ่งจะกลับมาสู่ APSARA

ในแง่ของการทำวิจัย รวมไปถึงการอนุรักษ์และบูรณะ (conservation and restoration) APSARA สามารถดำเนินงานวิจัยของตนเองได้ แต่เนื่องจากขาดแคลนองค์ความรู้และเทคโนโลยี เราจึงเห็นโครงการวิจัยอันเป็นความร่วมมือระหว่าง APSARA กับสถาบันจากต่างชาติ ทั้งในระดับรัฐบาล องค์กร และมหาวิทยาลัย ในทางปฏิบัติก็มีทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ของ APSARA มาเข้าร่วมในโครงการจริงๆ และบางโครงการก็มีเพียงทีมจากนานาชาติเพียงอย่างเดียว

การจัดการมรดกทาวัฒนธรรมเฉพาะในอำนาจความดูแลของ APSARA ยังมีรายละเอียดส่วนอื่นอีกมากมาย อาทิ การวางแผนเพื่อพัฒนาการจัดการและการท่องเที่ยว การกำหนดทิศทางการพัฒนาบูรณะ อนุรักษ์ให้กับทีมงานที่หลากหลาย รวมไปถึงข้อกำหนดในการประชุมเสนอความก้าวหน้าของแต่ละทีม ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ารูปแบบการบริหารจัดการหลายอย่างเป็นประโยชน์และสมควรที่ประเทศไทยน่าจะลองรับมาปรับใช้ เพื่อให้การจัดการมรดกวัฒนธรรมของไทย มีการกระจายอำนาจ รวมไปถึงตรวจสอบการทำงานเพื่อสร้างมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันได้


ขอขอบคุณ

โครงการวิจัย Greater Angkor และทีมงาน || Dr.Miriam Stark || Dr.Alison Carter || Piphal Heng || APSARA Authority