40 ปี Encoding/Decoding (1973)

hall 1973ภาพประกอบจากบทความ “Encoding and Decoding in the Television Discourse” โดย Staurt Hall ฉบับโรเนียว ที่เผยแพร่ใน ค.ศ.1973อ่านต้นฉบับของบทความนี้จากคลังเอกสาร CCCS (Centre for Contemporary Cultural Studies) ของมหาวิทยาลัย Birmingham ได้ ที่นี่

ยุกติ มุกดาวิจิตร


เพิ่งทราบว่ากรอบการศึกษาสัญญะแนวนี้ของ Stuart Hall มีอายุถึง 40 ปีแล้ว เหลือเชื่อที่งานนี้พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ก่อนงานสำคัญๆ ของ Raymond Williams อย่าง Marxism and Literature (1977) และแม้ในบทความที่ผมใช้ประกอบการเรียนการสอนจะเป็นบทความที่พิมพ์ซ้ำในปี 1980 ซึ่งระบุไว้ว่าตัดตอนมาจากบทความ “Encoding and Decoding in the Television Discourse” (1973) นั้น ก็ยังได้อ้างถึง Valentin Voloshinov ซึ่งเพิ่งพิมพ์หนังสือ Marxism and the Philosophy of Language (1973) ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษในปีเดียวกันนั้นเอง ที่ยิ่งน่าตกใจคือเมื่อนำบริบทของบทความนี้มาเทียบกับบริบทของมาร์กซิสม์ไทยในยุคเดียวกัน ในปัจจุบัน แทบไม่ต้องกล่าวว่ากรอบความคิดนี้มีอิทธิพลมากแค่ไหน ทั้งในแวดวงสื่อศึกษา มานุษยวิทยา และวัฒนธรรมศึกษา

แม้ตัดมาเฉพาะส่วนเดียวแค่ 10 หน้า ของบทความดั้งเดิม บทความนี้ก็อ่านสนุกมาก ยิ่งเมื่อต้องอธิบายให้คน 12 คนในห้องเรียนวิชา Research Methodologies in Social Sciences หลักสูตร ASEAN Studies ของวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ที่บางคนไม่รู้จักแม้กระทั่ง Karl Marx คือใคร Marxism คืออะไร ยิ่งสนุก ขอนำบันทึกจากการสัมมนาในห้องเรียนมานำเสนอสั้นๆ ดังนี้

ในห้องเรียนดังกล่าว ผมเริ่มแบบที่ฮอลล์เองเริ่ม คือว่าด้วยทฤษฎีพื้นฐานของการสื่อสาร ที่ว่ามีผู้ส่งสาร/สาร/ผู้รับสาร แต่แทนที่จะเอาตามที่ฮอลล์ยกมา ผมให้นักศึกษาที่เคยเรียนด้านการสื่อสารมาอธิบายทฤษฎีง่ายๆ นี้ก่อน ขึ้นกระดานไว้เลย มีคนหนึ่งมาเขียนว่า Sender (or source)-Message-Channel-Receiver เขาบอกว่า ระหว่างทางจะมี noises คอยรบกวน

ผมตั้งคำถามจากตรงนี้ว่า noises เกิดจากอะไร นักศึกษาตอบไปตอบมาก็ไปไม่พ้นอคติบ้าง ประสบการณ์ในอดีตบ้าง การตัดสินคุณค่าส่วนตัวบ้าง การคิดคำนวนผลได้ผลเสียบ้าง ผมถามต่อว่า แล้วสิ่งเหล่านั้นมาจากไหน มีอยู่ในตัวเราก่อนหรือมีมาก่อนเราเกิด หรือมีสัดส่วนแค่ไหนที่มีมาก่อนเราเกิด มีอยู่นอกตัวเรา จนในที่สุด ผมนำทั้งห้องไปสู่ข้อสรุปที่โยงไปยังบทเรียนในสัปดาห์ก่อนหน้าคือ social facts ของเดอร์ไคม์ (Durkheim) กับ meanings ของเวเบอร์ (Weber) หรือ webs of significance ของเกียร์ตซ์ (Geertz)

ดังนั้น ผมสรุปโยงกลับไปที่ model SMCR ว่า R ที่ว่านั้น ไม่ใช่ของใครแต่ละคนที่ทำให้เกิดการบิดเบือนของสาร แต่เกิดจาก R หลายๆ อัน แต่มากกว่านั้นคือ R หลายๆ อันที่ว่านั้น ที่จริงคือตัวสังคมหรือพูดแบบพวกทฤษฎีการตีความ สารที่ผู้รับได้รับ ไม่ได้ส่งตรงมาจากผู้ส่งสารแบบตรงไปตรงมา แต่ถูกอ่านผ่านชุดความหมายของผู้รับสารด้วย

คำถามสำคัญคือ ชุดความหมายของผู้รับกับผู้ส่งเหมือนกันหรือไม่ เป็นเพียง social facts หรือ shared public meanings หรือไม่ มีคำถามจากนักศึกษาว่า ที่ฮอลล์บอกในบทความว่า สารที่ส่งมานั้น ที่จริงผู้รับสารไม่ได้เพียงรับแต่ยังอาจผลิตสารขึ้นมาเองด้วย เขาสงสัยว่า ผู้รับฟังสารจะกลายเป็นผู้ผลิตสารในกระบวนการของการรับสารได้อย่างไร

แค่นี้ก็ปาเข้าไปชั่วโมงกว่าแล้ว… หลังพักครึ่งเวลาเรียน พวกเรากลับมาว่ากันต่อว่า…

ผมยกประเด็นเรื่อง icon ที่ฮอลล์กล่าวถึงในบทความมาอธิบาย “ไอคอน” คือสัญญะแบบหนึ่งที่ตัวหมายและความหมายถูกทำให้ติดแนบแน่นกันจนกระทั่งเราหลงนึกไปว่าความหมายของสัญญะนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย มันดูเป็นธรรมชาติ มันเป็นอย่างนั้นจนเราแทบไม่สำนึกถึงมัน ไม่เคยมีใครตั้งคำถามมัน

ผมยกตัวอย่าง โดยผมผลัก “เก้าอี้” มีล้อเลื่อนในห้องเรียนออกมา บอกว่า เราไม่เคยสงสัยใช่ไหมว่านี่จะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไรถ้าไม่ใช่ “เก้าอี้” แล้วถามต่อไปถึง icon อื่นๆ ว่า เราเคยสงสัยไหมว่าสิ่งนี้ไม่เป็นสิ่งนี้ก็ได้ สิ่งนั้นไม่เป็นสิ่งนั้นก็ได้ สิ่งที่เรารู้จักส่วนใหญ่มีฐานะเป็นไอคอน คำถามต่อไปคือ แล้วไอคอนมาจากไหน ไอคอนคืออะไร เชื่อมโยงกับสังคมอย่างไร

คราวนี้ผมอธิบายมาร์กซอย่างง่าย ให้นักศึกษาที่เคยเรียนช่วยอธิบาย แล้วโยงกลับมาที่ model การสื่อสารข้างต้นว่า หากผู้ส่งสารเช่นคนทำโฆษณา ต้องการขายของให้ประสบความสำเร็จ เขาต้องค้นหา “สาร” ที่อยู่ในใจของลูกค้า แล้วผลิตสินค้าตามนั้น หากว่ากันตามนี้ ไม่ใช่ว่าผู้ผลิตสารจะสร้างสารขึ้นมา แต่เขาสร้างจากสารที่ผู้รับสารเองรู้เข้าใจอยู่แล้ว

แต่ในกรณีของ icon สารที่ “รู้อยู่แล้ว” ถูกกำหนดมาจากสังคม เป็นสารที่ถูกทำให้เข้าใจไปเองว่า สารแบบนี้เป็นผลมาจากการสร้าง dominant ideology คือสารที่มีอำนาจ คือสารที่ผู้มีอำนาจสร้างขึ้น คือสารที่ครอบงำ คือสารที่คนมีอำนาจใช้กำกับคนด้อยอำนาจ

นักศึกษาถามว่า เหมือนเครื่องแบบใช่ไหม แน่นอน ผมตอบว่าใช่ อีกคนถามว่า แล้วคนด้อยอำนาจไม่สามารถตอบโต้ได้เลยหรือ คำตอบคือ “ได้” แต่ไม่ง่าย การท้าทาย icon ไม่ง่าย เพราะ เช่นเจ้าเก้าอี้ เราจะเข้าใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราแล้วโดยไม่ทันคิดก็สรุปไปทันทีว่าเป็นเก้าอี้ จะให้ไม่ใช่ ให้เข้าใจควมหมายอื่นของเก้าอี้ได้อย่างไร มันไม่ง่าย แต่ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้

พอดีในห้องมีนักศึกษาจากเกาหลี ผมถามเขาว่ารู้จัก Y fiction ไหม เขาบอกไม่รู้จัก ผมเล่าว่า ในเมืองไทยตอนนี้ วัยรุ่นมีกระแสนิยมอ่านและเขียนวรรณกรรมวาย โดยเอานักดนตรีชายเกาหลีที่ไม่ได้เป็นเกย์ มา “จิ้น” หรือจินตนาการว่าเขาเป็นคู่รักกัน “มีอะไร” กัน แล้วนักเขียนต้องเป็นผู้หญิงด้วย นักเรียนเกาหลีงงเลย ผมอธิบายว่า ประเด็นคือ K-Pop ที่พวกผู้ใหญ่กลัวกันว่าครอบงำมีอิทธิพลต่อเด็กไทย เวลานี้ถูกเด็กไทยสร้างจินตนาการใหม่เสียจนชาวเกาหลีเองยังงงไปเลย

มีตัวอย่างน่าสนใจจากนักศึกษาเองอีกมากมาย ยิ่งสัมมนากันไป ยิ่งเหมือนพวกเขาจะเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ากลไกการทำงานของการสื่อสารมันไม่ตรงไปตรงมา การครอบงำของสารจึงไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ความบิดเบี้ยวของการสื่อสารนั้น ไม่ใช่เป็นผลจากการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ หากแต่เกิดจากกระบวนการต่อสู้ในการนิยามควาหมาย ต่อสู้ในการสร้างความหมาย ต่อสู้ในการสถาปนาความหมายด้วย
มีคำถามต่อเนื่องมาอีกมากมาย จนในที่สุดก็หมดเวลา 3 ชั่วโมง พวกเราไปไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตสารและกระบวนการผลิตสารที่ฮอล์วางเค้าโครงไว้ แต่มาได้แค่นี้ก็นับว่าไกลมากแล้วสำหรับห้องเรียนนี้ นับเป็นวาระครบรอบ 40 ปีของกรอบแนวคิดนี้ที่บันเทิงมากทีเดียว