ภาพเหมือน (นักมานุษยวิทยา) คนขาว

NMAI Basso

ลิขสิทธิ์ภาพ: Department of Anthropology, University of New Mexico.

ยุกติ มุกดาวิจิตร


สองเดือนที่ผ่านมานี้มีความสูญเสียใหญ่ๆ ในวงการมานุษยวิทยา สองครั้ง หนึ่งคือ เมื่อเดือนกรกฎาคม วงการมานุษยวิทยาอเมริกันต้องสูญเสีย George W. Stocking, Jr. นักประวัติศาสตร์มานุษยวิทยา ผู้ซึ่งเปิดเผยให้เห็นรายละเอีดของพัฒนาการความรู้ทางมานุษยวิทยาสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 อย่างละเอียดลออ อีกครั้งหนึ่งคือล่าสุดเมื่อ 4 สิงหาคม 2556 คือการเสียชีวิตของ Keith Basso นักมานุษยวิทยาภาษาคนสำคัญ

ผมอ่านงาน คีธ แบสโซ ตั้งแต่เรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หนังสือที่ถูกใช้เป็นหนังสือแนะนำความรู้ทางมานุษยวิทยา ซึ่งนักเรียนมานุษยวิทยาอเมริกันมักอ่านกันตั้งแต่ปีแรกๆ ของการเรียนระดับปริญญาตรี ก็คือ Portraits of the Whiteman: Linguistic play and cultural symbols among the Western Apache (1979) หนังสือเล่มสั้นๆ นี้มีความมหัศจรรย์หลายๆ ประการ

หนึ่ง ชี้ให้เห็นชีวิตของชาวอเมริกันอินเดียน ผ่านการใช้ภาษาล้อเลียนคนขาว ถือได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านการกดขี่ทางภาษา ด้วยการพลิกเอาภาษาของผู้กดขี่ทางสังคมและวัฒนธรรม กลับมาต่อต้านผู้กดขี่เอง คนอปาชี่ใช้ภาษาอังกฤษล้อคนอเมริกัน

สอง วิธีการศึกษามานุษยวิทยาภาษาแบบใหม่ในสมัยนั้น และยังใหม่มาจนทุกวันนี้ ด้วยการศึกษาภาษาในบริบทของการใช้ภาษา ไม่ใช่แยกภาษาออกมาจากบริบทของการใช้ นี่เป็นแนวทางที่ต่อต้านคนละขั้วกับวิธีการแบบโซซู (ที่สานต่อมาในมานุษยวิทยาโดยเลวี-สโตรทส์ หรือที่เรามักรู้จักจากบาร์ตในนามสัญวิทยา) ซึ่งแยกภาษาในระดับของโครงสร้างกฎเกณฑ์ของภาษา ออกจากภาษาในระดับของการใช้

ที่จริงแบสโซทำได้น่าทึ่งมาก ด้วยการวิเคราะห์ประโยคเพียงสิบกว่าประโยค ในการพิสูจน์ให้เห็นความยอกย้อนของวิธีการเล่นตลกล้อเลียนของชาวอปาชี่ แล้วเชื่อมโยงไปยังการวิเคราะห์สังคม ว่าการล้อเลียนนั้น “อันตราย” ในแง่ที่ว่า เพราะการล้อเลียนเป็นการท้าทายอำนาจ และการล้อเลียนเป็นการพลิกบทบาทคนให้ต่ำลง หากเล่นไม่ถูกโอกาส หากเล่นไม่ถูกคน ก็อาจจะไม่ตลกและกลายเป็นภัยต่อผู้เล่นได้

สาม นี่นับเป็นมรดกของการศึกษามานุษยวิทยาอเมริกัน ที่เน้นการศึกษาภาษาและคติชาวบ้าน มรดกนี้ตกทอดมาจาก Franz Boas มายังมานุษยวิทยาอเมริกัน ที่มักเน้นการศึกษาภาษา และนับภาษาศาสตร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทางมานุษยวิทยา และอันที่จริง มานุษยวิทยาภาษาก็กลายเป็นส่วนนหนึ่งของภาษาศาสตร์กระแสหลัก ทั้งในฐานะที่ส่งอิทธิพลทางตรง และอิทธิพลจากการศึกษา ethnolinguistics และ ethnography of speaking

ปัจจุบันนักภาษาศาสตร์หลายสำนักยอมรับแนวคิดใหม่ๆ อย่าง linguistic ideologies เข้าไปในแวดวงภาษาศาสตร์ ยอมตีพิมพ์งานแนวนี้ในวารสารทางภาษาศาสตร์ (แต่ในประเทศไทย นอกจากวิชา “มานุษยวิทยาภาษา” ที่ผมสอนแล้ว ไม่รู้ว่าจะมีใครสอนวิชานี้อีก)

อันที่จริงแบสโซทำงานด้านนี้มาตลอด จนกระทั่งผลงานที่ทำให้เขามีชื่อเสียงมากอีกชิ้นคือ Wisdom Sits in Places: Landscape and language among the Western Apache (1996) ที่ได้รางวัลมากมาย หนังสือเล่มเล็กๆ อีกเล่มนี้ เก็บนิทาน ตำนาน ที่เกี่ยวกับสถานที่ของชาวอปาชี่ แล้วชี้ให้เห็นว่า ชาวอปาชี่เล่าตำนานเหล่านี้ ใช้บางส่วนของตำนานเหล่านี้ ในชีวิตประจำวัน ในขณะที่คนเดินผ่านสถานที่เหล่านั้น เพื่อสั่งสอนศีลธรรมให้คนในสังคม

ยังมีบทความขนาดสั้นอีกหลายชิ้นของแบสโซที่ผมใช้เสมอ เช่น ชิ้นที่ว่าด้วยชาติพันธ์ุนิพนธ์ของการเขียน ชิ้นที่ว่าด้วยระบบคิดเบื้องหลังชุดคำเรียกชิ้นส่วนรถยนต์ด้วยคำเรียกอวัยวะ หรืออีกชิ้นที่ว่าด้วยการเมืองของความเงียบ ทุกชิ้นล้วนเป็นการวิเคราะห์วัฒนธรรมจากภาษาของชาวอปาชี่

นักมานุษยวิทยาภาษาและนักคติชนวิทยาในโลกนี้มีมากมาย แต่ที่จะเขียนงานที่น่าอ่าน ละมุนละม่อม ลึกซึ้ง ขนาดพอดิบพอดีอย่าง คีธ แบสโซ นั้น หาได้ยากเต็มที