เคาะกะลาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสยาม










ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร
มอบของที่ระลึกในงานเลี้ยงรับรอง
ผู้เข้าร่วมการสัมมนาเครือข่ายนักศึกษา
ระดับบัณฑิตศึกษา
สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาครั้งที่ 11
ณ โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ภาพ: ญานิกา อักษรนำ

ยุกติ มุกดาวิจิตร*

ต่อแนวคิดของผู้จัดงานนี้ที่ว่า “สังคมนอกกะลา เดินหน้าหรือถอยหลัง” ผมเห็นว่าเป็นแนวคิดเชิงวิพากษ์ ผู้จัดเหมือนไม่ได้ประสงค์จะให้มองการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาว่าเป็นการศึกษาเพื่อเพียงเข้าใจสังคม หรือทำอย่างไรจึงจะธำรงสังคมให้อยู่นิ่งไว้ เพราะวิสัยของการศึกษาสังคมเพื่อให้รู้ว่าอะไรคือกะลา การอยู่ในกะลาเป็นอย่างไร ย่อมบอกอยู่แล้วว่า หากเราอยู่ในกะลา ก็จะไม่เข้าใจโลกนอกกะลาอีกมากมาย ในที่นี้ผมจะพูดถึงกะลาที่การศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเราอาจจะยังไม่ได้ออกไปข้างนอกนี้เท่าไรนัก ผมจะพูดถึงกะลาสองชั้นด้วยกัน ชั้นหนึ่งเป็นกะลาของสาขาเราเอง ชั้นที่สองคือกะลาที่กว้างใหญ่กว่า

ไหว้ครู

วิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาถือว่าเป็นวิชาของการเคาะกระโหลกกะลาอย่างแท้จริง บรรพบุรุษที่สังคมวิทยามีร่วมกับมานุษยวิทยาคือมาร์กซ เวเบอร์ เดอร์ไคม์ ล้วนเสนอวิธีการเคาะกะลาแบบต่างๆ มาร์กซ์บอกว่าศาสนาเป็นยาฝิ่นของมวลชน สินค้าคือลัทธิงมงายของสังคมทุนนิยม เวเบอร์บอกว่ามนุษย์อยู่ในข่ายใยของความหมายที่ตนถักทอขึ้นมา มนุษย์สมัยใหม่อยู่ในกรงขังของเหตุผล เดอร์ไคม์บอกว่าสังคมอยู่นอกและเหนือมนุษย์และมีโครงสร้่างการจัดระบบที่ครอบงำการคิดและการปฏิบัติการของมนุษย์ เหล่านี้คือกรอบของการศึกษากะลาแบบต่างๆ

ในยุคถัดมา ฟูโกต์บอกว่าอำนาจทำงานอย่างแยบยลจนแทบจะแยกการครอบงำออกจากการตัดสินใจอย่างเป็นเอกเทศของมนุษย์ไม่ออก บูดิเออร์บอกว่าเราไม่สามารถมีความเห็นกับอะไรได้ง่ายๆจนกว่าเราจะตระหนักได้ว่าอุปนิสัยที่ห่อหุ้มเราอยู่เป็นเพียงสิ่งสร้างทางวัฒนธรรม หาใช่สิ่งที่เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ แต่กระนั้น ก็ฟูโกต์เองมิใช่หรือที่บอกว่า ที่ใดมีอำนาจที่นั่นมีการต่อต้าน บูดิเออร์เองนั่นแหละที่บอกว่าเมื่อเกิดภาวะวิกฤตในสังคม สิ่งที่เข้าใจกันว่าเป็นจริงเป็นธรรมชาติจะเริ่มถูกตั้งข้อสงสัย เกิดความเห็นที่หลายหลายมาสงสัยต่อความเห็นที่คร่ำครึ

ก็มาร์กซ เวเบอร์ และเดอร์ไคม์เองนั่นแหละที่เปิดทางให้เกิดการวิพากษ์สังคม ถ้าคนที่เสพศาสนาจะยังอยู่ในโลกศาสนา ใครกันจะลุกมาบอกว่าศาสนาคือยาฝิ่น ถ้ามนุษย์เชื่อมั่นในเหตุผลขนาดที่เคยเป็นกัน ใครกันจะบอกว่ามนุษย์สมัยใหม่อยู่ในกรงขังของเหตุผล ถ้าเดอร์ไคม์ยังเชื่อในโทเทม เขาจะเข้าใจกลไกการทำงานของระบบสัญลักษณ์นี้ได้อย่างไร

ในยุคร่วมสมัยเดียวกับฟูโกต์และบูดิเออร์ เราจึงมีคนอย่างวิลเลียมส์ที่บอกว่าวัฒนธรรมเป็นกระบวนการสัญลักษณ์ที่เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆตามกระบวนการทางสังคมและเศรษฐกิจ หรือคนอย่างเดอร์ แซคโทที่บอกว่ามนุษย์สร้างสรรค์ ฉกฉวย พยายามหลบเลี่ยง จากการครอบงำอย่างไปเป็นระบบตลอดเวลา หรือคนอย่างบัทเลอร์ ที่บอกว่าปัจเจกที่ถูกระบบสร้างขึ้นมานั่นเองที่จะเป็นตัวเป็นตนและกลับสร้างหรือปรับแต่งระบบได้บ้าง

กะลาของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสยาม

ทั้งหมดนั่นเพื่อจะไหว้ครูให้เห็นว่า การเคาะกะลาเป็นงานของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจะทำอะไรถ้าไม่เคาะกะลา หากสังคมวิทยามานุษยวิทยาจะไม่ชี้ให้เห็นการอยู่ในกะลาของคนในสังคม ศาสตร์นี้ก็คงไม่มีความหมาย ไม่สมควรมีอยู่ต่อไป แต่นักเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเองจะรู้ตัวหรือไม่ว่า ตนเองมีกะลาอะไรอยู่

ผมจะลองเคาะกะลาของนักเรียนจากการอ่านหัวข้อที่นักศึกษาเสนอมาในการสัมมนาเครือข่ายครั้งนี้ และในแง่หนึ่งก็สะท้อนกะลาของครูบาอาจารย์และการศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยในปัจจุบันด้วย ไม่มากก็น้อย นั่นหมายถึงตัวผมเองด้วย เพราะส่วนหนึ่งนักศึกษาย่อมเป็นผลผลิตจากการปะทะสนทนากับผู้สอน

ที่จะพูดต่อไปนี้ขอบอกไว้ก่อนว่าเป็นการติเรือทั้งโกลน โดยพิจารณาจากชื่อบทความของนักศึกษาที่มาประชุมครั้งนี้ ข้อสรุปเบื้องต้นคือ ผมเห็นว่า ข้อเสนอของทุกคนได้ช่วยเคาะกะลาให้สังคมไทย เปิดเผยให้เห็นข้อที่เป็นกะลาใหญ่ที่ครอบสังคมไทยอยู่หลายประการด้วยกัน โดยสรุปแล้วขอแบ่งเป็นสามกลุ่มด้วยกัน ขอกล่าวไว้ก่อนว่า เท่าที่ดูจากหัวข้อ กล่าวได้ว่างาน 3 กลุ่มนี้มักปะปนหรือคร่อมกันไปมา ไม่จำเป็นต้องแยกขาดจากกันชัดเจน

กลุ่มแรก ว่าด้วยการเปิดกะลาของคติความเชื่อหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น งานกลุ่มนี้จัดได้ว่าเป็นประมาณ ไม่ถึง 20% ของงานทั้งหมด งานกลุ่มนี้ศึกษาระบบความหมาย ที่มักผูกโยงกับศาสนา ภูมิปัญญา ระบบความเชื่อ หรือศึกษาผ่านวรรณกรรม บางคนเน้นระบบความหมายของท้องถิ่น บางคนเน้นชาติพันธ์ุ บางคนเน้นท้องถิ่นบางแห่ง บางคนเน้นบางศาสนา นี่คือการเปิดเผยให้เห็น “กะลา” ลักษณะหนึ่งของสังคม

แต่ที่น่าสังเกตคือ บางหัวข้อซึี่งมีจำนวนมากเหมือนกันที่ชวนให้คิดว่า ระบบความหมายเหล่านี้ไม่เปลี่ยนแปลง หยุดนิ่ง หรือไม่อย่างนั้นก็ไม่มีความขัดแย้งแตกต่างในท้องถิ่นหรือชาติพันธ์ุที่คงระบบความหมายเหล่านี้อยู่ คำถามของผมคือ หากเราเดินตามผู้จัด ที่สนใจสังคมนอกกะลา ก็น่าขอตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาแนวนี้อาจสร้างความเข้าใจต่อสังคมไทยหรือบางหน่วยย่อยของสังคมไทยว่ามีความชัดเจน เป็นสารตายตัว แน่นิ่ง ไม่มีความแตกต่าง ไม่มีความขัดแย้ง ในแง่นี้ื แทนที่สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจะชี้ให้สังคมได้เห็นกะลา เพื่อก้าวออกนอกกะลา ก็อาจจะกลายเป็นการเสริมสร้างกะลาให้แข็งแกร่งขึ้นก็เป็นได้

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ว่าด้วยการครอบงำ งานกลุ่มนี้กล่าวถึงระบบความหมายคล้ายกับกลุ่มแรก แต่เปิดเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบความหมาย ระบบความหมายจึงไม่ได้เป็นระบบที่มีอยู่แล้วและใครๆในสังคมก็ยอมรับราวกับว่ามาร่วมกันใช้ความหมายนี้ แต่ความหมายเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจเหนือคนอื่น ครอบงำผู้ด้อยอำนาจ คำสำคัญๆของงานของกลุ่มนี้ได้แก่ อุดมการณ์ วาทกรรม ระบบคิด มักศึกษาผ่าน การศึกษา ระบบทุนนิยม การทำให้กลายเป็นสินค้า รัฐชาติ อัตลักษณ์ไทย

การศึกษาแนวนี้เป็นการศึกษาเชิงวิพากษ์ เข้าใกล้กับการศึกษาเพื่อเปิดเคาะกะลาหรือแม้แต่เปิดกะลาครอบมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องถามและติดตามต่อไปว่า การศึกษาระบบความหมายที่ครอบงำของผลงานในกลุ่มนี้ ได้เชื่อมโยงให้เห็นหรือไม่ว่า เพราะเหตุใดระบบความหมายที่ครอบงำแบบนั้นจึงเกิดขึ้นมา หรือถูกสร้างขึ้นมา ความเป็นมาที่จะช่วยให้เข้าใจการก่อตัวและดำรงสืบเนื่องของระบบความหมายท่ีครอบงำเหล่านั้นเป็นอย่างไร โครงสร้างอำนาจแบบใดกันที่สร้างและค้ำจุนการครอบงำของความหมายเหล่านั้นอยู่

กลุ่มที่สาม เน้นแสดงให้เห็นการต่อสู้กับการครอบงำของระบบความหมาย งานกลุ่มนี้นับเป็นปฏิกิริยาต่องานกลุ่มแรก งานกลุ่มนี้เน้นพลังสร้างสรรค์ พลังท้าทายการครอบงำแสดงออกในอัตลักษณ์กลุ่ม การต่อต้าน การต่อรอง ผ่านการศึกษากลุ่มต่างๆ ตั้งแต่กลุ่มชาติพันธ์ุ กลุ่มเพศที่หลากหลาย กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ชาวนาชาวไร่ ชาวบ้านในท้องถิ่น เป็นต้น

อย่างไรก็ดี บางทีต้องระวังว่า หนึ่ง การศึกษาความขัดแย้งแตกต่างของระบบความหมายได้ศึกษาถึงระบบสังคมที่เกี่ยวข้องด้วยหรือเปล่า คล้ายๆกับกลุ่มที่สอง คือบางครั้งเราสนใจแต่ระบบความหมายแต่ไม่ได้สนใจระบบสังคม ข้อเตือนใจที่สองคือ การต่อต้านความหมาย ต่อรองความหมาย สร้างระบบความหมายใหม่ เป็นการสร้างกะลาอย่างใหม่หรือเปล่า บางทีเราให้ความหวังหรือโรแมนติคกับพลังของการต่อต้าน ต่อรอง สร้างใหม่ มากเกินไปหรือเปล่า เรามองข้ามความแข็งแกร่งของการครอบงำจนหลงไหลไปกับพลังต่อต้านมากไปหรือเปล่า สาม ต้องระวังด้วยว่า เราคิดแทนและพูดแทนผู้คนด้อยโอกาสมากไปหรือเปล่า แน่นอนว่าบางครั้งคำถามแบบนักวิชาการสาย “คนด้อยโอกาสศึกษา” (subaltern studies) อย่างสปีแวคจะตั้งคำถามสำคัญว่า คนด้อยโอกาสจะพูดได้ด้วยตนเองจริงหรือ แต่คำถามอีกชั้นคือ แล้วการพูดแทนเขาจะทำได้แค่ไหน จะทำอย่างไร

ดูเหมือนว่าการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเราจะมีพัฒนาการที่สอดคล้อง สืบเนื่องกับแนวคิดในการกะเทาะกะลาของโลกวิชาการทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสากลพอสมควร แต่ก็ยังมีคำถามอีกว่า การกะเทาะกะลาเหล่านี้เท่าทันกะลาสำคัญๆของสังคมไทยในปัจจุบันหรือยัง

กะลาที่ใหญ่กว่านั้น

กะลาที่ใหญ่กว่านั้นเป็นกะลาที่มองไม่เห็นง่ายๆ แต่กำหนดท่าทีและจุดยืนของงานวิจัย ท่าทีและจุดยืนของงานวิจัยอยู่ลึกกว่า สางสาวออกมาได้ยากกว่ากะลาของระเบียบวิธีวิจัย กะลาเหล่านี้แฝงฝังอยู่ในการวิจัยทางสังรมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยไม่มากก็น้อย บางคนถามคำถามเหล่านี้ บางคนปะทะด้วย บางคนรับเอาจุดยืนทีท่าเหล่านี้เข้ามาอย่างไม่ตั้งคำถาม

หลายปีมานี้ผมอึดอัดกับสามสี่กะลาในสังคมไทยปัจจุบัน ที่แสดงออกในวาทกรรมเหล่านี้

– “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” กะลานี้ไม่รู้จักสังคมพหุนิยม ไม่อ่อนไหวกับพหุลักษณ์ทางสังคม
– “นักการเมืองไม่มีคุณธรรม” กะลานี้ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นตน
– “เรารักในหลวง (อย่างไม่มีเหตุผล)” กะลานี้รักสถาบันกษัตริย์อย่่างไม่มีเหตุผลจนอาจใช้ความรุนแรง
– “ผลประโยชน์ของประเทศชาติ” กะลานี้อยากรู้จักเฉพาะคนไทยสังคมไทยวัฒนธรรมไทย เป็นชาตินิยมเชิงระเบียบวิธี

สังคมที่ประณามการ “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” เป็นสังคมเอกนิยม ลดทอนภาวะความเป็นพหุนิยมของสังคมที่เหล้ามีความหมายมากกว่าการทำให้คนเมามาย ผมเข้าใจว่าการกินเหล้าแล้วก่ออาชญากรรม เช่น ขับรถเกิดอุบัติเหตุ หาเเรื่องทะเลาะวิวาท เป็นสิ่งเลวร้าย ต้องทั้งป้องปรามและประณาม เข้าใจดีว่าเหล้าเป็นอุตสาหกรรมที่คนมือถือสากปากถือศีล บ้างมีหุ้นอยู่ บ้างเป็นประธานบริษัท บ้างให้่เช่าสัญลักษณ์ หากินกับการมอมเมาเยาวชนและสังคม

แต่หากเราเลยเถิดไปถึงกับการบอกว่า การให้เหล้าเท่ากับเป็นการแช่ง นับว่าเป็นการทำให้ความหมายทางสังคมอย่างหนึ่งกลายเป็นคำหยาบคาย เหมือนอยู่ๆเราบอกว่า คำว่า “สวัสดี” เป็นคำหยาบ การที่คำว่า “กู” เป็นคำหยาบ ไม่ใช่เพราะมันหยาบ แต่เพราะคนกลุ่มหนึ่งในสังคมบอกว่ามันหยาบ การกินหมากกลายเป็นพฤติกรรมที่ล้าหลังด้วยการรณรค์ของจอมพลป.ฉันใด การกินเหล้าก็กลายเป็นพฤติกรรมที่หยาบช้าล้าหลังด้วยการประณามของสสส.ฉันนั้น สังคมที่แปลงขนบธรรมเนียมของสังคมหนึ่ง ให้กลายเป็นของหยาบช้าป่าเถื่อน เป็นสังคมที่กำลังสร้างกะลาครอบตนเอง เป็นสังคมที่หลงตนเอง หรือในภาษามานุษยวิทยาคือ ethnocentrism เป็นสังคมที่คนชนชั้นหนึ่งสร้างอำนาจทางวัฒนธรรมเหนือสังคมอื่น การรณรงค์ให้กินเหล้าอย่างพอประมาณ อย่างไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น มีได้ตั้งมากมายหลายวิธี แต่ต้องไม่ใช่วิธีทำให้ตนเองมีศีลธรรมขึ้นมาบนการดูแคลนทางวัฒธรรมแบบนี้

ยิ่งกว่านั้น การรณรงค์แบบนี้ยังผลักภาระการจัดการทางสังคมไปให้ประชากรของรัฐ โดยให้ผู้คนดูแลตนเอง รัฐไม่ต้องปรับปรุงเครื่องมือของตนเองให้มีประสิทธิ์ภาพมากขึ้น ผมไม่จำเป็นต้องขยายประเด็นนี้ในที่นี้ แค่ต้องการทิ้งข้อสังเกตไว้

สสส.คงไม่รู้กระโหลกกะลาของตนเอง จึงยังภูมิใจกับการหากินกับภาษีจากการประณามผู้เลี้ยงดูตนด้วยวิธีนี้อยู่ต่อไป หากสสส.ไม่สามารถประณามคนที่มีผลประโยชน์กับบริษัทสุราและอัลกอฮอล์ประเภทต่างๆได้ ไม่กล้าวิจารณ์องค์กรที่ให้เช่าสัญลักษณ์ทำมาหากินกับการมอมเมาเยาวชนได้ ผมก็คิดว่าสสส.ไม่ควรหากินอยู่ในกะลาของกับการรณรงค์ประณามการบริโภคเหล้าอย่างง่ายๆแบบที่ผ่านมาอีกต่อไป

ผมยกตัวอย่่างเล็กๆนี้ขึ้นมาเพียงเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า สังคมในกะลาไม่ค่อยสงสัยอะไร แต่ถ้าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจะไม่สงสัยอะไรเช่นกัน ก็ไม่รู้จะเรียนกันไปทำไม การศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสยามบางทีได้ร่วมตอกย้ำความคิดเอกนิยมทางวัฒนธรรม ไม่ได้ตระหนักต่อภาวะพหุวัฒนธรรมดีพอ

ส่วนกะลา “นักการเมืองไม่มีคุณธรรม” เกิดขึ้นมาเมื่อสักยี่สิบปีที่ผ่านมา สำหรับคนที่โตมาหลัง พฤษภา 2535 กะลานี้จะหนามาก แต่ก็ใสละเอียดจนแทบจะมองไม่เห็น เพราะไม่เข้าใจว่าการเมืองของการต่อสู้กับเผด็จการทหารเป็นอย่่างไร ไม่เข้าใจว่าก่อนหน้านี้สังคมไทยต่อสู้เพื่อให้ได้ระบอบรัฐสภามาอย่างเอาเป็นเอาตายอย่างไร

แต่สำหรับคนที่โตมาก่อน พฤษภา 2535 แล้วพูดวาทกรรมนี้ จะเป็นคนกลุ่มที่ไม่เชื่อในระบบการเลือกตั้ง เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมสามวินาที เพราะพวกเขาไม่สามารถเอาชนะเสียงส่วนใหญ่ได้ ลึกไปกว่านั้นคือการไม่เชื่อมั่นในระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง ลึกกว่านั้นคือไม่เชื่อถือหรือกระทั่งดูถูกคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เทเสียงเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งเข้ามาในสภา ดูถูกว่าพวกเขาโง่ จน เจ็บ ไม่ถูกซื้อด้วยเงินซื้อเสียง ก็ด้วยเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่น หรือไม่ก็นโยบายประชานิยม ลึกยิ่งไปกว่านั้นคือการที่คนกลุ่มหลังนี้พยายามรักษาผลประโยชน์ของตน ไม่ยอมรับการเติบโตขึ้นมาของคนที่เดิมมีฐานอยู่กับการเกษตรและเป็นคนยากจน ซึ่งเติบโตขึ้นมากในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา และเรียกร้องผลประโยชน์ของตนเองผ่านระบบการเลือกตั้ง

มีเอ็นจีโอส์จำนวนมากที่ใช้วาทกรรมนี้ สำหรับเอ็นจีโอส์กลุ่มนี้ ชาวบ้านจึงไม่น่ารักอีกต่อไป เพราะชาวบ้านเขาไม่เชื่อฟังคนดีๆแบบเก่าอีกต่อไป เพราะเขามีช่องทางใหม่ในการต่อสู้ เพราะเขามีชนชั้นนำฝ่ายทุนเป็นที่พึ่ง เอ็นจีโอส์กลุ่มนี้จึงไปจับมือกับชนชั้นนำและทุนฝ่ายอนุรักษ์เพื่อต่อสู้กับอำนาจของทุนใหม่และชาวบ้าน วาทกรรมคุณธรรมทางการเมืองจึงเป็นการเมืองที่ไม่มีคุณธรรมพอๆกับการเมืองแบบการเลือกตั้ง แต่มันยิ่งเลวร้ายกว่า เพราะมันดูถูกชาวบ้านที่รู้ว่าอำนาจของพวกเขาอยู่ที่การเลือกตั้ง

นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสยามจำนวนมากไม่สนใจปัญหานี้ หรือมีข้อสรุปอยู่ก่อนแล้วว่าสังคมไทยเป็นสังคมอย่างไร มีข้อสรุปเอนเอียงไปในทางไม่เชื่อถือระบบการเลือกตั้งอยู่แล้ว จึงทำให้กำหนดแนวโน้มเอียงของความเข้าใจสังคมไทย ชนบทไทย สังคมท้องถิ่น และการเมืองไทยที่ตอกย้ำทัศนะในกะลาอยู่

กะลา “เรารักในหลวง” มีอยู่ตลอด และใช้ได้ผลหลายต่อหลายครั้งเมื่อมีการทำลายล้างทางการเมือง เมื่อใช้เป็นข้ออ้างในการล้มระบบรัฐสภา เมื่อทำลายคนที่มีความเห็นต่าง ผมขอไม่พูดเรื่องนี้ยืดยาว เพราะขณะนี้เราพูดกันมากแล้วเรื่องปัญหาของ ปอ.มาตรา 112 และกรณีทำร้านอาจารย์ที่นิติธรรมศาสตร์

บางคนบอกว่า ถ้าไม่ทำผิดจะโดนไหม ถ้าผมบอกว่าโดนล่ะ ปัญหาคือเมื่อโดนแล้ว ไม่มีทางต่อสู้คดีได้อย่างเป็นธรรม เพราะไม่ได้รับการประกันตัว และยังถูกมองว่าผิดก่อนแล้ว (ศาลบอกว่า แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ชัดว่าจำเลยเป็นคนกระทำผิด แต่คนทำผิดย่อมปกปิดความผิด แบบนี้คือหลักอะไรกันแน่)

บางคนถาม ไปทำเรื่องอื่นดีกว่าไหม ถ้าไปดูว่าใครลงชื่อบ้าง เช่น อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธ์ุ ขออนุญาตเอ่ยนามครับ อาจารย์ยศ อาจารย์ผาสุก อาจารย์นิธิ ท่านจะพบว่าคนเหล่านี้ต่อสู้มาแล้วแทบทุกเรื่อง แต่ทำไม่ไมมีใครรู้ไม่มีใครสนใจ เพราะเรื่องอื่นๆไม่สำคัญหรือ สำคัญ แต่เพราะมันคงไม่กระทบคนมากและรุนแรงเท่ากันเรื่องนี้ แม้ไม่/ด้มีคนถูกคดีเป็นหมื่นเป็นแสน แต่มันกระทบสิทธิเสรีภาพของคนจนคนเริ่มรู้สึกขึ้นมา อาการตาสว่างไม่ใช่สำนวนที่แกนนำนปช.สักแต่พูดไป ถ้าใครไม่ได้ทำวิจัยด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพที่รัดกุมพอ จะไม่ได้ยินเสียงชาวบ้านที่ตาสว่าง ชาวบ้านตาสว่างเพราะเขาเริ่มรู้สึกถึงกาที่ครอบพวกเขามานานวัน ส่วนคนที่ยังไม่ตาสว่างอาจมีสองประเภท หนึ่งคือพวกรู้ประวัติศาสตร์ไทยเท่าคำพูดของผบทบ. สองคือพวกที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำ

กะลา “รักในหลวง (อย่างไม่มีเหตุผล)” หลายครั้งจำกัดการทำงานทางวิชาการ ทำให้คำถามบางคำถามไม่สามารถตั้งได้ คำถามทางวิชาการที่พาดพิงข้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ถูกปิดกั้น ไม่ให้เกิดการถกเถียง ไม่ให้มีการทำวิจัย ไม่ให้เผยแพร่ กะลานี้ปิดกั้นความเป็นจริงทางสังคมแบบดิบๆ ถามไม่ได้แม้แต่เพื่อจะเข้าใจสังคมแบบเดอร์ไคม์ มีสังคมแบบเดียวที่ถามคำถามเหล่านี้ไม่ได้ คือสังคมก่อนมีการศึกษาทางสังีมวิทยาและมานุษยวิทยา สังคมก่อนที่เดอร์ไคม์ และนักจิตวิทยาอย่างฟรอยด์จะศึกษาโทเทม

กะลาสุดท้ายที่ผมอยากพูดคือกะลา “ผลประโยชน์ของประเทศชาติ” เป็นกะลาใหญ่หนึ่งที่ครอบสังคมวิชาการไทย เราไม่เคยมองออกไปข้างนอก หรือหากออกไปข้างนอก เราต้องการรู้แค่สามอย่างคือ หนึ่ง ถ้าเขาไม่ใช่เรา เราจะได้อะไรจากเขา สอง ถ้าไม่ใช่เขา เขาจะเป็นคู่แข่งเราหรือไม่ สาม มีใครที่เหมือนหรือเป็นรากเหง้าเราอยู่ที่ไหน แต่เราไม่เคยอยากรู้จักอยากเข้าใจเพื่อนบ้านอย่างที่เขาเป็น เรายังไม่อยากรู้จักทุกข์สุขของเขา มากเท่ากับอยากใช้เขาตอบโจทย์ผลประโยชน์ของประเทศชาติเรา

ผมไม่มีเวลามาก แต่ขอกล่าวสั้นๆว่า เรายังคิดหรือพยายามจะคิดแบบอาณานิคมกับเพื่อนบ้าน แวดวงวิชาการไทยที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในต่างประเทศยังถามโจทย์ว่า “งานวิจัยนี้จะให้ประโยชน์อะไรกับประเทศไทย” เรายังไม่ได้ถามว่า เราจะแลกเปลี่ยนอะไรกับเขา เพื่อนบ้านจะได้อะไรจากการที่เราไปวิจัยเขา เพื่อนบ้านจะร่วมกับเราทำวิจัยอะไรจึงจะได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ทั้งเราจะให้อะไรกับภูมิภาค คนด้อยโอกาสในอาเซียนจะได้จะเสียอะไรในการเกิดประชาคมอาเซียน

นอกจากนั้น กะลา “ผลประโยชน์ของประเทศชาติ” ทำให้เรายังไม่รู้จักตนเอง ผมไม่ได้ให้เราสร้างตัวตนของตนเองขึ้นมาใหม่ แต่เราต้องรู้จักตนเองด้วย เรารู้จักประวัติศาสตร์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในยุโรปและในอเมริกา รู้หมดว่านักคิดใครต่อใครเป็นใคร ความคิดชุดไหนเป็นอย่างไร เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมทางสังคมและประวัติศาสตร์อย่างไร แต่เราไม่รู้ว่าตอนนี้้รามีนักสังคมวิทยาในประเทศกี่คน นักมานุษยวิทยาในประเทศกี่คน เราใช้แนวคิดทฤษฎีอะไรบ้าง มันตอบโจทย์สังคมไทยอย่างไร ทำไมเราจึงใช้แนวคิดแบบนั้น มีเหตุผลทางสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์อะไรที่แนวคิดบางอย่างถูกใช้ในบางช่วงมเรื่องราวบางเรื่องที่นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาสยามสนใจ เราดัดแปลงแนวคิดจากต่่งประเทศมาใช้อย่างไร แล้วเราจะสามารถสร้างอะไรให้แวดวงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาโลกได้บ้าง

โดยสรุปของทั้งหมดที่กล่าวมา ผมคิดว่าการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาก็คือการศึกษาเพื่อค้นหากะลาของสังคม อย่างไรก็ดี เราก็ต้องเข้าใจกะลาของเราเองด้วย ผมพูดถึงกะลาใหญ่ๆสองชุด คือกะลาของแนวคิดทฤษฎี และกะลาของสังคมวิชาการไทยที่อยู่ในกะลาใหญ่ของสังคมไทย หวังว่าจะมีส่วนเคาะกะลาไม่เพียงนักศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้บ้าง ถึงที่สุดแล้วมการรู้จัก ค้นพบกะลาของตนเองคือการเข้าใจขีดจำกัดของตนเอง ถึงที่สุดแล้ว นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาจะต้องมีความถ่อมตน รู้ว่าเรายังไม่รู้อะไร เมื่อถามถึงกะลาของสังคม ก็ต้องถามด้วยว่าตนเองมีกะลาอะไรบ้าง

*นำเสนอในการสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาครั้งที่ 11 ปีการศึกษา 2554 วันที่ 3 มีนาคม 2555 จัดโดย สาขาพัฒนามนุษย์และสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ณ โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา