เกี่ยวกับเรา | about us

สังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยมีความซับซ้อนและยอกย้อนในตัว เพราะขณะที่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมส่งผลให้โลกมีขนาดเล็กลงและเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ทว่าในเวลาเดียวกันก็เป็นแรงผลักดันให้เกิดสำนึกและการแสดงออกซึ่งความเป็นท้องถิ่นที่แตกต่างหลากหลาย เกิดการบรรจบกันระหว่างกระแสโลกกับลักษณะท้องถิ่นกระจายอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ในรูปของเสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย งานศิลปะ หรือการแสดง ในทำนองเดียวกัน การเคลื่อนย้ายไหลเวียนของผู้คน ข้อมูล ข่าวสาร เงินตรา สินค้า บริการ ระบบคุณค่า ความเชื่อ วิถีชีวิต ฯลฯ จำนวนมหาศาลในเวลารวดเร็ว ส่งผลให้เขตแดนระหว่างประเทศปรุพรุนและเลื่อนไหลและอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนมีความหมายลดลง ทว่าขณะเดียวกันก็ส่งผลให้รัฐปรับเปลี่ยนสถานะและบทบาทพร้อมกับพัฒนาวิธีการปกครองและควบคุมพลเมืองที่แยบยลยิ่งขึ้น เกิดพื้นที่พิเศษที่อำนาจอธิปไตยของรัฐปฏิบัติการในลักษณะที่ยืดหยุ่นและแยกย่อย นอกจากนี้ ขณะที่รัฐรวมทั้งเอกชนรุกคืบและครอบงำทรัพยากรท้องถิ่นเพิ่มขึ้น แต่ก็ก่อให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เสนอระบบการจัดการทรัพยากรที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะความมั่นคงของรัฐหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หากแต่หมายรวมถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศ ความเป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และความรู้ท้องถิ่น ที่ต่อมาทั้งรัฐและเอกชนได้ผนวกเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาประเทศและการดำเนินธุรกิจอย่างแยบยล จนกระทั่งส่งผลให้ไม่สามารถประเมินความสำเร็จของการเคลื่อนไหวอย่างง่ายได้ ขณะที่เส้นแบ่งระหว่างรัฐกับสังคมมีความพร่าเลือนและเลื่อนไหลยิ่งขึ้น

ความซับซ้อน พร่าเลือน และเลื่อนไหลของสภาวะหรือปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยดังกล่าวท้าทายวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอย่างสำคัญ เพราะญาณวิทยาเชิงจารีตของวิชาทั้งสองพิจารณาสภาวะหรือปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมในฐานะหน่วยที่มีขอบเขตชัดเจนหยุดนิ่งรวมทั้งมักจัดวางหน่วยเหล่านี้ตรงข้ามกัน เช่น “รัฐ” กับ “สังคม” และ “เมือง” กับ “ชนบท” เป็นต้น จึงส่งผลให้ไม่สามารถทำความเข้าใจและอธิบายพลวัตและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหน่วยเหล่านี้ในลักษณะข้างต้นได้ วิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหน่วยในการศึกษา แนวคิดทฤษฎี วิธีวิทยา ตลอดจนหัวข้อในการศึกษาอย่างสำคัญ นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวไปมาของผู้คนระหว่างรัฐ เอกชน และสังคมไม่เพียงแต่ส่งผลให้วิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาต้องพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยทั้งสามใหม่ หากแต่ต้องจัดวางท่าทีในการประสานความร่วมมือกับ “ชุมชน” หรือ “ประชาสังคม” ที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง “รัฐ” และ “ทุน” ให้เท่าทันกับสภาวะหรือว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ด้วย

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีพันธกรณีต่อการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมโดยตรง โดยนอกจากการจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษาครอบคลุมประเด็นปัญหาดังกล่าว คณะฯ ได้สนับสนุนให้นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาได้ทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการพัฒนาความรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและในระดับปรากฏการณ์ควบคู่ไปด้วย คณะฯ จึงเห็นควรให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัย” (Center for Contemporary Social and Cultural Studies, CCSCS) ขึ้นเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัย เผยแพร่ และสนับสนุนกิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรมในลักษณะต่างๆ ทั้งแก่คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา รวมทั้งบุคคลและหน่วยงานภายนอก

วัตถุประสงค์

1) เพื่อศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ

2) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยแก่อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

3) เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ

4) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมและวัฒนธรรม

CCSCS research
โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
international collaboration
ความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ
workshops
สัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านวิธีวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
media
สื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย