กรุงเทพฯ เมืองฟ้า

วัน-เวลา

  • พุธ 19 กันยายน 2561
  • 9.30-15.30 น.

สถานที่

  • ห้องประชุมริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์
    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ใบปิด: ทิฆัมพร สิงโตมาศ

สัมมนาวิชาการประจำปี ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย พ.ศ. 2561


สืบเนื่องจากศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยมีภารกิจในการผลิตงานวิจัยและบริการวิชาการในประเด็นร่วมสมัย และเกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้น และในปีงบประมาณ 2562 ศูนย์ฯ มีแผนงานวิจัยที่จะมุ่งประเด็นวิจัยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เมืองในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกจากจะมีความใกล้ชิดในเชิงภูมิศาสตร์กับที่ตั้งของศูนย์ฯ แล้ว การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ ยังมีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตทางสังคมของผู้คน ไม่ใช่แต่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เอง แต่ยังรวมถึงในต่างจังหวัด และในภูมิภาคด้วย ประกอบกับการศึกษาเมือง พื้นที่ ในสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และกระแสในช่วงหลังอย่างการศึกษาโครงสร้างพื้นฐาน และการเคลื่อนย้าย ยังถือเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญในทางสังคมศาสตร์ในปัจจุบัน

หลังการเปลี่ยนคริสต์ศตวรรษ กรุงเทพมหานครเองมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายประการ ทั้งที่สืบเนื่องจากการเป็นเมืองโตเดี่ยวในประเทศพัฒนาระดับกลาง และที่สืบเนื่องจากการถูกผนวกเข้าไปอยู่ในเครือข่ายเมืองในระดับโลก ที่ทำให้กรุงเทพฯ มีที่ทางและอัตลักษณ์เฉพาะ การเปลี่ยนแปลงจากการเป็นเมืองโตเดี่ยวมีผลกระทบโดยตรงต่อความหนาแน่นของประชากร ที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจร การขยายตัวของเมืองเป็นอภินครที่มีชานเมืองกว้างไกลเป็นวงแหวนหลายสิบกิโลเมตร และปัญหามลพิษจากรถยนต์และผู้คน ความพยายามแก้ปัญหานี้โดยการพัฒนาขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้ายังผลให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองตามมาอย่างมากมาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของย่าน ปัญหาพื้นที่สาธารณะ ความเท่าเทียมทางสังคม อันเกิดจากการกระจายผลประโยชน์จากการโครงการนี้ที่อาจไม่เท่าเทียมนัก เพราะดูเหมือนว่า กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาค่อนข้างชัดเจน ในขณะที่ไม่ชัดเจนนักว่าผู้อยู่อาศัยในแต่ละย่าน ทั้งผู้ที่ต้องย้ายออก ผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่แทน และผู้ที่อยู่กับที่แต่วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไปจะได้รับผลกระทบอย่างไร

ในอีกด้านหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ มาจากการถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเมืองในระดับโลก ซึ่งในด้านหนึ่งทำให้เมืองใหญ่ๆ ในยุคนี้ต้องกลายเป็นผู้กระทำ (agency) สำคัญเพื่อจะปักหมุดสถานะของตัวเองในเวทีโลก ส่วนหนึ่งเพื่อจะดึงดูดทุน นักท่องเที่ยว แรงงานมีฝีมือ ชนชั้นทำงานสร้างสรรค์ ผ่านการสร้างเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของเมือง สร้างความเป็นเมืองน่าอยู่ สร้างสถาปัตยกรรมที่ดึงดูด กรุงเทพฯ เองมีการเคลื่อนไหวในด้านนี้อยู่พอสมควร แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนนักว่าเมืองนี้มีวิสัยทัศน์ทางสังคมวัฒนธรรมอย่างไร และวิสัยทัศน์เหล่านี้มาจากตัวแสดงใด เช่น กรุงเทพมหานคร รัฐ ชุมชน นักเคลื่อนไหว หรือผู้อยู่อาศัย

ทั้งหมดนี้คือที่มาของการจัดงานสัมมนาประจำปีเรื่อง “กรุงเทพฯ เมืองฟ้า” ที่มุ่งจะทำความเข้าใจเบื้องต้นต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ โดยมุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนจากนักวิชาการจากหลากสาขา โดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง และมุ่งประสานการเปลี่ยนแปลงนี้เข้ากับความเข้าใจในเชิงทฤษฎี เพื่อจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนางานวิจัยต่อไป


กำหนดการ

  • 9.30 | ลงทะเบียน
  • 10.00-10.15 | กล่าวต้อนรับและเปิดงาน
    • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
      คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • 10.15-11.15 | บรรยาย "Meta-theoretical Reflections on Researching the City"
  • 11.15-12.45 | เสวนาวิชาการ #1

    • การเปลี่ยนแปลงของย่านกลางเมืองและชานเมือง กรณีศึกษาจากงานวิจัย “สวนทุเรียนนนท์”: การขยายตัวของเมือง “ทำลาย หรือเกื้อหนุน”?
      ผศ.ดร.ทรงชัย ทองปาน
      คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • มองการเปลี่ยนแปลงของย่านในกรุงเทพมหานครผ่านแนวคิด "Gentrification": กรณีศึกษาสามย่าน เกาะรัตนโกสินทร์ และริมแม่น้ำเจ้าพระยา
      อาจารย์ ดร. กีรติ ชื่นพิทยาธร
      คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • ร่วมอภิปราย-แลกเปลี่ยนโดย
      • ผศ.ดร.ประเสริฐ แรงกล้า
        คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • 13.30-15.30 | เสวนาวิชาการ #2: เสวนาโต๊ะกลม: อนาคตกรุงเทพฯ จากหลากมุมมอง
    • ผศ.ดร.อภิรดี เกษมศุข
      คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
    • ผศ.ดร.เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์
      คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • คุณฐาปนา บุณยประวิตร
      นายกสมาคมการผังเมืองไทย
    • ชวนเสวนาและดำเนินรายการโดย
      • อาจารย์ศิริพร ศรีสินธุ์อุไร
        คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
CCSCS research

โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย

international network
ความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ
workshops
สัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านวิธีวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
media

สื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย