นัยทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัย 2554

หัวหน้าชุดโครงการวิจัยและนักวิจัย

อาจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ

นักวิจัย
อาจารย์จุฬารัต ผดุงชีวิต

ผู้ช่วยนักวิจัย

  • กฤษฎา แก้วเกลี้ยง
  • อัครนัย ขวัญอยู่
  • นันทา กันตรี
  • นิรมล ยุวนบุณย์
  • รพีพรรณ เจริญวงศ์

ชุดโครงการวิจัยนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้นำเสนอผลงานวิจัย ในกิจกรรมสรวลเสวนาสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันพุธที่ 12 พฤศจิกายน 2557

บทนำ

อนุสรณ์​ อุณโณ


โครงการวิจัย “นัยทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัย 2554” เกิดขึ้นจากความตระหนักว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติจำพวกน้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว ฯลฯ จะเป็น “ภัยพิบัติ” หรือไม่เพียงใดไม่ได้ขึ้นกับขนาดหรือความรุนแรงของปรากฏการณ์ธรรมชาติเพียงประการเดียว หากแต่ยังขึ้นกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของแต่ละพื้นที่อย่างสำคัญ ดังกรณี “มหาอุทกภัย 2554” ในประเทศไทย แม้คนสถานะทางเศรษฐกิจดีจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่คนยากจนได้รับผลกระทบในจำนวนมากและรุนแรงกว่า อีกทั้งยังมีช่องทางหรือทางเลือกในการรับมือกับปัญหาจำกัดกว่า ในทำนองเดียวกันแม้โรงงานอุตสาหกรรมจะถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายจำนวนมาก แต่เรือกสวนไร่นาถูกน้ำท่วมเสียหายในบริเวณกว้างกว่า ขณะที่แม้กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมบ้าง แต่ปริมณฑลและพื้นที่รอบนอกถูกน้ำท่วมมากกว่าและนานกว่า เพราะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำให้กับกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางระบบเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้น มหาอุทกภัยครั้งนี้จึงไม่ได้สะท้อนความเป็นธรรมของ “Mother Nature” ในการลงโทษมนุษย์ที่โอหังเหมือนดังโวหารที่แพร่กระจายในสื่อ เท่าๆ กับเผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจที่มนุษย์ด้วยกันได้ก่อขึ้นมา

ขณะเดียวกันผู้ประสบอุทกภัยมักถูกวาดภาพผ่านสื่อในฐานะ “เหยื่อ” ที่รอคอยความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มอาสาสมัคร สื่อมวลชน ฯลฯ อย่างสิ้นหวัง หรือบางครั้งก็ถูกนำเสนอผ่านสื่อในฐานะผู้ดื้อด้าน ไร้เหตุผล และเห็นแก่ตัว ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อเร้าอารมณ์ผู้ชม เพื่อเชิดชูบทบาทของผู้ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ หรือว่าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ทว่าในความเป็นจริงผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ไม่ได้ “งอมืองอเท้า” หรือปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม หากแต่ได้พยายามรับมือและปรับตัวต่ออุทกภัยภายใต้เงื่อนไข ความเป็นไปได้ และข้อจำกัดที่แวดล้อมพวกเขาอยู่ และหลายกรณีพวกเขาได้ริเริ่มสร้างสรรค์หรือสร้าง “นวัตกรรมทางสังคม” ที่สามารถนำไปปรับใช้หรือเป็นแนวทางให้กับพื้นที่อื่นในกรณีที่ประสบเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันได้

นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน “ชนบท” ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้ “เมือง” กับ“ชนบท” ไม่สามารถแยกจากกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะนอกจากวิถีชีวิตและแบบแผนการบริโภคที่คล้ายคลึงกับ “เมือง” มากขึ้นทุกขณะ “ชนบท” หลายแห่งไม่ได้มีการเกษตรเป็นกิจกรรมการผลิตหลักหรือเพียงประการเดียวอีกต่อไป หากแต่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจในครัวเรือน รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมาก ในทำนองเดียวกันนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากไม่ได้มีเฉพาะโรงงาน หากแต่ยังประกอบด้วยที่พักอาศัย “ชุมชน” และย่านธุรกิจการค้า หรือมีสภาพเป็น “เมือง” ขนาดย่อมที่ประกอบด้วยผู้คนที่มีอาชีพและวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย การแก้ปัญหาอุทกภัยจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงและความสลับซับซ้อนของหน่วยทางสังคมและเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เป็นเบื้องต้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าว โครงการวิจัย “นัยทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัย 2554” จึงมุ่งศึกษาว่า

  1. มหาอุทกภัย 2554 เกิดขึ้นในพื้นที่ศึกษาอย่างไร สัมพันธ์กับลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่หรือไม่อย่างไร และอุทกภัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้อยู่ในพื้นที่ศึกษาอย่างไร
  2. ผู้ประสบภัยในพื้นที่ศึกษารับมือและปรับตัวต่อมหาอุทกภัย 2554 อย่างไร การรับมือและการปรับตัวดังกล่าวสัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขาหรือไม่อย่างไร พวกเขารับรู้ เข้าใจ และอธิบายมหาอุทกภัย 2554 อย่างไร รวมทั้งได้ปรับใช้หรือว่าสร้างกลไกทางสังคมและวัฒนธรรมใหม่ในการรับมือกับมหาอุทกภัยดังกล่าวหรือไม่อย่างไร
  3. นโยบายและมาตรการแก้ปัญหามหาอุทกภัย 2554 ของหน่วยงานรัฐทั้งระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เป็นเช่นไร ประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร มีการเข้ามาให้ความช่วยเหลือของกลุ่มอาสาสมัคร ภาคธุรกิจเอกชน และสื่อมวลชนหรือไม่อย่างไร สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาได้หรือไม่เพียงใด และผู้ประสบภัยมีทัศนะต่อหน่วยงานรัฐรวมทั้งสื่อ ภาคธุรกิจเอกชน และกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้อย่างไร

โครงการวิจัยดำเนินการใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย 1) หมู่ 6 และหมู่ 9 ต.ผักไห่ จ .หนองน้ำใหญ่ อ .พระนครศรีอยุธยา 2) บางพื้นที่ใน ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล และ ต.ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และ 3) ชุมชนบ้านและที่ดินราคาถูก (บ.ด.ถ.) และชุมชนไทยธานี ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อาศัยการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณควบคู่กัน โดยการวิจัยเชิงคุณภาพดำเนินการโดยนักวิจัยประจำโครงการย่อยในแต่ละพื้นที่ เน้นการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตการณ์เพื่อทำความเข้าใจและอธิบายความจำเพาะเจาะจงของพื้นที่ ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณอาศัยแบบสอบถามเพื่อแสดงภาพรวมและแนวโน้มใหญ่ รวมทั้งเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับโครงการย่อยในบางประเด็น

ต.หนองน้ำใหญ่ เป็น “ชุมชนชนบท” ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ริมคลองลาดชะโดและอยู่ในทุ่งลาดชะโดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งผักไห่ คนในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะทำนามาแต่อดีต อย่างไรก็ดี การขยายตัวของตลาดส่งออกข้าวประกอบกับโครงการชลประทานในพื้นที่โดยรอบได้ส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่จำนวนมากปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนาจากนาฟางลอยปีละ 1 ครั้งเป็นนาปรังปีละ 2 ครั้ง ขณะที่การเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งใน จ.อยุธยา ประกอบกับความสะดวกในการคมนาคมส่งผลให้คนในพื้นที่โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวหันไปทำงานโรงงานกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ความสะดวกในการคมนาคมส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพค้าเร่ที่มีมาแต่เดิมมีจำนวนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับในส่วนของข้าราชการและพนักงานบริษัทเอกชนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่นับรวมในส่วนของร้านค้าและธุรกิจส่วนตัวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้พาณิชยกรรมเป็นองค์ประกอบสำ คัญของระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตใน ต.หนองน้ำใหญ่ อีกประการ นอกเหนือจากการเกษตรเชิงพาณิชย์และการทำงานโรงงานที่อยู่ในลำดับต้นและรองลงมาตามลำดับ

อย่างไรก็ดี การเกษตรเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะการทำนาปรังไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียวเพราะ ต.หนองน้ำใหญ่ ไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน หากแต่อยู่ตรงบริเวณรอยต่อหรือว่าชายขอบของโครงการชลประทาน 3 โครงการ หากปีใดแล้งจัด การทำนาปรังครั้งที่ 2 มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพราะต้องรอให้มีน้ำเหลือใช้จากนาต้นน้ำในเขตชลประทาน (ขณะเดียวกันชาวนาปรังก็มีปัญหากับชาวนาฟางลอยในพื้นที่เพราะมีความต้องการใช้น้ำต่างเวลากัน) และในทางกลับกัน หากปริมาณน้ำมีมากเพราะฝนตกหนักหรือเป็นช่วงน้ำหลาก น้ำก็จะถูกระบายมายังทุ่งลาดชะโดแม้ข้าวจะยังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวก็ตาม ประการสำคัญทุ่งลาดชะโดถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำนองของโครงการแก้มลิงบางบาลเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองและนิคมอุตสาหกรรมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือ กรุงเทพฯ ฉะนั้น พื้นที่แห่งนี้จึงประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในฤดูน้ำหลากสลับกับปัญหาภัยแล้งในฤดูแล้งอยู่เป็นประจำ

พื้นที่ศึกษาทั้ง 3 หมู่บ้านคือ หมู่ 8 ต.คลองโยง และ หมู่ 2 กับหมู่ 5 ต.ลานตากฟ้า เป็น “ชุมชนชานเมือง” ที่มีระบบการผลิต การปลูกสร้างบ้านเรือน และวิถีชีวิตที่แตกต่างอยู่ร่วมกัน แต่ก็มีอาณาเขตติดกันโดยมีคลองโยงกั้นขวาง เป็นส่วนหนึ่งของทุ่งพระพิมลราชา (หนึ่งในกลุ่มทุ่งฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีทุ่งผักไห่รวมอยู่ด้วย) ประชากรในตำบลทั้งสองจึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนามาแต่อดีต อย่างไรก็ดีการขยายตัวของเมืองก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในรวมทั้งความแตกต่างระหว่างพื้นที่ทั้งสามหมู่บ้าน

เพราะเหตุที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มและอยู่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมลซึ่งมีน้ำเพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี ชาวนาในพื้นที่จึงได้หันมาทำนาปรังกันทุกครัวเรือน ขณะเดียวกันชาวนาเหล่านี้มักทำการเกษตรประเภทอื่นควบคู่ไปด้วย ได้แก่ พืชผัก ไม้ผล นาบัว กล้วยไม้ ไม้ดอก และประมง

พื้นที่หมู่ 8 ต.คลองโยง จึงเป็นพื้นที่การเกษตรเชิงพาณิชย์เข้มข้นและมีการว่าจ้างแรงงานในภาคเกษตรค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันเพราะเหตุที่อยู่ไม่ไกลจากย่านอุตสาหกรรมรวมทั้งการเผชิญกับข้อจำกัดขนาดการถือครองที่ดินในบริเวณที่เป็นโฉนดชุมชน ชาวคลองโยงโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งนิยมทำงานโรงงาน ขณะที่บางส่วนรับราชการและเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ครัวเรือนจึงมักประกอบด้วยสมาชิกที่มีอาชีพหลากหลายหรือสมาชิกบางรายประกอบอาชีพหลายอย่างควบคู่กันไป

ส่วนพื้นที่ หมู่ 2 และหมู่ 5 ต.ลานตากฟ้า แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่การเกษตร คือ ที่นาและสวน ทว่าบริเวณหมู่ 5 เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านจัดสรร 2 หมู่บ้าน ประมาณ 1,500 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 4,300 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นและประกอบอาชีพนอกภาคเกษตร เช่น พนักงานบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ ค้าขายธุรกิจส่วนตัว และรับจ้างทั่วไป ซึ่งกรณีหมู่บ้านจัดสรรรวมที่ตั้งอยู่ติดกับพื้นที่การเกษตรก่อให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งระดับหนึ่ง กล่าวคือ หมู่บ้านจัดสรรติดปัญหาการรับรองสถานะนิติบุคคลจึงยังไม่ได้โอนย้ายให้อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อระบบบำบัดน้ำเสียชำรุดและถูกถอนออกไปโดยไม่มีการติดตั้งใหม่ น้ำ เสียจึงถูกปล่อยลงคลองและส่งผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรและก่อให้เกิดความขัดแย้งกับเกษตรกรในพื้นที่ เป็น ตัวอย่างของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเขตชานเมืองเนื่องจากประชากรใช้ทรัพยากรร่วมต่างวัตถุประสงค์กัน

ชุมชน บ.ด.ถ. และไทยธานี เป็น 1 ใน 2 ชุมชนในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งถูกออกแบบให้เป็น “เมืองที่สมบูรณ์แบบ” กล่าวคือ นอกจากพื้นที่อุตสาหกรรมแล้ว ภายในนิคมประกอบด้วยพื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่สี เขียว และพื้นที่พักอาศัยซึ่งมีกว่า 5,000 ครัวเรือน ขณะที่มีแรงงานประมาณ 250,000 คนเช่าหอพัก อพาร์ทเมนท์ และบ้านเช่าภายในนิคม ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจประเภทอื่นตามมาในย่านที่อยู่อาศัย เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง เป็นต้น ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ครบวงจรโดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกนิคม อย่างไรก็ดี ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่ไม่ใช่คนดั้งเดิม บ้านใน บ.ด.ถ. เป็นของเจ้าของเดิมซึ่งเป็นทหารไม่ถึงร้อย ละ 30 ส่วนใหญ่ได้ขายเปลี่ยนมือไปแล้ว ขณะที่บางหลังเจ้าของปล่อยให้เช่าส่วนตัวเองย้ายไปอยู่ที่อื่น ฉะนั้น แม้ จะมีบ้านเรือนกระจุกตัวกันอยู่ แต่ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ยกเว้นแต่ในกลุ่มผู้พัก อาศัยดั้งเดิมรวมทั้งผู้มีบ้านเรือนติดกันหรือทำงานประเภทเดียวกันหรือในที่เดียวกันจำนวนหนึ่ง กิจกรรมรวมหมู่ จึงไม่ค่อยมีและการประสานความร่วมมือเป็นไปค่อนข้างลำบากโดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติจำพวกอุทกภัย

เพราะเหตุที่ตั้งอยู่ในเขตภูมิศาสตร์และมีลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจต่างกัน ชุมชนในพื้นที่ศึกษาจึง ประสบปัญหาอุทกภัยไม่เหมือนกัน ชาว ต.หนองน้ำใหญ่ เป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับน้ำท่วมมากที่สุดเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ น้ำท่วมซ้ำซาก สามารถเรียนรู้และปรับตัวให้มีชีวิตอยู่กับน้ำได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี เพราะเหตุที่น้ำท่วมครั้งนี้ เกิดขึ้นนานแม้จะในระดับต่ำกว่าในปี 2549 จึงก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบรุนแรงกว่าที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่ได้รับ ผลกระทบรุนแรงสุดคือกลุ่มค้าเร่เนื่องจากไม่สามารถเดินทางนำสินค้าไปจำหน่ายตามที่ต่างๆ ได้ อีกทั้งยังไม่ได้รับ การชดเชยหรือเยียวยาจากหน่วยงานใด ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน เปรียบเทียบกับคนทำงานโรงงานที่ยังพอมีรายได้บ้าง แม้จะในจำนวนที่ลดลงและต้องประสบความยากลำบากในการเดินทาง ขณะที่คนทำนาปรังแม้จะสามารถเก็บ เกี่ยวผลผลิตได้ทันระดับหนึ่งรวมทั้งได้รับค่าชดเชยพืชผลการเกษตรที่เสียหายแต่ก็เกิดความขัดแย้งกับคนในเขต เทศบาลที่มีบ้านริมน้ำที่ต้องการให้เปิดประตูระบายน้ำลงสู่ที่นาที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวเพราะไม่ต้องการให้น้ำท่วม บ้านเรือนของพวกตนจนเกิดการเผชิญหน้ากันหลายระลอก ไม่นับรวมความขัดแย้งระหว่างชาวนาปรังกับชาวนา ฟางลอยในพื้นที่ในเรื่องการจัดการน้ำที่แหลมคมขึ้นเพราะน้ำท่วมครั้งนี้

ทั้ง 3 พื้นทีศึกษาใน ต.คลองโยง และ ต.ลานตากฟ้า ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเกษตรกรหรือผู้พักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรรเนื่องจากไม่ได้เตรียมรับมือมากนักเพราะที่ผ่านมาน้ำไม่ค่อย ท่วมหรือแม้จะท่วมก็ไม่สูงมาก สามารถก่อคันดินป้องกันพื้นที่การเกษตรรวมถึงบ้านเรือนไว้ได้ ทว่าน้ำที่มาใน ปริมาณมากและท่วมอยู่เป็นเวลานานในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรอย่างมากโดยเฉพาะในส่วนของสวนไม้ผล ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่าตำบลทั้งสองอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก และถูกปิดกั้นการระบายน้ำ ขณะที่การระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีนออกอ่าวไทยเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลผ่านกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดน้ำเอ่อท่วมทั้งท้องทุ่งเนื่องจากแม่น้ำท่าจีนมีลักษณะคดเคี้ยว และได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล

ขณะที่ชุมชนในนิคมอุตสาหกรรมนวนครได้รับผลกระทบรุนแรงทั้งเจ้าของบ้านและผู้เช่าเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยถูกน้ำท่วมหนักมาก่อน นิคมฯ มีระบบป้องกันและระบายน้ำดีพอสมควร และไม่มีใครคาดคิดว่าพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมอันดับต้นของประเทศอย่างนวนครจะถูกน้ำท่วมสูงและยาวนานเช่นนี้ จึงไม่ได้เตรียมรับมือ นอกจากนี้ เพราะความที่เป็นชุมชนของผู้มาอยู่ใหม่และผู้เช่าที่ไม่สู้จะมีกิจกรรมทางสังคมร่วมกันจึงไม่สามารถ ระดมความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้มากนัก ในตอนต้นพวกเขาไปช่วยนิคมฯ กั้นกระสอบ ทรายบ้างพร้อมกับเฝ้ารอดูสถานการณ์ แต่เมื่อเห็นว่าไม่สามารถต้านทานน้ำได้ส่วนใหญ่ก็อพยพออกไปพักอาศัย ภายนอกกัน ปล่อยให้บ้านเรือนและทรัพย์สินบางส่วนถูกน้ำท่วมจม โดยบรรดาร้านค้าและกิจการตางๆ ได้รับ ผลกระทบมากเป็นพิเศษเพราะมีทรัพย์สินบางส่วนที่เคลื่อนย้ายไม่ได้หรือเคลื่อนย้ายไม่ทัน ขณะที่ผู้ที่ยังประกอบ อาชีพอยู่ในพื้นที่เช่นรถจักรยานยนต์รับจ้างและ “ซูบารุ” มีรายได้ลดลงอย่างมากแม้จะได้ค่าบริการต่อเที่ยว เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผู้ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่รายได้ลดลงและราคาเสื้อวินตกลงไปมาก จากที่แต่เดิมมีราคาสูง จนบางคนนำ “เสื้อวิน” ไปขายต่อเพื่อนำเงินไปดาวน์รถแท็กซี่มาขับแทนได้

อย่างไรก็ดี ขณะที่ชุมชนเมืองในนิคมอุตสาหกรรมนวนครไม่สามารถรับมือกับน้ำท่วมได้มากนัก ชุมชน ชนบทเช่น ต.หนองน้ำใหญ่ สามารถแก้ปัญหาและใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมได้ระดับหนึ่ง บางครอบครัวได้สร้างบ้านใต้ ถุนสูงหรืองัดบ้านให้สูงขึ้นพ้นจากระดับน้ำ บางส่วนร่วมกันสร้างทางเดินชั่วคราว หรือแม้แต่ในส่วนของชุมชนชาน เมืองเช่น ต.คลองโยง และ ต.ลานตากฟ้า บางส่วนได้ทำแนวคันดินกั้นน้ำแม้จะไม่สามารถป้องกันน้ำไม่ให้ไหลท่วม พื้นที่การเกษตรได้ก็ตาม นอกจากนี้ การที่พื้นที่ลานตากฟ้า-คลองโยง มีลักษณะเด่นคือ เป็นที่รู้จักผ่านสื่อในเรื่อง โฉนดชุมชน มีสมาชิกเป็นที่รู้จักและเคารพนับถือในสังคมจึงสามารถเป็นแกนกลางในการประสานความช่วยเหลือ ในช่วงน้ำท่วม นับตั้งแต่เครื่องสูบน้ำ ท่อ และน้ำมัน มีการขอบริจาคจากบริษัทเอกชน และมีสื่อมวลชนโดยเฉพาะ โทรทัศน์มาทำรายการ ประการสำคัญ เพราะเหตุที่เคยดำเนินกิจกรรมและเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มและเครือข่าย ต่างๆ ในประเด็นโฉนดชุมชน จึงได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มและเครือข่ายเหล่านี้ด้วย เช่น เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน แห่งประเทศไทย มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน รวมไปถึงสื่อมวลชนอย่าง ThaiPBS ธุรกิจเอกชนอย่าง มูลนิธิปูนซีเมนต์ไทย เครือข่ายจิตอาสา (Gen-V) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศม์ที่ ส่งผลให้ชาว ลานตากฟ้า-คลองโยง ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยราชการต่างๆ จำนวนมาก แม้จะไม่สามารถ ป้องกันแก้ไขปัญหาได้มากนักและชาวบ้านจัดสรรจำนวนมากอพยพไปอยู่ที่อื่น แต่พวกเขาก็ได้ร่วมกันสร้าง “ชุมชน” ของตัวเองขึ้นในสื่อทางสังคม เช่น การตั้งกระทู้ในเว็บ pantip.com และ Facebook ของหมู่บ้าน เพื่อติดตามความเคลื่อนไหว แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่ต้องละทิ้งบ้านเรือนกันมา

นอกจากนี้ องค์กรปกครองท้องถิ่นมีบทบาทค่อนข้างสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในช่วงน้ำท่วมดังกรณี ต.ลานตากฟ้า องค์การบริหารส่วนตำบลลานตากฟ้าเป็นกำลังหลักทั้งในส่วนของการอาศัยงบประมาณและทรัพยากรของตัวเองในการป้องกัน แก้ไข และให้ความช่วยเหลือคนในพื้นที่ เช่น อาหารกล่องและถุงยังชีพ ขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางในการรับและกระจายความช่วยเหลือจากกลุ่ม องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรสาธารณกุศล สื่อ ประชาสังคม รวมถึงนักการเมือง โดย อบต. ทำหน้าที่คัดเลือกและจัดสรรให้กับผู้ประสบภัยซึ่งต้องมาลงทะเบียนและรับคูปองเพื่อนำไปรับของบริจาคต่อไป

เช่นเดียวกับ ต.หนองน้ำใหญ่ องค์กรปกครองท้องถิ่น คือ เทศบาลตำบลลาดชะโด เป็นหน่วยงานหลักทั้งในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่เบื้องต้นและเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด ทหาร หน่วยแพทย์และพยาบาล มูลนิธิ หน่วยกู้ภัย ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้นำฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำลังสำคัญในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ “ลูกบ้าน” ที่ประสบอุทกภัยในลักษณะต่างๆ เช่นกัน เนื่องจากมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันบวกกับความเอาใจใส่ในภาระหน้าที่ของผู้นำฝ่ายปกครองเหล่านี้

อย่างไรก็ดี กรณีนวนคร หน่วยงานที่มีบทบาทหลักและเป็นศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่องค์กรปกครองท้องถิ่น แต่เป็นนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยนิคมฯ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำสำหรับสูบน้ำออกนอกบริเวณ รวมทั้งประสานกับหน่วยงานภายนอกโดยเฉพาะทหารในการขนย้ายผู้คนไปยังพื้นที่ด้านนอก ทว่าไม่ได้จัดส่งความช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยที่ยังอยู่ในบริเวณเหมือนกรณีองค์กรปกครองท้องถิ่น ถึงแม้ความช่วยเหลือจากองค์กรและหน่วยงานภายนอกสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัญหาและข้อจำกัดอยู่มาก ดังกรณี ต.หนองน้ำใหญ่ แม้ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่พึงพอใจกับถุงยังชีพที่ได้รับ ทว่าการที่ถุงยังชีพมีจำนวนไม่เพียงพอกับผู้ประสบภัยจึงทำให้ไม่สามารถแจกได้ทั่วถึง เกิดความรู้สึกในกลุ่มผู้ประสบภัย โดยเฉพาะรายที่ไม่ได้รับถุงยังชีพว่าไม่เป็นธรรมหรือมีการ “เล่นพรรคเล่นพวก” เช่นเดียวกับกรณี ต.ลานตากฟ้า ชาวหมู่บ้านจัดสรรตั้งคำถามว่าเหตุใดพวกเขาจึงได้รับของบริจาคต่างกัน บางครัวเรือนได้ของหน่วยงานนี้แต่บางครัวเรือนไม่ได้ ขณะที่บางรายกล่าวว่าของบริจาคของบางหน่วยงานคุณภาพไม่ดีนัก ส่วนชุมชนในนวนครได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้น้อยกว่าพื้นที่อื่นเนื่องจากเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ทั่วถึง และขาดเครือข่ายความสัมพันธ์รองรับ แต่ก็พบว่าชุมชนในพื้นที่ลานตากฟ้า-คลองโยง ได้รับของบริจาคโดยเฉพาะถุงยังชีพค่อนข้างมากจนเหลือใช้แม้กระทั่งน้ำลดแล้วเนื่องจากมีหลายหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

การชดเชยและการเยียวยามีปัญหาและข้อจำกัดเช่นกัน ในเบื้องต้นผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลครัวเรือนละ 5,000 บาท ซึ่งมักน้อยกว่าความสูญเสียที่ผู้ประสบภัยได้รับและบางรายตกสำรวจ ขณะเดียวกันเงินชดเชยความเสียหายด้านต่างๆ ยังมีปัญหา ดังกรณี ของนาข้าว ชาวนาได้รับค่าชดเชยเพียงไร่ละ 2,222 บาทขณะที่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลอยู่ที่เกวียนละ 13,000 – 13,500 บาท ส่วนการชดเชยพืชสวนมีเพียงอัตราเดียวทว่าพืชสวนแต่ละชนิดใช้เงินลงทุน ระยะเวลา และปริมาณผลผลิตต่างกัน นอกจากนี้ บัวไม่ถูกจัดอยู่ในพืชผลการเกษตรที่จะได้รับการชดเชยเพราะถูกประเมินว่าสามารถเจริญเติบโตในช่วงน้ำท่วมได้ ส่วนผู้พักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรร ต.ลานตากฟ้า ได้รับเงินชดเชยงวดที่ 2 ที่มีเพดานอยู่ที่ 20,000 บาทต่างกันมากทั้งที่ได้รับความเสียหายใกล้เคียงกัน

กรณี ต.หนองน้ำใหญ่ ผู้ประสบภัยได้รับเงินเยียวยาเบื้องต้นครัวเรือนละ 5,000 บาท และได้รับความช่วยเหลือรอบที่ 2 อีกจำนวนหนึ่งสำหรับซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย ซึ่งนอกจากไม่เพียงพอแล้ว ผู้ประสบภัยเห็นว่าเกณฑ์ในการประเมินความเสียหายและให้ความช่วยเหลือของเทศบาลไม่เป็นธรรมอีกทั้งยังมีความล่าช้าในการเบิกจ่าย เช่นเดียวกับกรณีนวนครผู้ประสบภัยได้รับเงินเยียวยาในจำนวนที่ต่ำกว่าค่าเสียหายมาก

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกรณีที่กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากเห็นว่าไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือพวกตนในช่วงประสบอุทกภัยและเกิดความรู้สึกผิดหวังในหน่วยงานรัฐในระดับมาก

ประสบการณ์ช่วงน้ำท่วมก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในอนาคตในหลายลักษณะ ชาวหนองน้ำใหญ่ได้ร่วมกันวางแผนที่จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งวางระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสูงอย่างเป็นระบบเพราะไม่มั่นใจว่าจะประสบอุทกภัยในระดับรุนแรงและยาวนานเช่นนี้อีกเมื่อใด ขณะที่เกษตรกรคลองโยงและลานตากฟ้าปรับเปลี่ยนที่สวนเป็นที่นากันมาก เพราะไม่มั่นใจว่าน้ำจะท่วมหนักเช่นนี้อีกประกอบกับราคาข้าวที่จูงใจจากโครงการรับจำนำข้าว ขณะที่บางรายหันมาปลูกผักอายุสั้นแทนเพราะมีรายได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอกว่าและสามารถเก็บเกี่ยวได้ทันหากเกิดน้ำท่วม

ส่วนกรณีนวนคร การผ่านวิกฤติการณ์และความเสียหายร่วมกันส่งผลให้เจ้าของบ้าน เจ้าของกิจการ และผู้เช่าเกิดความเห็นอกเห็นใจและร่วมมือกันมากขึ้น จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่หรือสนใจแต่เรื่องของตัวเองก็หันมาให้ความสำคัญกับส่วนรวมมากขึ้น บางชุมชนมีการเปลี่ยนคณะทำงานชุมชนชุดใหม่ที่ใส่ใจและแก้ปัญหาชุมชนได้จริง อย่างไรก็ดี การที่โรงงานปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมากส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจภายในนิคมฯ ซบเซาลงและไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวในอนาคตอันใกล้ จึงส่งผลให้บ้านเรือนจำนวนมากถูกปล่อยทิ้งร้างหรือไม่ก็ประกาศขายหลังน้ำท่วม ผู้อยู่อาศัยซ่อมแซมบ้านเรือนกันตามอัตภาพเพราะขาดเงินสนับสนุน ขณะที่การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคตดำเนินการโดยนิคมฯ อย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ นับตั้งแต่ในส่วนของการปรับปรุงระบบระบายน้ำภายในและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการสร้างกำแพงคอนกรีตสูงใหญ่ล้อมรอบนิคมฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวนวนครโดยตรง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้ประสบอุทกภัยมีส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเชิงโครงสร้างหรือนโยบายค่อนข้างจำกัด การตัดสินใจและดำเนินการส่วนใหญ่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรและหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ในกรณีนวนคร การบริหารจัดการน้ำรวมทั้งอุทกภัยขึ้นกับนิคมฯ เป็นหลัก ผู้อาศัยหรือว่าชุมชนมีส่วนร่วมน้อยมากทั้งในระดับของการวางแผนและปฏิบัติการ ส่วนกรณี ต.หนองน้ำใหญ่ การกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเกิดขึ้นจากการถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำนองตามแผนการจัดการน้ำของรัฐบาลโดยตรง คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมคิดและตัดสินใจตั้งแต่ต้นรวมทั้งไม่สามารถคัดค้านหรือเปลี่ยนแปลงแผนดังกล่าวได้แม้พวกเขาจะเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการน้ำของรัฐที่ปรากฏผ่านน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ระดับหนึ่งก็ตาม เช่นเดียวกับกรณี ต.คลองโยง และ ต.ลานตากฟ้า นอกจากการถูกกำหนดให้อยู่นอกเขตคันกั้นน้ำของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก คนในพื้นที่ตั้งคำถามว่าหากบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาของพวกเขาต้องกลายเป็นพื้นที่ให้น้ำไหลผ่านเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ รัฐบาลและสังคมไทยจะมีวิธีเฉลี่ยทุกข์กับพวกเขาอย่างไร หากพวกเขาต้องเป็นผู้เสียสละแบกรับน้ำท่วมแทนคนกรุงเทพฯ แล้วคนกรุงเทพฯ จะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับพวกเขาอย่างไร ความเป็นธรรมในการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยยังเป็นคำถามที่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ศึกษาต้องการคำตอบเสมอมาแม้ส่วนใหญ่จะเห็นว่าอุทกภัยครั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากความรุนแรงของธรรมชาติก็ตาม

CCSCS research
โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
international network
ความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ
workshops
สัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านวิธีวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
media
สื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย