พลเมืองที่รัฐปรารถนา: ข้อพินิจการสร้างพลเมืองของชาติในพิพิธภัณฑ์สิงคโปร์

ccscs-cseas-chewasit-museum-and-nationalism-in-singapore
ภาพ: ภายใน Singapore Discovery Centre โดย ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมกับ
ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอเชิญร่วมกิจกรรม เข้านอกออกใน อุษาคเนย์ ครั้งที่ 2

พลเมืองที่รัฐปรารถนา:
ข้อพินิจการสร้างพลเมืองของชาติในพิพิธภัณฑ์สิงคโปร์

โดย
อาจารย์ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ร่วมอภิปรายโดย
อาจารย์อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันจันทร์ที่ 29 กันยายน 2557
เวลา 13.30-16.30 น.

ห้องประชุมโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


ใน ค.ศ. 2015 ชาติสิงคโปร์จะอายุครบห้าสิบปี ครึ่งทศวรรษที่ผ่านไป สิงคโปร์สร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จากชาติเล็กๆ ภายหลังการปลดแอกจากชาติมหาอำนาจ ไม่มีใครเคยเชื่อว่า สิงคโปร์จะสามารถก้าวมาสู่ชาติที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ได้อย่างทุกวันนี้

แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ที่งดงาม รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างพลเมือง ทั้งตอบโจทย์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะ “ความเป็นหนึ่งเดียว” ให้กับผู้คนที่อพยพจากหลายมุมโลกในช่วงประวัติศาสตร์อาณานิคม และลูกหลานที่เติบโตเป็นคนสิงคโปร์ในทุกวันนี้

ศูนย์เรียนรู้สิงคโปร์ (Singapore Discovery Centre) ฉายให้เห็นภาพของพิพิธภัณฑ์ในฐานะประดิษฐกรรมของรัฐ (statecraft) ในการมุ่งสร้างพลเมืองที่มีศักยภาพและร่วมพัฒนาชาติ คำถามสำคัญคือ “ชาติ” ตามแรงจูงใจหลักของรัฐ ที่ก่อร่างผ่านศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นเช่นใด ทำไมรัฐจะต้องวางโจทย์ไว้อย่างนั้น

หอนิทรรศการ ยูอาร์เอ (URA Gallery หรือ Urban Redevelopment Gallery) เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ชวนให้เราพินิจวาระของการสร้างสื่อพิพิธภัณฑ์ หัวใจสำคัญของหอนิทรรศการฯ คือการบอกเล่าการวางผังเมืองของชาติสิงคโปร์ให้พลเมืองได้เข้าใจหลักการและวิธีการของการวางผังเมือง และภาพอนาคตของเมืองสิงคโปร์ที่พร้อมสรรพ จนอาจกล่าวได้ว่า การวางผังเมืองสร้างตัวตนให้กับพลเมืองของประเทศนี้

การบรรยายมิได้มุ่งอธิบายหรือหาคำตอบที่เบ็ดเสร็จเกี่ยวกับบทบาทของพิพิธภัณฑ์กับสังคมสิงคโปร์ แต่ต้องการชวนให้ผู้สนใจ ใคร่ครวญและพินิจถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์อีกประการหนึ่ง ที่ไม่จำเพาะการทำความเข้าใจกับอดีต พิพิธภัณฑ์ชวนให้ผู้คนคิดถึงปัจจุบันและอนาคตได้เช่นกัน