นาฏกรรมสังหาร: ประวัติศาสตร์บาดแผลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

TAOK_POSTER_try05


ในยุคที่รัฐบาลอินโดนีเซียถูกทหารโค่นล้มเมื่อปี ค.ศ. 1965 นายอันวาร์กับพรรคพวกของเขาได้เลื่อนสถานะจากที่เคยเป็นนักเลงขายตั๋วดูหนังในตลาดมืดมาเป็นผู้นำหน่วยสังหาร ในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปีพวกกองกำลังหน่วยเสริมเหล่านี้ได้ร่วมมือ ช่วยเหลือกองทัพสังหารผู้คนกว่าหนึ่งล้านคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นคนเชื้อสายจีน หรือเป็นปัญญาชน ตัวนายอันวาร์เองรับบทบาทเป็นเพชฌฆาตหน่วยสังหารที่โหดเหี้ยมที่สุดในเมืองที่เขาอาศัย ปลิดชีวิตผู้คนนับร้อยด้วยน้ำมือของเขาเอง

ใน The Act of Killing อันวาร์กับพรรคพวกตกลงยอมเล่าอดีตประสบการณ์ฆ่าล้างผู้คน ให้ Oppenheimer กับทีมงานรับรู้ แต่พวกเขาไม่ต้องการส่งเสียงเล่าเรื่องราวดังกล่าวเพื่อให้ทีมงานนำไปทำเป็นหนังสารคดีต่ออีกที พวกเขาอยากรับบทบาทเป็นดาราแสดงหนังประเภทที่เคยคลั่งไคล้เมื่อวัยหนุ่ม จำพวกหนังแก๊งสเตอร์ หนังคาวบอยหรือหนังเพลง พวกเขาเป็นคนเขียนบท เป็นดาราแสดงบทบาทเป็นตนเอง รวมถึงแสดงเป็นเหยื่อสังหารด้วย

The Act of Killing เป็นสารคดีพาผู้ชมเดินทางเข้าสู่มุมมืดแห่งความทรงจำและซอบหลืบจินตนาการของผู้ก่อเหตุสังหาร เป็นกระจกสะท้อนวัฒนธรรมอันน่าสะพรึงกลัวของการไม่เอาผิดผู้ก่อเหตุ ที่สามารถทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเบาหวิวธรรมดาได้ เช่นให้นักฆ่าไปออกรายการโทรทัศน์กล่าวติดตลกถึงประวัติก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติของตนในฐานะวีรกรรม

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมกับ
ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Centre for Research and Education in Arts and Media (CREAM), University of Westminster
และ เทศกาลภาพยนตร์ทดลองกรุงเทพ (Bangkok Experimental Film Festival, BEFF)

ขอเชิญชมภาพยนตร์และร่วมเสวนาวิชาการ

นาฏกรรมสังหาร: ประวัติศาสตร์บาดแผลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
The Act of Killing: murderous histories in comparison

for information in English, please visit BEFF’s website

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2556
ณ โรงภาพยนตร์ลิโด 1 สยามสแควร์

14.00 น.
ฉายภาพยนตร์ เรื่อง The Act of Killing (Joshua Oppenheimer, 2012) ฉบับ director’s cut

16.30 น.
เสวนาวิชาการ “นาฏกรรมสังหาร: ประวัติศาสตร์บาดแผลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

วิทยากร
รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
อ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (นักวิจารณ์ภาพยนตร์อิสระ)
อ.ดร.อัมพร จิรัฐติกร (คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ดำเนินรายการ โดย
ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร
(ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และ
อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)


*ผู้สนใจร่วมชมภาพยนตร์และงานเสวนา กรุณาอีเมล์แจ้งจำนงล่วงหน้าที่ beff.info [at] gmail.com และกรุณาไปลงชื่อรับรองการลงทะเบียนที่โรงภาพยนตร์ตั้งแต่ 13.00-13.30 น. เพื่อรับบัตรชมภาพยนตร์ 1 ใบต่อหนึ่งคน*

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนได้ที่ FB page ของ BEFF


สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations, ASEAN) เป็นผลผลิตสำคัญของกระบวนการทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ในโอกาสที่สมาคมซึ่งก่อตั้ง ขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองระหว่างประเทศ กำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจในอีก 2 ปีข้างหน้า การเรียนรู้ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สมัยใหม่จากประสบการณ์เปรียบเทียบภายในภูมิภาค จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันโดยตระหนักและเคารพในความหลากหลายทางสังคม-วัฒนธรรม บนหนทางสู่การพัฒนาที่เท่าเทียมและเป็นธรรมภายใต้โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

ท่ามกลางความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในดินแดนต่างๆ ทั่วภูมิภาคช่วงต้นครึ่งหลัง ของศตวรรษที่ 20 ได้เกิดหลายๆ เหตุการณ์ที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตจำนวนมหาศาล นอกจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในประเทศกัมพูชาช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งได้รับการบันทึกและถ่ายทอดผ่านหลากหลายสื่อตลอดเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การกวาดล้างคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย ช่วง ค.ศ.1965-1966 ที่นำไปสู่การโค่นรัฐบาลซูการ์โน ในเวลาต่อมา ถือเป็นการสังหารหมู่ประชาชนครั้งร้ายแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับมีความรับรู้ค่อนข้างจำกัดในสังคมไทย ภาพยนตร์สารคดี The Act of Killing (Joshua Oppenheimer, 2012) จะเปิดพรมแดนความรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านกระบวนการที่ สื่อภาพยนตร์ทำหน้าที่ทั้งบันทึก ถ่ายทอด คำบอกเล่า และขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดการทบทวนสำนึกของ ผู้นำกลุ่มกวาดล้างประชาชนกลุ่มหนึ่งในเมืองเมดาน และสหายของเขาหลังจากผ่านพ้นห้วงเวลาดังกล่าว มากว่าหกสิบปี จนบุคคลเหล่านี้ได้ค่อยๆ เปลี่ยนจากภาคภูมิใจมารู้สึกเสียใจและยอมเผชิญหน้ากับความรุนแรง ที่พวกเขาเคยก่อเอาไว้เป็นครั้งแรกในชีวิต

The Act of Killing ได้รับรางวัลและการกล่าวขวัญถึงจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้รับการยกย่องจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย ว่าเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อินโดนีเซียที่สำคัญที่สุด และล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้รับรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ แด่นางอองซานซูจี จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ โดยนางอองซานซูจีเป็นผู้มอบรางวัลให้ด้วยตัวเองในงานมอบรางวัลที่จัดขึ้นที่ประเทศพม่า

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีพันธกิจในการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมพหุวัฒนธรรมร่วมสมัย เห็นความสำคัญในการส่งเสริม ให้มีการเรียนรู้จากประสบการณ์เปรียบเทียบว่าด้วยประวัติศาสตร์สมัยใหม่จากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 โดยศูนย์ฯ ได้รับความร่วมมือจาก Centre for Research and Education in Arts and Media (CREAM), University of Westminster หน่วยงานต้นสังกัดของ Joshua Oppenheimer ให้นำ The Act of Killing ฉบับ director’s cut มาจัดฉายในโรงภาพยนตร์สาธารณะเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ยังจะได้ร่วมกับศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเทศกาลภาพยนตร์ทดลองกรุงเทพ (BEFF) จัดเสวนาวิชาการว่าด้วยบทบาทของสื่อภาพยนตร์ต่อความทรงจำร่วมในสังคม–การจดจำ หลงลืม และการสร้างภาพตัวแทนของความรุนแรงในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ โดยวิทยากรซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วรรณกรรมวิจารณ์ นักเขียน และนักวิจารณ์ภาพยนตร์