สัมมนารายงานความก้าวหน้างานวิจัย: คน อินเทอร์เน็ต และความเป็นส่วนตัว



tusa-thainetizen-online-privacy-research-report-2013

ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมกับ เครือข่ายพลเมืองเน็ต

ขอเชิญร่วมสัมมนารายงานความก้าวหน้างานวิจัย
และสำรวจสถานการณ์การละเมิดความเป็นส่วนตัวในสังคมออนไลน์ไทย ม.ค.-มิ.ย. 2556

คน อินเทอร์เน็ต และความเป็นส่วนตัว

โดย ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์
นักวิจัยโครงการสิทธิความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต

วันที่ 21 สิงหาคม 2556 เวลา 9.30-12.00 น.

ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

[Facebook event] [ลงทะเบียนร่วมงาน]


อินเทอร์เน็ตไม่เพียงเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้ผู้คนสื่อสารกันได้อย่างสะดวกขึ้นเท่านั้น ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกมิติ ตั้งแต่การบริโภคข้อมูลข่าวสาร ธุรกรรมทางการเงิน การสื่อสาร สุขภาพ ระหว่างกัน การรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ แสดงความคิดเห็นส่วนตัวต่อประเด็นทางสังคมต่างๆ เป็นต้น การเติบโตของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการพัฒนาระบบขององค์กรต่างๆ เพื่อรองรับบริการออนไลน์ควบคู่ไปกับปริมาณของข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในระบบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลส่วนตัวที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หน่วยงานของรัฐ สถาบันทางการเงิน เว็บบอร์ด รวมถึงเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ โฟร์สแควร์

อาจกล่าวได้ว่าทุกวันนี้เราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารซึ่งชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ อย่างมาก มุมมองในการพิจารณาปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัวจึงควรสอดคล้องกัน ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่าเรื่องความเป็นส่วนตัวโดยมากจะเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยความลับ แต่ข้อมูลที่เก็บอยู่ในฐานข้อมูลของบุคคลต่างๆ ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับ เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ เชื้อชาติ เพศ วันเกิด ฯลฯ การมองปัญหาจากกรอบคิดเรื่องความลับอาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ดีนัก หรือกรอบคิดเรื่องความสนิทสนมก็อาจจะใช้ไม่ได้ในบริบทนี้เช่นกัน เพราะว่าโดยมากแล้ว ฐานข้อมูลไม่ได้คุกคามหรือทำลายชีวิตด้านความสัมพันธ์ของเรา ชื่อของเรา ที่อยู่ ประเภทของรถที่เราเป็นเจ้าของไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ใกล้ชิดใดๆ มันไม่ใช่ความลับขั้นสุดยอดที่ห้ามไม่ให้ใครมาเห็นเหมือนกับในสมุดบันทึกประจำวัน ในโลกอินเทอร์เน็ตความสัมพันธ์ของเราคล้ายกับการทำธุรกรรมมากกว่าเรื่องความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างบุคคล (Solove 2002:1153)

แม้การถกเถียงเรื่องความเป็นส่วนตัวในพื้นที่ออนไลน์จะเริ่มเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมบ้างแล้ว โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อโจมตีกันจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียง ด้วยเหตุที่อินเทอร์เน็ตเข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนในหลายมิติ ส่งผลให้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวมีลักษณะแตกต่างกันออกไปด้วยซึ่งอาจจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ ประเภทแรก คือ ความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค เช่น สิทธิในความเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของผู้ให้บริการออนไลน์ของสถาบันการเงิน ห้างร้าน หรือบริษัทประกันชีวิต การส่งต่อหรือซื้อขายข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าไปยังบุคคลที่สาม ประเภทที่สองคือ ความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตัวอย่างเช่น การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อโจมตีบุคคลที่มีความคิดเห็นต่างกันทางการเมือง หรือใช้วิธีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ตเพื่อกลั่นแกล้ง นอกจากความหลากหลายของปัญหาแล้ว ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวเกี่ยวพันกับสิทธิด้านอื่นๆ ของปัจเจกบุคคลด้วย

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการทำความเข้าใจความเป็นส่วนตัวออนไลน์ในสังคมไทยมักจำกัดอยู่ในมิติของกฎหมายเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัญหาจากการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูล จึงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา ขณะเดียวกันความเป็นส่วนตัวยังสัมพันธ์กับเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น ชนชั้นทางสังคม ความเป็นเมือง ชาติพันธุ์ ศาสนา ขนาดครอบครัวที่หดเล็กลง การเกิดขึ้นของพื้นที่ทางสังคมใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของครอบครัว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบ้าน ทัศนะใหม่ต่อร่างกาย ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น การแยกระหว่างบ้านและที่ทำงาน ชุมชนที่ลดน้อยลง และความเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของเราได้ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการรับรู้ว่าอะไรคือชีวิตส่วนตัว สิ่งที่เราคิดว่าเป็น “ส่วนตัว” ในเวลานี้อาจจะแตกต่างจากช่วงเวลาอื่นๆ (Solove 2002:1141) ชีวิตในยุคข้อมูลข่าวสารมักเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข่าวสารกับบุคคลที่สาม เช่น บริษัทโทรศัพท์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต บริษัทเคเบิล เป็นต้น ดังนั้นการยึดติดกับแนวคิดที่ว่าความเป็นส่วนตัวคือการเก็บความลับอาจจะใช้ไม่ได้กับความเป็นส่วนตัวในปัจจุบัน ตรงกันข้ามกับการเก็บความลับ เราอาจจะเข้าใจได้มากกว่า หากความเป็นส่วนตัวเกี่ยวข้องกับระดับของการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งเข้ากับยุคสมัยที่เราเปิดเผยข้อมูลจำนวนมาก

ปัญหานี้ยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ข้อมูลถูกเก็บรวบรวม การใช้ และการควบคุม ในอีกทางหนึ่งสิ่งที่ทำให้ปัญหานี้สำคัญอยู่ตรงที่ว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกรวบรวม และถูกใช้ในการตัดสินใจที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คน โดยมากแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้เป็นรัฐราชการ (bureaucratization) ที่เน้นวินัยและการควบคุมมาก และคนทั่วไปมีความรู้น้อยมากว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกจัดการและใช้อย่างไร ดังนั้นในการทำความเข้าใจเรื่องความเป็นส่วนตัวควรเริ่มต้นจากปัญหาที่เกิดขึ้น มากกว่าจะพยายามทำให้ปัญหาเข้ากับกรอบคิดแบบเดิม (Solove 2002:1152)

ด้วยเหตุนี้เครือข่ายพลเมืองเน็ตและฝ่ายวิจัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะจัดการสัมมนานำเสนอผลสำรวจสถานการณ์การละเมิดความเป็นส่วนตัวออนไลน์ในสังคมไทยช่วงครึ่งปีแรก ของพ.ศ. 2556 ขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะ ถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสังคมของความเป็นส่วนตัว เพื่อร่วมกันหาแนวทางการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวต่อไป

อ้างอิง

D. J. Solove (2002). ‘Conceptualizing Privacy’. California Law Review 90(4):1087–1155.


กำหนดการ

09:30 ลงทะเบียน

10.00 แนะนำโครงการสิทธิความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต

10.15

นำเสนอผลสำรวจสถานการณ์การละเมิดความเป็นส่วนตัวออนไลน์
ในสังคมไทยช่วงครึ่งปีแรก พ.ศ. 2556

โดย ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์

11.15
แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดย

คณาธิป ทองรวีวงศ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


เกี่ยวกับโครงการวิจัย

งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Thai Online Services” Privacy Policy and Security Measures: Evaluation and Public Understanding” ซึ่งจะสำรวจนโยบายความเป็นส่วนตัว มาตรการรักษาความปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบริการออนไลน์ในประเทศไทย และนำเสนอข้อค้นพบในรูปแบบเข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการ

โครงการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัยระดับนานาชาติ “Surveillance and Freedom: global understandings and rights development (SAFEGUARD)” ซึ่งมีโครงการวิจัย 19 โครงการใน 16 ประเทศ และทำงานร่วมกับองค์กร Privacy International สหราชอาณาจักร