รองศาสตราจารย์ เฉลิมศรี ธรรมบุตร (พ.ศ.2468-2556)

chalermsri

อ่าน “In Memory of Ajarn Chalermsri Dhammabutra” โดย Mohammad Abdus Sabur
[Asian Resource Foundation (ARF), Asian Muslim Action Network Foundation] ที่นี่

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของ ศาสตราจารย์ เฉลิมศรี ธรรมบุตร เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556


ชีวิตและงาน

รองศาสตราจารย์ เฉลิมศรี ธรรมบุตร เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2468 ที่จังหวัดสุโขทัย สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีอักษรศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทสังคมวิทยา-ชนบท จาก University of the Philippines ปริญญาโททางมานุษยวิทยา จาก Indiana University ประเทศสหรัฐอเมริกา และ M.Ex. (Master of Agricultural Extension) จาก Washington State University

เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อ พ.ศ.2493 จากนั้นได้โอนย้ายไปเป็นอาจารย์วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ตามลำดับ จนกระทั่ง พ.ศ.2508 จึงได้โอนมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำแผนกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บรรยายวิชาทั้งด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ระดับปริญญาตรี ได้แก่ มนุษย์นิเวศวิทยา วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม มนุษย์วิทยาและสิ่งแวดล้อม และวิชาสังคมวิทยาชนบท ในระดับปริญญาโท

ระหว่างการทำงานในมหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นอาจารย์ผู้อุทิศตนให้กับการเรียนการสอนอย่างยิ่งแล้ว ท่านยังได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด ทั้งในตำแหน่งบริหารและวิชาการ อาทิเช่น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ระหว่าง พ.ศ.2520-2523 ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ระหว่าง พ.ศ.2527-2528 ประธานกรรมการโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2529-2532 และเป็นกรรมการพิจารณาศัพท์ทางสังคมวิทยา ราชบัณฑิตยสถาน ฯลฯ นอกเหนือจากงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยแล้ว ท่านยังให้ความช่วยเหลือและทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่ดำเนินงานเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม เช่น เป็นประธานมูลนิธิผู้หญิง ประธานมูลนิธิทรัพยากรเอเชีย นายกสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม และรองประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาสตรีแห่งชาติ ฯลฯ

ตลอดเวลาของการรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ รองศาสตราจารย์ เฉลิมศรี ธรรมบุตร เป็นแบบอย่างที่ดีเลิศของการเป็นอาจารย์ผู้อุทิศเวลาและสติปัญญาเพื่อสั่งสอนอบรมศิษย์ให้เป็นผู้มีความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนในเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมมาโดยตลอด ท่านเป็นผู้ที่สนใจและเอาใจใส่อย่างยิ่งต่อสภาพปัญหาสังคม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสตรีและเยาวชน ท่านเป็นตัวอย่างของนักวิชาการที่ใช้เวลาทุกนาที ทำประโยชน์ให้แก่สังคม บุคคลรอบข้างทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม โดยใช้ประสบการณ์และความรู้ทางวิชาการของท่านร่วมคิด ร่วมทำและร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ได้พบทั้งในฐานะที่ปรึกษา ประธานกรรมการ นายกสมาคม ฯลฯ

เมื่อท่านเกษียณอายุราชการแล้ว และมีเวลาทุ่มเทให้แก่องค์กรเอกชนมากขึ้น ท่านได้ประยุกต์ทฤษฏีและแนวคิดทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มาใช้ในการทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น ในฐานะนายกสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสมทำการศึกษาวิจัย และทดลองในการนำเอาธรรมชาติมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวชนบทอย่างกว้างขวาง อาทิ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำตามธรรมชาติ โครงการเกษตรผสมผสาน โครงการพัฒนาทอผ้าพื้นเมือง ฯลฯ โดยเฉพาะทอผ้าพื้นเมืองได้พิมพ์เผยแพร่ทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในเรื่อง “แก้ความยากจนโดยใช้หัตถกรรมท้องถิ่น” ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาแบบครบวงจร ในฐานะประธานมูลนิธิผู้หญิง ท่านจัดทำโครงการต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว โครงการคำหล้าซึ่งต่อต้านการค้าเด็กหญิงและการเป็นโสเภณีเด็ก โครงการทักทอชีวิต ซึ่งเป็นโครงการให้ความรู้และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงและเด็กที่พบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีโครงการศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติการในเรื่องการย้ายถิ่นและการค้าหญิง ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมในกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาการย้ายถิ่นและค้าหญิงเหมือนกัน โดยได้ร่วมกันจัดตั้งสหพันธ์เพื่อต่อต้านการค้าหญิง มอบหมายให้มูลนิธิผู้หญิงเป็นผู้ประสานงานต่อไป

รองศาสตราจารย์ เฉลิมศรี ธรรมบุตร ได้รับพระราชทานปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขามานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2539


ผลงานวิชาการ

หนังสือ

  • Thai version “เพื่อสิ่งแวดล้อม” (1992)
  • Weaving Alternatives (co-author)

ตำรา

  • ชุมชนศึกษากับสังคมไทย (2515)
  • มนุษย์: ชีวิตในโลกล้านปีแรก (มานุษยวิทยาเบื้องต้น) (Man: his first million years) (2519)

บทความ

  • The Study of Appropriate Technology Development and Income Generation for Women Development in N.E. Thailand, (7 May 1993)
  • The Study of Exchange Appropriate Technology for ASEAN Women Development (1989)
  • Economic Empowerment: The Reflection of Natural Dye Weaving Development(Women’s Business Promotion) for Grassroot Women in Northeastern Province 1985 – 1992
  • Consumers and Environment for Women Development (1994)
  • Thai Women and Energy (Renewable Energy)

งานวิจัย

  • การย้ายถิ่นของผู้มีอาชีพขุดพลอย ณ กิ่งอำเภอบ่อไร่จังหวัดตราด (2517, ร่วมกับจำเรียง ภาวิจิตร และสมศักดิ์ ศรีสันติสุข)
  • Gen Mining Migrants in Trad Province,Thailand
  • The Migration of the North eastern Villagers to Tung Pothalae District, Kampaengphet Province
  • The Evaluation of local Weaving Development in North eastern Provinces of Thailand: The Implementations of Benign Technology (March) 1991
  • The Study of methodology used in Research on Migration and Trafficking in Women, Thailand (1994)