ความ(ไม่)แปลกแยก: 
บทสนทนาว่าด้วยความ(ไม่)เป็นอื่นในปฏิบัติการทางศิลปะและชาติพันธุ์วรรณา


ใบปิด: ศุภกานต์ วงษ์แก้ว

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมกับ
หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ขอเชิญร่วมเสวนาปิดท้ายนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย
Human AlieNation

ความ(ไม่)แปลกแยก:
บทสนทนาว่าด้วยความ(ไม่)เป็นอื่น
ในปฏิบัติการทางศิลปะและชาติพันธุ์วรรณา

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2559
เวลา 13.30-16.30 น.
หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


กำหนดการ

13.15 – 13.30 น.
ลงทะเบียน

13.30-16.30 น.
เสวนา
ความ(ไม่)แปลกแยก:
บทสนทนาว่าด้วยความ(ไม่)เป็นอื่น
ในปฏิบัติการทางศิลปะและชาติพันธุ์วรรณา

  • กมลวรรณ์ บุญโพธิ์แก้ว
    ภัณฑารักษ์รับเชิญ นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Human AlieNation
    นักศึกษาปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยา
    คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ธนาวิ โชติประดิษฐ
    ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • บุญเลิศ วิเศษปรีชา
    คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • รชฏ สาตราวุธ
    ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ชวนสนทนาโดย

  • กษมาพร แสงสุระธรรม
    นักวิจัยอิสระ

สำหรับมานุษยวิทยา “ศิลปะ” เป็นหนึ่งในรูปแบบและการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับพัฒนาการของกระบวนการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณา อันนำไปสู่การเปิดประเด็นสนทนาและการตั้งคำถามที่ท้าทายความรับรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมในสามประเด็นหลักๆ ได้แก่ ขอบเขตของนิยามความเป็นศิลปะ ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างภาพตัวแทน “ความเป็นอื่น” และพรมแดนที่พร่าเลือนระหว่างการผลิตและการบริโภคงานศิลปะ

นับจากยุคของการเดินทางสำรวจและการก่อตัวของการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 วัตถุวัฒนธรรมจากชุมชนที่ไม่ใช่สังคมในโลกตะวันตก ได้รับความสนใจและนำเสนอในฐานะ “ศิลปะของชนพื้นเมืองดั้งเดิม” เป็นรูปวัตถุของระบบคิดเชิงสัญลักษณ์และวัตถุสภาวะของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ท้าทายระบบคุณค่าเชิงสุนทรียะแบบตะวันตก อันเป็นระบบคุณค่าที่ให้ความสำคัญกับพลังสร้างสรรค์ของปัจเจก ภายใต้โครงสร้างเชิงเศรษฐกิจ-การเมืองของชนชั้นนำและสถาบันทางศาสนา

เมื่อสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์หันมาวิเคราะห์และตั้งคำถามเชิงวิพากษ์บนพื้นฐานของการรับรู้ด้วยการมองเห็น โดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา อาณาบริเวณของศิลปะและงานชาติพันธุ์วรรณาก็ยิ่งเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ สาขาย่อยอย่างมานุษยวิทยาทัศนาก่อตัวผ่านประเด็นคำถามว่าด้วยกระบวนการสร้างและให้ความหมายกับภาพตัวแทน ในด้านหนึ่ง กรอบคิดทางมานุษยวิทยาได้ชวนให้พิเคราะห์ศิลปะในมิติของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ได้รับการผลิตซ้ำผ่านขนบการสร้างภาพตัวแทน ตลอดจนเป็นพื้นที่ของการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ระหว่างวัฒนธรรมของชนชั้นสูงและวัฒนธรรมประชานิยม ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นวิพากษ์กระบวนการแสวงหาและถ่ายทอดความรู้ทางมานุษยวิทยา ในมิติการเมืองของการสร้างภาพตัวแทนและการเขียนในฐานะของเครื่องมือสร้าง “ความจริง” เชิงชาติพันธุ์วรรณา ได้ท้าทายให้นักมานุษยวิทยาต้องใคร่ครวญเกี่ยวกับศักยภาพของสื่อทางด้านภาพและวัตถุสภาวะของวัฒนธรรมที่รับรู้ผ่านสายตา

อาจกล่าวได้ว่า นัยเชื่อมโยงทั้งในระดับมโนทัศน์ วิธีวิทยา และปรากฏการณ์ ของอาณาบริเวณทางมานุษยวิทยาและศิลปะ เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเด็นถกเถียงว่าด้วยการผลิตและการบริโภคงานศิลปะ โดยเฉพาะในมุมมองเชิงวัตถุวัฒนธรรมศึกษา (material culture studies) ซึ่งชี้ให้เห็นบทบาทของการบริโภคในกระบวนการเชิงวิภาษวิธีระหว่างความเป็นอัตบุคคลกับรูปวัตถุ (objectification) ในแง่นี้ “ความแปลกแยก” (alienation) ครอบคลุมมากกว่าเพียงนัยเชิงลบของความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบอุตสาหกรรม หากยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการตระหนักในความเป็นอัตบุคคลของผู้บริโภค กระบวนการที่นำไปสู่การตระหนักในตัวตนนั้นเริ่มต้นจากการตระหนักใน “ความเป็นอื่น” ผ่านความรู้สึกแปลกแยกจากตนเอง (self-alienation) ก่อนที่ความแปลกแยกนั้นจะได้รับการหลอมรวมผ่านรูปวัตถุอย่างของกำนัลในสังคมดั้งเดิม งานศิลปะ หรือ สินค้าในวัฒนธรรมการบริโภคมวลชน เข้ากับระบบคุณค่าที่ประกอบกันเป็นอัตบุคคลซึ่งไม่สามารถแยกขาด (inalienable) จากเงื่อนไขเชิงสังคมวัฒนธรรม

ประเด็นหลักทั้งสามนี้เป็นประเด็นอภิปรายที่ได้รับความสนใจจากคณาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาอย่างต่อเนื่องกว่าสามทศวรรษ อย่างไรก็ดี กระบวนการพัฒนานิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Human AlieNation โดย กมลวรรณ์ บุญโพธิ์แก้ว นักศึกษาปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งจัดแสดงที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม – 3 กันยายน 2559 นับเป็นครั้งแรกที่นักชาติพันธุ์วรรณา ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ ผู้กระทำในอาณาบริเวณของมานุษยวิทยาและศิลปะ ตลอดจนผู้เข้าชมนิทรรศการ จะได้ร่วมกระบวนการเรียนรู้ที่อาจเริ่มต้นจาก “ความแปลกแยก” แต่ขณะเดียวกัน ก็มุ่งหวังว่าจะได้นำมาสู่การตระหนัก ความเข้าใจ หรือแม้แต่การตั้งคำถามกับความเป็นอัตบุคคลของ “เรา” ในสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยไปพร้อมๆ กัน