พระมหากษัตริย์-ขุนนาง: นาย-ไพร่ ในโครงสร้างสังคมไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์



พระมหากษัตริย์-ขุนนาง:
นาย-ไพร่ ในโครงสร้างสังคมไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์


สายพิณ ศุพุทธมงคล (แปล)

อคิน รพีพัฒน์ (ผู้เขียนและบรรณาธิการ)

จัดพิมพ์โดย
โครงการจัดพิมพ์คบไฟ

ราคา 370 บาท

“…พระมหากษัตริย์-ขุนนาง: นาย-ไพร่ ในโครงสร้างสังคมไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แปลจาก ‘The Organization of Thai Society in the Early Bangkok Period 1782-1873’ วิทยานิพนธ์ปริญญาโท ของ ดร. มรว. อคิน รพีพัฒน์ และนักมานุษยวิทยาไทยหลายคนมองว่าเป็นผลงานทางวิชาการที่มีชื่อเสียงที่สุดของอาจารย์อคิน

วิทยานิพนธ์ดังกล่าวเคยได้รับการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก ใช้ชื่อเรื่องว่า สังคมไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325-2416 โดย ม.ร.ว, ประกายทอง สิริสุข และพรรณี ฉัตรพลรักษ์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2527 แม้เวลาผ่านพ้นไปนาน แต่หนังสือเล่มดังกล่าวยังมีคุณูปการต่อวงการวิชาการไทยศึกษาและผู้อ่านทั่วไปที่ต้องการเข้าใจสภาวการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน…ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้ตรวจทานและปรับปรุงภาษาให้ตรงกับต้นฉบับภาษาอังกฤษและสอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น ทั้งนี้เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ผู้แปลเดิมได้ค้นคว้าไว้อย่างดีแล้ว ก็ให้คงไว้ดังเดิม”

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
บางส่วนจากคำนำ
โครงการจัดพิมพ์คบไฟ


คนไทยมองการจัดกลุ่มของคนว่าคล้ายกับการจัดกลุ่มของช้าง คือต้องมีหัวหน้าที่เป็นผู้นำ เป็นแบบอย่างให้คนในกลุ่มเดียวกันทำตาม ทั้งในกลุ่มที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ จะมีคนหนึ่งบัญชาการ ให้คนอื่นทำตาม กลุ่มมิใช่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะคนในกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกัน แต่เกิดจากความสัมพันธ์สองฝ่าย (dyadic relationships) ระหว่างหัวหน้ากลุ่มกับสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม

ความสัมพันธ์ของคนในกลุ่มที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการ ขึ้นอยู่กับสายการบังคับบัญชาซึ่งก็ยังหมายถึงขึ้นอยู่กับฐานะของข้าราชการตามที่ระบุไว้ในระบบศักดินาในบางกรณี สายการบังคับบัญชาอาจถูกกระทบโดยความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่กับผู้น้อย เช่นเมื่อผู้ใหญ่ออกคำสั่งให้บุคคลที่มิได้เป็น ผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรง ทำสิ่งที่ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยตรงของบุคคลนั้น แต่ตราบใดที่ความแตกต่างในเรื่องฐานะตามระบบศักดินาไม่ถูกกระทบ เหตุการณ์ทำนองนี้ก็สามารถคลี่คลายได้ด้วย พลังของความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่กับผู้น้อยเพราะผู้น้อยต้องเคารพและ “เกรงใจผู้ใหญ่” ทุกคนรู้ฐานะของตัว และรู้ว่าควรปฏิบัติกับผู้อื่น อย่างไรให้เหมาะสมกับฐานะของเขา