เรื่องราว-เรื่องลาว: ประสบการณ์นักวิจัยไทยในลาว บนเส้นทางสู่ปี 2020

    lao stories poster
    ใบปิด: ณัฐกานต์ ทาจันทร์
    image: “Vang Vieng, Laos, 9/2014” by Khánh Hmoong

    อ่านบทความ “นิทานเก่าในโลกใหม่: วรรณกรรมลาวสมัยอาณานิคมฝรั่งเศสกับขบวนการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม” โดย ชัยรัตน์ พลมุข จากหนังสือ ยาดแย่งการพัฒนาและความทันสมัยในลาว ได้ ที่นี่

    ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
    คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    ร่วมกับ
    ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนาวิชาการ

    เรื่องราว-เรื่องลาว
    ประสบการณ์นักวิจัยไทยในลาว บนเส้นทางสู่ปี 2020

    วันอังคาร ที่ 1 มีนาคม 2559
    เวลา 13.30-16.30 น.

    ห้องประชุมโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
    ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


    ผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า 40 ท่านแรก จะได้รับหนังสือ
    ยาดแย่งการพัฒนาและความทันสมัยในลาว
    อภินันทนาการจาก ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    ลงทะเบียนได้ที่ http://goo.gl/forms/9AZoT9hMwk


    วิทยากร
    ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ
    ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ดร.นลินี ตันธุวนิตย์
    คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ดร.วาสนา ละอองปลิว
    วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์ลำปาง)

    ดร.สร้อยมาศ รุ่งมณี
    วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ดำเนินรายการ
    คุณสมัคร์ กอเซ็ม
    ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


    การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม-เศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นเพียงอีกห้วงเหตุการณ์หนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่ดำเนินสืบเนื่องมากว่าสองทศวรรษ ภายหลังการสิ้นสุดยุคแห่งการจำแนกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามอุดมการณ์ทางการเมือง-เศรษฐกิจ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เปลี่ยนผ่านจากสมรภูมิของการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในยุคสงครามเย็น มาสู่พื้นที่อันรุ่มรวยของทรัพยากรธรรมชาติ และสวรรค์ของการค้า การลงทุน ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากการปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และแม้จะต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำช่วงปลายทศวรรษ 1990 หรือในปัจจุบัน หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเกือบทุกประเทศมีเป้าหมายสอดคล้องกันที่จะก้าวไปสู่สถานะประเทศที่พัฒนาสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

    ในกรณีของ สปป. ลาว ได้ร่วมข้อตกลงดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millenium Development Goals: MDGs) และก้าวพ้นจากสถานะประเทศด้อยพัฒนาที่สุดภายใน ค.ศ. 2020 ซึ่งได้นำไปสู่การผลักดันนโยบายการพัฒนาที่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติของชีวิตพลเมือง ขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนทางด้านนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็เปิดโอกาสทางการวิจัยให้กับนักวิชาการต่างชาติจากหลากหลายสาขาวิชาในการเข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์และทำการศึกษาวิจัยปรากฏการณ์อันเป็นผลสืบเนื่องของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาเหล่านี้

    กว่าหนึ่งทศวรรษนับจากที่ลาวก้าวเข้าสู่ความเป็นประเทศสังคมนิยมอย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 ธันวาคม ค.ศ.1975) มีผลงานศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์เกี่ยวกับ สปป. ลาว เพียงไม่กี่ชิ้นที่ได้รับการเผยแพร่สู่วงวิชาการนานาชาติ และมีนักวิจัยชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานวิจัยใน สปป.ลาว มากขึ้น เมื่อพรรคประชาชนปฏิวัติลาวหันมาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามแนวคิด “จินตนาการใหม่” ในช่วง ค.ศ.1986 กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีงานศึกษาวิจัยสังคมวัฒนธรรมลาวในสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งนับจาก ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา จึงเริ่มมีนักวิจัยและนักศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันการศึกษาในโลกตะวันตก ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำการศึกษาวิจัยระยะยาวใน สปป.ลาว และมีนักวิจัยชาวลาวที่ทำวิจัยในประเทศลาวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับมหาบัณฑิตในสถาบันการศึกษาของไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีส่วนผลักดันให้องค์กรผู้สนับสนุนการวิจัยในประเทศไทยได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิชาการชาวไทยได้ทำโครงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้ง สปป.ลาว เป็นจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงต้นของทศวรรษ 2010 นี้ ผลงานวิจัยเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมลาวได้รับการเผยแพร่ในสื่อวิชาการภาษาไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับความร่วมมือจากศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาวิชาการ “เรื่องราว-เรื่องลาว: ประสบการณ์นักวิจัยไทยในลาว บนเส้นทางสู่ปี 2020” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรจากสองสถาบัน ได้แก่ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ และ ดร.สร้อยมาศ รุ่งมณี บรรณาธิการ และ ดร.วาสนา ละอองปลิว หนึ่งในผู้เขียนบทความ หนังสือ ยาดแย่งการพัฒนาและความทันสมัยในลาว ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความโดยนักวิจัยรุ่นใหม่ชาวไทยที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงใน สปป. ลาว ในช่วงทศวรรษ 2010 จัดพิมพ์โดยศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2558) และ ผศ.ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ กรรมการศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย และเจ้าของผลงานวิจัยเกี่ยวกับการค้าเบ็ดเตล็ดข้ามแดนระยะไกล ใน สปป.ลาว ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัยระดับคณะ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2557-2558) มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการทำงานศึกษาวิจัย และประสบการณ์ของนักวิจัยไทยในฐานะผู้ร่วมสังเกตการณ์สังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยบนหนทางสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศ สปป.ลาว ในปี 2020 ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาวิจัยในอาเซียน ตามแผนงานบริการวิชาการของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา