ภาพเขียนสีน้ำมันภาพหนึ่ง งานวิจัยเรื่องไทดำ และกองทุนกู้ยืมฉุกเฉินสำหรับนักศึกษาฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี การสถาปนาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ภาพสีน้ำมัน “การเดินทางครั้งสุดท้ายตามความเชื่อไทดำ”
โดย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล


ผู้ชนะการประมูลภาพ คุณวงจันทร์ ศิริมหัทธโน
ศิษย์เก่าคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รุ่น 23

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์


เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี การสถาปนาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะฯ ได้ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าฯ จัดงานเฉลิมฉลอง “55 ปี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์: Wisdom of Understanding” เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยในโอกาสนี้ คณาจารย์และศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันได้ร่วมบริจาคเพื่อจัดตั้ง “กองทุนกู้ยืมฉุกเฉินสำหรับนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์” เพื่อให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งการสมัครทุนโดยทั่วไปอาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของเงินจัดตั้งกองทุนยังได้รับมาจากกิจกรรมการประมูลภาพวาดสีน้ำมัน “การเดินทางครั้งสุดท้ายตามความเชื่อของไทดำ” (Wandering in the Black Tai mythical land) ผลงานของ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งได้กรุณามอบให้กับคณะฯ เพื่อนำมาจัดแสดงและเปิดโอกาสให้ประชาคมสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาร่วมประมูลเพื่อนำรายได้เข้าสมทบกองทุนดังกล่าว

ภาพ “การเดินทางครั้งสุดท้ายตามความเชื่อของไทดำ” เป็นภาพเขียนสีน้ำมันขนาด 40 x 60 ซม. โดย ดร.ปริตตา ได้บอกเล่าถึงที่มาและแรงบันดาลใจในการวาดภาพนี้ไว้ว่า “ภาพนี้เขียนตามเนื้อความในหนังสือ ‘ความบอกทาง’ หรือ ‘ความส่งผีตายขึ้นเมืองฟ้า’ ซึ่งเป็นเอกสารโบราณของคนไทดำที่ใช้อ่านในพิธีศพ เอกสารบรรยายการเดินทางของขวัญของผู้ตาย ผ่านน้ำตก ประตู เขตแดนผีด้ำ เมืองมด ผ่านทุ่งนา ป่าไผ่ หนองน้ำ ฯลฯ ข้ามแม่น้ำฟองสีแดง และขึ้นภูเขาสิบหรือสิบสองชั้น เพื่อไปสู่ดินแดนแถนหลวง ซึ่งเป็นเมืองฟ้า และได้พบปู่แถน ผู้สร้างมนุษย์ตามความเชื่อของคนไทดำ

กล่าวได้ว่าภาพนี้เป็นการจำลองภาพลักษณ์จักรวาลของชาวไทดำ หรือ “จักรวาลคู่ขนานของเมืองฟ้า-เมืองลุ่ม” ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มหนึ่งได้อย่างมีสีสัน ด้วยการฉายภาพแสดงเส้นทางของการเดินทางครั้งสุดท้ายของ “ขวัญ” จากดินแดนเมืองลุ่ม (เมืองที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่) ผ่านเส้นทางซับซ้อนวกวน ผ่านน้ำตก ประตูฟ้า ประตูหมอก ขึ้นเขาลงห้วย ข้ามแม่น้ำ ผ่านสวน สู่เมืองฟ้าซึ่งเป็นที่อยู่ของแถนและบรรดาบรรพบุรุษของตนที่เดินทางล่วงหน้าไปก่อนและรอคนรุ่นลูกหลานอยู่ที่นั่น

หากลองพิจารณาความเป็นมาของภาพเขียนนี้จะพบว่าน่าสนใจยิ่ง เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยของอาจารย์ในคณะฯ หลายรุ่น

ผู้วาดภาพได้แรงบันดาลใจมาจากงานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ สายพันธ์ เรื่อง “พลวัตในจักรวาลทัศน์และโลกทัศน์ของลาวโซ่ง/ไทดำจากพิธีกรรมความตาย” (2561) ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาเอกสารโบราณอักษรไทดำที่เรียกว่า “ความโทเมือง” (ฉบับเมืองแถง) ซึ่งล่าสุด ได้รับการตีพิมพ์เป็นบทความ “พลวัตจักรวาลทัศน์และโลกทัศน์สํานึกประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ุ กับถิ่นฐานต้นกําเนิดของลาวโซ่ง/ไทดําจากพิธีกรรมความตาย” ในวารสารมานุษยวิทยา (2562) ซึ่งได้มีการตีพิมพ์แผนภาพภูมิสัณฐานจักรวาลไทดำ “เมืองฟ้า” และ “เมืองลุ่ม” เป็นภาพประกอบด้วย

เอกสารดังกล่าวนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ก็ได้ศึกษาวิเคราะห์ไว้ด้วยเช่นกันในรายงานวิจัย เรื่อง “การรู้หนังสือ สถานที่และการก่อตัวของเมืองไทดำ: บททดลองเสนอประวัติศาสตร์การเมืองไทดำ ในเวียดนามยุคก่อนสมัยใหม่ (มุมมองจากเอกสาร ‘ความโตเมือง’) ซึ่งเป็นการศึกษาสำนวนของเมืองลาและเมืองหม้วย (ต่อมายุกติเรียกเอกสารกลุ่มนี้ใหม่ว่า “เล่าความเมือง”) และต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ: รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557)

ย้อนกลับขึ้นไปอีก ในงานศึกษาของรองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ อดีตอาจารย์และคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เรื่อง Lao Song (2521) และ The Religion and beliefs of the Black Tai, and a note on the study of cultural origins (1980) ได้ศึกษาศาสนาและความเชื่อของคนไทดำ (โซ่ง) ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำในยุคบุกเบิก

ภาพ “การเดินทางครั้งสุดท้ายตามความเชื่อของไทดำ” จึงเป็นผลสืบเนื่องจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง (ไทดำ) ที่ใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปี และอาจถือเป็นผลงานศึกษาวิจัยที่เชื่อมโยงกันของคณาจารย์ในคณะฯ ถึง 4 รุ่น กว่าที่จะทำความเข้าใจจักรวาลทัศน์ไทดำและฉายภาพออกมาให้ปรากฏเป็นครั้งแรก ในโอกาสครบรอบ 55 ปีของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

หากใครได้มีโอกาสพิจารณาภาพวาดสีน้ำมันภาพนี้อย่างใกล้ชิด อาจจะรู้สึกได้ว่าแสงและสีที่สะท้อนอยู่ในภาพนี้เปี่ยมไปด้วยความหวัง ธรรมชาติแห่งจักรวาลเบื้องหน้าของชายที่ยืนมองเส้นทางอันยาวไกลอยู่นั้นคือเส้นทางกลับบ้านอันแท้จริง เป็นสถานที่ซึ่งญาติพี่น้องและบุคคลอันเป็นที่รักของเขารอคอยอยู่ เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขอีกครั้งหนึ่งในนิรันดรภาพ


สำหรับผู้สนใจร่วมบริจาคสมทบ “กองทุนกู้ยืมฉุกเฉินสำหรับนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์” เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปีการสถาปนาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่