มานุษยวิทยาจริยศาสตร์ : มนุษย์ สิ่งที่ดี และอนาคต




มานุษยวิทยาจริยศาสตร์ : มนุษย์ สิ่งที่ดี และอนาคต
ดร. ประเสริฐ แรงกล้า
จัดพิมพ์โดย สำนักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2565)

หาซื้อได้ที่ร้านหนังสือศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(องค์การมหาชน)
ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2565

หนังสือเล่มนี้ได้รับทุนสนับสนุนการเขียนตำรา
จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2564

คำนำ

ในระหว่างปี พ.ศ. 2560-2562 ขณะทำวิจัยเรื่องอนาคตกับแรงงานสัญชาติพม่าในเมืองประมงแห่งหนึ่งในภาคใต้ของไทย ผู้เขียนพบว่า ผู้ให้ข้อมูลจำนวนมากมีชีวิตอยู่กับการตัดสินใจและการกระทำที่น่าลำบากใจหลายเรื่อง นับตั้งแต่ การเปลี่ยนงานใหม่ เพราะอยากได้งานที่ดีกว่าและมีรายได้มากขึ้น แม้จะต้องทำเอกสารใหม่และมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม สามีภรรยาคู่หนึ่งกลับไปอยู่พม่าพร้อมแผนเปิดร้านขายของชำในหมู่บ้าน เพราะร่างกายในวัยเกือบ 60 ปีมีปัญหาสุขภาพจนไม่เหมาะกับงานหนักอีกต่อไป แรงงานพม่าบางรายที่อยู่อาศัยอยู่เป็นเวลานานมีช่องทางเปิดร้านขายสินค้าและอาหารพม่า ทั้งที่รัฐไทยบอกว่าการประกอบการของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในด้านความสัมพันธ์ หลายครอบครัวพยายามจัดการและตักเตือน คู่ชีวิตหรือพ่อแม่ (ผู้อยู่ที่พม่า) ที่เล่นการพนันและมักทำให้ครอบครัวสูญเสียทรัพย์สิน แรงงานที่เป็นพ่อแม่ต้องคิดหาทางรับมือกับพฤติกรรมเกเรและใช้ยาเสพติดของลูกวัยรุ่นที่ติดตามมาทำงานในไทย ส่วนพ่อแม่ที่มีลูกเล็กรู้สึกคิดถึงลูกที่นำไปฝากให้ญาติเลี้ยงที่พม่าและคอยตำหนิตนเองว่าไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ดีพอ และสุดท้าย แรงงานที่เป็นลูกที่มาทำงานในไทยต่อเนื่องยาวนาน (บางกรณีอาจมากกว่า 20 ปี) คิดหาวิธีการดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าและล้มป่วยอยู่ที่พม่า โดยตัวเองไม่ต้องกลับไปตกงานขาดรายได้อยู่ที่บ้าน

สถานการณ์เหล่านี้สร้างคำถามให้กับผู้เขียนว่า สถานะการเป็นคนงานข้ามชาติ เป็นแม่ค้า เป็นสามีหรือภรรยา เป็นพ่อแม่ และเป็นลูก (ของพ่อแม่ที่อยู่พม่า) ดำรงอยู่ได้อย่างไรท่ามกลางความเป็นอยู่อย่างยากลำบากและมีรายได้น้อยของชีวิตแรงงานข้ามชาติ การเลือกทำอะไรบางอย่างลงไปมีความหมายต่อตัวบุคคลนั้น ๆ อย่างไร และในบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งของประเทศไทยและประเทศพม่า พวกเขาดำเนินการค้นหาและเลือกทำสิ่งที่คิดว่าดีอย่างไร คำถามเหล่านี้ชักชวนให้ผู้เขียนค้นคว้าหาความรู้เพื่อการวิเคราะห์และเข้าใจความมุ่งหมายในการกระทำเหล่านั้น โดยไม่ติดกับคำอธิบายว่าถูกกำหนดไว้โดยโครงสร้างสังคมวัฒนธรรม หรือความสามารถกระทำการ การอ่านบทความบางชิ้นของเชอร์รี ออตเนอร์ และ โจเอล รอบบินส์ (ร่วมกันนักศึกษาบัณฑิตศึกษาในวิชาการวิจัยทางมานุษยวิทยา) ได้จุดประกายให้ผู้เขียนศึกษาเพิ่มเติมว่ามานุษยวิทยาจริยศาสตร์หรือมานุษยวิทยาสิ่งที่ดีคืออะไร จนได้กลายเป็นกรอบการวิเคราะห์หลักของรายงานวิจัยฉบับดังกล่าว

การสอนวิชาสัมมนาหัวข้อมานุษยวิทยาปรัชญาในปีการศึกษา 2562 ได้เปิดโลกให้ผู้เขียนรู้ว่า มานุษยวิทยาจริยศาสตร์มีความสำคัญต่อทิศทางความคิดของวิชามานุษยวิทยาในปัจจุบันอย่างไร มานุษยวิทยาจริยศาสตร์เป็นมากกว่าชื่อชวนฝัน (เช่น สิ่งที่ดี ชีวิตที่ดี) เพราะเป็นกระแสความสนใจที่สนทนาข้ามศาสตร์ และแลกเปลี่ยนกับข้อวิพากษ์ต่อวิชามานุษยวิทยาในทศวรรษ 1980 – 1990 นอกจากนั้น มานุษยวิทยาจริยศาสตร์ยังชี้ถึงความเป็นไปได้และความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับยุคสมัย โดยไม่รื้อการศึกษาความเป็นมนุษย์ที่เป็นหัวใจของวิชามานุษยวิทยาทิ้งไป มานุษยวิทยาจริยศาสตร์อำนวยให้นักมานุษยวิทยาสามารถศึกษาปรากฏการณ์สังคมร่วมสมัย และมองเห็นความเป็นมนุษย์และอัตบุคคลที่อยู่ในสภาวะเปิดและเคลื่อนไปข้างหน้า จนอาจกล่าวได้ว่า การทำความเข้าใจทิศทางการศึกษาหลังปี ค.ศ. 2000 นักเรียนวิชามานุษยวิทยาจำเป็นต้องเข้าใจความคิดหลักของกระแสความสนใจแบบข้ามศาสตร์นี้ เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ของประเด็นการศึกษาใหม่ ๆ และการเขียนงานชาติพันธุ์วรรณนาที่มีประเด็นโต้แย้งใหม่และให้ความเข้าใจภาพชีวิตของผู้คนร่วมสมัยอย่างสลับซับซ้อน