นักวิจัย
รพีพรรณ เจริญวงศ์
นักวิจัย
ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
ที่ปรึกษาโครงการวิจัย
อาจารย์ ดร.ประเสริฐ แรงกล้า
กรรมการ
ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
โครงการวิจัยนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ)
น้ำท่วมไม่ใช่ปัญหาใหม่ของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานคร แต่ด้วยการเติบโตของเมืองในที่ต่างๆ การพัฒนาอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่รกร้างเดิม ความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น และการทรุดตัวของพื้นดิน เป็นต้น ทำให้เรื่องน้ำท่วมกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน และเป็นภัยของเมืองมากกว่าจะเป็นเรื่องของฤดูกาลครั้งคราว
กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่ง พื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่างนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วยเป็นที่ราบความลาดชันต่ำมาก การไหลของน้ำตามธรรมชาติในช่องทางน้ำจึงช้า หากมีน้ำท่าปริมาณมากจากแม่น้ำสาขาทางตอนเหนือสะสมและไหลบ่าลงมาหรือมีน้ำฝนตกในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ปริมาณน้ำล้นตลิ่งหรือน้ำหลากทุ่งประจำปีก็จะมากจนกลายเป็นอุทกภัยได้ แต่ถ้าปริมาณน้ำท่าและน้ำฝนกำลังดีน้ำล้นตลิ่งในบริเวณนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องปกติดีต่อการทำนา
จากน้ำที่มีบทบาทสนับสนุนการเติบโตของสังคม หล่อเลี้ยงผู้คนและเมือง เป็นทางสัญจร เป็นทางระบายน้ำ และที่กำจัดของเสีย น้ำที่ควบคุมไม่ได้ก็เป็นภัยเช่นกัน เช่น น้ำเสีย พาหะนำโรค และน้ำปริมาณมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝนเฉพาะเหตุการณ์หรือน้ำฝนสะสมเป็นน้ำท่า สำหรับพื้นที่รับน้ำหลาก เช่น ทุ่งสองฝั่งของลุ่มน้ำการมีน้ำท่วมขังสูงราว 1-2 สัปดาห์ อาจเป็นเรื่องปกติและน้ำจะค่อยๆ ลดลงเมื่อน้ำหลากต่อไปยังพื้นที่ต่อเนื่องหรือช่องทางน้ำสายใกล้เคียงเพื่อออกสู่ทะเล เหตุการณ์เช่นนี้ชาวนาในที่ราบตอนกลางเรียนรู้และปรับตัวได้มาช้านาน แต่ปัจจุบันพื้นที่ริมน้ำและพื้นที่รับน้ำหลากต่อเนื่องจากทุ่งเหล่านี้เปลี่ยนสภาพเป็นชุมชนพาณิชย์ พื้นที่ราชการ เขตอุตสาหกรรม และพื้นที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้ออกแบบให้อยู่กับน้ำได้ ทางเลือกในการป้องกันรักษาพื้นที่จากน้ำที่กลายเป็น “ภัย” เมื่อเข้าท่วมขังในพื้นที่อาคารบ้านเรือน สถานประกอบการ ถนนหนทางต่างๆ คือการพยายามบังคับน้ำให้อยู่ในแม่น้ำลำคลอง ที่กักเก็บ ที่ชลอน้ำ ด้วยความรู้และวิธีการทางวิศวกรรมและการชลประทาน จึงเกิดมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อประโยชน์ในการช่วยป้องกันอุทกภัย ได้แก่ เขื่อนภูมิพล (พ.ศ.2507) เขื่อนสิริกิติ์ (พ.ศ.2514) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (พ.ศ.2542) และ เขื่อนขุนด่านปราการชล (พ.ศ.2549) ประกอบกับการจัดการระบบชลประทานเพื่อการเกษตร รวมถึงการระบายน้ำ ทำให้น้ำที่เดินทางผ่านช่องทางน้ำส่วนใหญ่อยู่ในระบบการบริหารจัดการน้ำ อย่างไรก็ตามเรายังพบว่าภัยน้ำท่วมยังคงเกิดขึ้นและเป็นปัญหาที่เมืองอย่างกรุงเทพมหานครต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่พ้นในปี พ.ศ.2554 และแนวโน้มของความหวาดกลัวภัยชนิดนี้ในสังคมก็ดูจะเพิ่มมากขึ้นไปตามข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์น้ำฝนท่วมขังในพื้นที่เอง
แม้ว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะยังมีคลองอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะทางฝั่งธนบุรี แต่เดิมคลองส่วนใหญ่เป็นคลองที่ขุดขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำหรือคลองธรรมชาติ ย่นระยะเวลาการเดินทาง หรือเปิดเส้นทางสัญจรใหม่ๆ ด้วยเป็นพื้นที่ราบแบนและมีความลาดชั้นต่ำมาก สายน้ำธรรมชาติอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาจึงไม่แรงพอจะเซาะตลิ่งและเกาะแก่งที่ขวางกั้นให้ลำน้ำกว้างขึ้นเองได้ ต้องอาศัยคลองลัดต่างๆ ช่วย ทำให้ต่อมาเส้นทางน้ำสายหลักบางช่วงจึงเปลี่ยนเส้นทางไปบ้างตามความสะดวกของช่องทางที่น้ำไหลผ่าน การขยายตัวของชุมชนมีมากขึ้นทั้งฝั่งตะวันตก (ธนบุรี) และฝั่งตะวันออก (พระนคร) ของแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวนคลองที่เชื่อมต่อระหว่างคลองและแม่น้ำต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 ก่อนที่ต่อมาคลองจะค่อยๆ ลดบทบาทลงจากการเริ่มสร้างถนนที่กลายมาเป็นทางสัญจรหลักแทนที่คลองเดิมในเวลาต่อมา และเมื่อเมืองขยายตัวมีผู้คนหนาแน่น คลองที่เหลืออยู่จึงทำหน้าที่เป็นท่อระบายน้ำและของเสียของเมืองจนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมของคลองเป็นอย่างมากและได้มีการรณรงค์แก้ไขกันในช่วงทศวรรษ 2530 ให้คลองบางสายกลับมาเป็นเส้นทางสัญจรเพื่องแบ่งเบาภาระการจราจรทางบกและเพื่อการฟื้นตัวของนิเวศคลองเองด้วย ในปัจจุบันกรุงเทพฯ มีคลองจำนวน 1,161 คลอง โดยอยู่ฝั่งพระนคร 512 คลอง ฝั่งธนบุรี 649 คลอง คลองเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ 213 คลอง และสำนักงานเขต 948 คลอง
ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งธนบุรี เป็นพื้นที่เริ่มแรกของการตั้งบ้านสร้าง มีชุมชนเก่าและมีคลองหลัก คลองซอย คลองขุดหลายสายเชื่อมต่อกับเรือกสวนไร่นาต่อไปยังจังหวัดนนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสาคร เป็นเส้นทางขนส่งสำคัญในช่วงที่น้ำตาลเป็นสินค้าส่งออกหลักและอ้อยมีพื้นที่เพาะปลูกแถบภาคตะวันตก ก่อนจะถึงยุคของการส่งออกข้าวตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา ปัจจุบันนี้ฝั่งธนบุรียังมีคลองอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นเส้นทางสัญจรและการประกอบอาชีพของผู้คนส่วนหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากแหล่งท่องเที่ยวประเภทตลาดน้ำและชุมชนดั้งเดิมริมคลอง อย่างไรก็ตามเนื่องจากคลองยังมีบทบาทหน้าที่ของการระบายน้ำ การบริหารจัดการคูคลองส่วนใหญ่จึงอยู่ใต้ภารกิจสำคัญนี้ เพราะชุมชนเมืองต้องการการป้องกันเหตุอุทกภัยน้ำท่วม โครงสร้างทางวิศวกรรมต่างๆ เช่น คันกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เป็นต้น ได้ติดตั้งแต่งเติมคูคลองต่างๆ ที่เป็นเสมือนท่อระบายน้ำขนาดใหญ่แบบเปิดให้กับเมือง
จากการที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำปากแม่น้ำ ความสูงของพื้นดินเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง +0.00 ถึง +1.50 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) กรุงเทพฯ จึงเป็นทางผ่านของน้ำจากลุ่มเจ้าพระยาตอนบนเป็นประจำทุกปี ปีใดน้ำเหนือมาก รวมถึงน้ำท่าและน้ำฝนในพื้นที่ ร่วมกับน้ำทะเลหนุนโดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำเหนือเดินทางผ่านมาถึง จะเกิดอุทกภัยประจำปีซึ่งกระทบต่อชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวเติบโตของเมือง ประกอบกับการทรุดตัวของพื้นดินโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 1 เซนติเมตร ในขณะที่ระดับน้ำทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปรากฎการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ กรุงเทพฯ จึงเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงของการทรุดตัวต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมากยิ่งขึ้นในอนาคต การบริหารจัดการเมืองและการจัดการน้ำจึงมีบทบาทสำคัญต่อการรักษาพื้นที่แห้งเพื่อเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการบริหาร การคมนาคมขนส่ง และพื้นที่อยู่อาศัยอันหนาแน่นของเมือง
กรุงเทพฯ ได้มีแผนระยะยาวและระยะสั้นเพื่อการระบายน้ำฝนและน้ำเสียตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา แต่การดำเนินการมีความล่าช้าและประสบปัญหาด้านงบประมาณ กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมหลายครั้ง ได้แก่ปี พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2521 พ.ศ. 2523 พ.ศ. 2526 พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2533 ทั้งจากปัญหาน้ำท่า น้ำฝน หรืออิทธิพลร่วม ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2538 สำนักการระบายน้ำได้เริ่มก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์
สุรภี ได้ทำการศึกษาทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่กรุงเทพฯ ถึงข้อมูลเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งครั้งที่มีความรุนแรงที่สุดก่อนการศึกษาคือ ปี พ.ศ.2526 ในส่วนท้ายได้สรุปข้อเสนอแนะและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ไว้ 5 ข้อ คือ 1) ปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ปรับปรุงลำคลองที่เชื่อมต่อกันให้สามารถระบายน้ำออกสู่แม่น้ำและทะเล โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตป้องกันน้ำท่วม 2) จัดให้มีพื้นที่รับน้ำเมื่อฝนตกหนักสำหรับพื้นที่ระดับใกล้เคียงระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะถูกน้ำท่วมได้ง่าย อาจปรับใช้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ได้ด้วย 3) ใช้ระบบคันกั้นน้ำ (polder system) ในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่นพื้นที่สวนฝั่งธนบุรีและนนทบุรี รวมถึงหมู่บ้านจัดสรร และใช้เครื่องสูบน้ำช่วยระบายลงเส้นทางน้ำใกล้เคียง 4) วางแผนและควบคุมการใช้ที่ดินโดยเฉพาะในเขตเมือง ไม่ควรตัดทางคมนาคมปิดกั้นเส้นทางระบายน้ำ 5) การประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนเตรียมรับภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นได้ (สุรภี, 2537, 155-156) ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ก็เกิดเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่อีกครั้ง
จากรายงานของ เจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ (2538, 41-45) ที่ศึกษาการบริหารจัดการของเขตบางกอกใหญ่ ได้ให้ภาพปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปี 2538 ซึ่งนับเป็นปีที่วิกฤติที่สุดในประวัติศาสตร์น้ำท่วมของเวลานั้น โดยมีระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงที่สุดถึง 2.27 เมตร มากกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2485 อยู่ 0.02 เมตร ทั้งที่ระบบการชลประทานช่วยกักเก็บน้ำได้แล้วเป็นจำนวนมาก สาเหตุของน้ำท่วมรุนแรงปี 2538 มาจากปริมาณน้ำที่มากจนล้นเขื่อนทุกเขื่อนทำให้มีน้ำเหนือไหลหลากสู่พื่นที่ตอนล่างด้วยความเร็ว 5,500 ลบ.ม. ต่อวินาที ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็มีปริมาณฝนตกหนัก ขณะนั้นกรุงเทพฯ ได้เตรียมการป้องกันน้ำท่วมโดยสร้างระบบป้องกันแบบปิดล้อมพื้นที่ (polder system) โดยมีถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวคันกันน้ำที่ระดับ 1.80 เมตร จาก รทก. มีประตูระบายน้ำแบบถาวรควบคุมระดับน้ำในคลองทุกสาย และจัดตั้งสถานีสูบน้ำทุกคลองเมื่อฝนตกในพื้นที่ก็จะใช้ระบบท่อระบายน้ำด้วยการสูบน้ำจากท่อลงสู่คลอง จากคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีประตูน้ำกั้นคลองไม่ให้น้ำจากแม่น้ำทะลักเข้าพื้นที่ แต่ด้วยปริมาณน้ำที่สูงมากจึงต้องทำการเสริมแนวคันกันน้ำให้สูงขึ้นถึง 2.25 – 2.30 เมตร จาก รทก. ระบบปิดล้อมพื้นที่นี้ได้ช่วยให้พื้นที่กรุงเทพฯ ถึงร้อยละ 99 รอดจากน้ำท่วมที่ระดับ 0.60 – 1.27 เมตร ส่วนที่ไม่รอดคือพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำราว 12 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ฝั่งธนบุรี 9 ตร.กม. และฝั่งพระนคร 3 ตร.กม. ได้แก่ บางส่วนของเขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตคลองสาน ของฝั่งธนบุรี และ พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครช่วงเขตดุสิตถึงเขตบางคอแหลม (เขตดุสิต เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตสาทร และ เขตบางคอแหลม) ส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันพื้นที่ 12 ตร.กม. นี้ได้ เนื่องจากไม่สามารถทำแนวคันกันน้ำแบบถาวรริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตลอดรวมประมาณ 70 กิโลเมตร รวมถึงปัญหาสิ่งปลูกสร้างคร่อมตลิ่งหรือรุกล้ำแม่น้ำ การใช้ถนนเป็นแนวป้องกันจึงทำให้พื้นที่ริมน้ำได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ทำให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างคันกันน้ำแบบถาวรบริเวณจุดอ่อนดังกล่าว โดย เจริญรัตน์ ได้เสนอแนะว่า “เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำถาวรหรือเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งยาวประมาณ 77 กิโลเมตร โดยสร้างสถานีสูบน้ำถาวร ประตูระบายน้ำถาวรควบคู่กันไปด้วย” (น. 101)
ในปี พ.ศ. 2540 โครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ จึงได้เริ่มดำเนินการ ซึ่งจะมีความยาวทั้งโครงการเมื่อแล้วเสร็จรวม 77 กิโลเมตร จากพื้นที่ความยาวตลิ่งทั้งสองฝั่งรวม 86 กิโลเมตร ส่วนที่เหลืออีก 9 กิโลเมตร เป็นบ้านเรือน อาคารเดิม สถานที่ราชการ บริษัทเอกชนที่สามารถป้องกันตัวเองจากน้ำท่วมได้ (เว็บไซต์เฟซบุ๊ก The Bangkok Governor โพสต์เมื่อ 15 กันยายน 2554) แนวป้องกันนี้จะสามารถป้องกันน้ำจากแม่น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ได้ที่ระดับ 2.40 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) อย่างไรก็ตามการดำเนินงานที่ยังไม่แล้วเสร็จร่วมกับปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลที่ทะลักสู่ทุ่งเจ้าพระยาตะวันตก ทำให้ในปี พ.ศ. 2554 พื้นที่ฝั่งธนบุรีได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเฉพาะหน้าครอบคลุม 51 แขวง จาก 54 แขวง ของพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี จากเหตุการณ์ปี 2554 ทำให้แนวป้องกันน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ได้รับการเสริมเพิ่มความสูงขึ้นอีกที่ระดับ 2.80 – 3.50 เมตร จาก รทก. เพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่าการถ่ายเทน้ำจากลุ่มเจ้าพระยาตอนบนจะเบี่ยงน้ำให้ไหลออกสู่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำบางปะกงเป็นทางหลักเพื่อรักษาพื้นที่กรุงเทพฯ และเมืองบริวารที่มีพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่อยู่ภายในเขตคั้นกั้นน้ำพระราชดำริทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก
กรุงเทพมหานครป้องกันน้ำท่วมโดยการปิดล้อมพื้นที่ด้วยระบบคันกั้นน้ำ ที่ช่วยเรื่องน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง และอาศัยโครงข่ายคูคลองในการระบายน้ำ ทว่าการระบายน้ำโดยหลักการไหลของน้ำตามธรรมชาติไม่เพียงพอกับการถ่ายเทน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง จึงต้องใช้เครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งอยู่ในแต่ละสถานีสูบน้ำ คอยควบคุมและกำหนดระดับน้ำที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เส้นทางการถ่ายเทน้ำมีความสัมพันธ์สอดคล้องกันในการพิจารณาอัตราการไหลผ่านโครงข่าย โดยกรุงเทพมหานครมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบในโครงข่ายการระบายน้ำอยู่ 5 กลุ่มงาน แบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งพระนคร 3 กลุ่มงาน และฝั่งธนบุรี 2 กลุ่มงาน (อรวรรณ, 2548, 37-45, 54) โดยโครงข่ายคลองระบายน้ำฝั่งพระนครมีความยาวรวมประมาณ 1,720 กิโลเมตร ควบคุมโดยสถานีสูบน้ำ 61 สถานี และโครงข่ายคลองระบายน้ำฝั่งธนบุรีมีความยาวรวมประมาณ 956 กิโลเมตร ควบคุมโดยสถานีสูบน้ำ 38 สถานี ระบบเหล่านี้เป็นการระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่จากน้ำฝนและน้ำใช้ของเมืองเป็นหลัก ระบบคูคลองไม่สามารถรองรับน้ำที่ไหลบ่าจากทางเหนือได้ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมหลายครั้งที่เกิดขึ้น น้ำเหนือจะไหลผ่านพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นทางสายหลักซึ่งทำให้เสี่ยงต่อเหตุการณ์น้ำล้นตลิ่งหรือมุดเข้ามาตามระบบท่อน้ำทิ้ง อันเป็นปรากฎการณ์ปกติทั่วไปของพื้นที่ริมน้ำในเวลาน้ำเหนือผ่านและน้ำทะเลหนุน จากการสร้างแนวคันป้องกันน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและระบบสูบน้ำ ทำให้เหตุการณ์น้ำล้นตลิ่งตามเวลาน้ำขึ้นน้ำลงที่เคยชินมานานได้เปลี่ยนไป เมื่อแนวกำแพงสูงขึ้นและการปิดกั้นช่องทางที่เคยเปิดโล่งสู่แม่น้ำทั้งหมด
จึงเป็นที่น่าสนใจที่จะศึกษาทำความเข้าใจระบบบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานครที่อาจเป็นทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อการปกป้องพื้นที่เมืองที่สำคัญ รับรู้กันชัดเจนว่าเป็นพื้นที่อ่อนไหวและเสี่ยงภัยต่อเรื่องน้ำท่วม การจัดการที่อาจจะสามารถป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมขนาดร้ายแรงได้ โดยมีประสบการณ์จากเหตุการณ์ปี 2554 การศึกษาครั้งนี้จึงต้องการค้นคว้าและทบทวนระบบบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี อันเป็นพื้นที่ที่มีช่องทางน้ำดั้งเดิมอยู่มาก และเคยเป็นจุดอ่อนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำเมื่อปี 2554 เพื่อดูว่าที่ผ่านมาพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีได้รับการจัดวางอย่างไรในแผนการบริหารจัดการน้ำ มีการปรับเปลี่ยนหรือไม่และอย่างไรบ้างหลังเหตุการณ์อุทกภัย 2554 และจะทำการสำรวจเบื้องต้นเพื่อหาความเป็นไปได้ของการจัดทำประเด็นศึกษาต่อไปในเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบของการปรับปรุง/เปลี่ยนแปลงการจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีต่อพื้นที่เมืองและชุมชน รวมถึงการกำหนดพื้นที่กรณีศึกษาที่มีความเหมาะสมต่อไป เพราะการบริหารจัดการน้ำและลำคลองต่างๆ นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแต่เรื่องน้ำเท่านั้น
รายการอ้างอิง
- กิตติ ตันไทย 2520. คลองกับระบบเศรษฐกิจของไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์, บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.
- คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคตะวันออก สภาผู้แทนราษฎร ปี 2554. รายงานการศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคตะวันออก
- เจ้าหน้าที่ธนาคารโลก และ เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ ม.ป.ป. โครงการป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำ 5 ปี ของกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ม.ป.ท..
- เจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ 2538. รายงานเรื่อง การบริหารงานป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร: ศึกษากรณี การบริหารงานป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตบางกอกใหญ่ ปี พ.ศ. 2538 (รายงานส่วนหนึ่งของการศึกษารายวิชา ร.707 และ ร.708 การศึกษาเฉพาะเรื่องทางการบริหารรัฐกิจ 1 และ 2 หลักสูตรปริญญาโทสำหรับนักบริหาร สาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2538)
- ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล และ ไตรรัตน์ ศรีวัฒนา 2529. การป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำของมหานคร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
- ส. พลายน้อย (นามแฝง) 2555. แม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ: มติชน.
- สกุณี ณัฐพูลวัฒน์ 2541. คลองและเส้นทางเดินเรืองในอดีต. กรุงเทพฯ: ฐานการพิมพ์.
- สุรภี อิงคากุล 2537. การศึกษาทางภูมิศาสตร์ สภาพน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร และ พื้นที่ใกล้เคียง, ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ บางเขน (เอกสารอัดสำเนา)
- สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร 2556. ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556: สรุปสาระสำคัญ, กรุงเทพฯ: ม.ป.ท..
- วรรณิภา รัตนพล 2513. การเตรียมการวางแผนของ “โครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับพระนครและธนบุรี” วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนบริหารศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสนศาสตร์), สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- อรวรรณ พ่วงพูล 2548. การศึกษาระบบระบายน้ำในเขตกรุงเทพมหานครโดยวิธีการวิเคราะห์โครงข่ายการไหล, วิทยานิพนธ์วิศวรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.