อิสลามที่รู้สึก: ภาพ เสียง และความเคลื่อนไหว

ภาพวาด นือลายันมือลายู (ชาวประมงปัตตานี) โดย นายมาหามะรอซิ ตะลี

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย 
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ขอเชิญชมภาพยนตร์และร่วมเสวนาวิชาการ

อิสลามที่รู้สึก: ภาพ เสียง และความเคลื่อนไหว
(Sensory Islam: sight, sound, and motion)

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2555 เวลา 9.00 – 16.30 น.
ณ ห้อง CITU 509 (วิทยาลัยนวัตกรรม)
ชั้น 5 อาคารอเนกประสงค์ 3 (สำนักหอสมุดเดิม)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อ วิถีชีวิต บทบาทและความสัมพันธ์ของมุสลิมในสังคมโลก ถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทั้งในระดับสาธารณะ และเป็นประเด็นที่สำคัญต่อการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ความขัดแย้งในหลายๆ พื้นที่ และผลสืบเนื่องจากการใช้อำนาจรัฐและการเมืองระหว่างประเทศ ได้ผลักดันให้เกิดความตื่นตัวของผู้คนและกลุ่มประชาคมท้องถิ่นที่จะบอกเล่าเรื่องราวและสื่อสารถึงความคาดหวังของตนเอง โดยมีสื่อทางด้านภาพ (visual media) เป็นหนึ่งในรูปแบบการสื่อสารที่สำคัญ ผ่านช่องทางต่างๆ ของสื่อใหม่ (new media) โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ขณะเดียวกัน ประสบการณ์การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณาของนักมานุษยวิทยา ก็ได้เปิดประเด็นคำถามเกี่ยวกับความเข้าใจวิถีชีวิตมุสลิม ระหว่างการตีความผ่านตัวบททางศาสนา กับประสบการณ์ในระดับชีวิตประจำวัน ซึ่งได้นำมาสู่ประเด็นถกเถียงเชิงวิธีวิทยา ว่าด้วยบทบาทของผัสสะต่างๆ นอกเหนือจากการอ่าน ในการรับรู้และทำความเข้าใจชีวิตมุสลิมกับความสัมพันธ์ทางสังคมในโลกพหุวัฒนธรรม

ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยเชิงคุณภาพทางด้านสังคมวัฒนธรรม และสถาบันที่ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านมานุษยวิทยาทัศนา (Visual Anthropology) ในประเทศไทย ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เห็นความสำคัญที่จะเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักมานุษยวิทยาที่สนใจการใช้สื่อทางด้านภาพในกระบวนการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณา เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสื่อประชาสังคม และชุมชนมุสลิมในประเทศไทย เพื่อให้ผู้นำเสนอได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับการนำเสนอ พร้อมๆ กับกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายเชื่อมโยงประสบการณ์ภาคปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นภายใต้เงื่อนไขและเป้าหมายต่างๆ กัน โดยคาดหวังว่าจากประเด็นเฉพาะว่าด้วยวิถีชีวิตมุสลิมนี้ จะสามารถเปิดพรมแดนไปสู่ประเด็นถกเถียงอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับทั้งนักเรียนมานุษยวิทยา กลุ่มผู้ปฏิบัติงานสื่อ และผู้สนใจความเปลี่ยนแปลงในสังคมพหุวัฒนธรรมร่วมสมัยอีกด้วย