CCSCS workshop: telling stories

วิทยากร

Zhuang Wubin
writer, curator and artist

ผู้ช่วยวิทยากร

กษมาพร แสงสุระธรรม
อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การรับสมัครผู้เข้าร่วมอบรมฯ

  • รับจำนวนจำกัดเพียง 20 คน
  • เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 16-18 เมษายน 2560
  • กรอกใบสมัครได้ ที่นี่

FB event

การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการวิจัยเชิงคุณภาพทางสังคมศาสตร์
telling stories | เล่าภาพเป็นเรื่อง: วิธีวิทยาว่าด้วยการเล่าเรื่องผ่านภาพ


ในยุคสมัยที่การถ่ายภาพเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ใช่เพียงทักษะเชิงสร้างสรรค์ของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ นัยสำคัญของความเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่แค่ในเชิงปริมาณที่มีการประเมินว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ แต่ละปีมีผู้คนจากทั่วโลกถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์ดิจิทัลรวมแล้วเป็นจำนวนกว่าหนึ่งล้านล้านภาพ แต่ในมิติของความสัมพันธ์ทางสังคม แบบแผนของการถ่ายภาพและการเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกกับภาพถ่าย ได้ขยายขอบเขตของประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของภาพถ่ายในฐานะบันทึกความทรงจำ และการถ่ายภาพในฐานะรูปแบบหนึ่งของกระบวนการสร้างภาพตัวแทน มาสู่การตระหนักถึงบทบาทของภาพถ่ายในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ทางสังคม (Miller 2015) และการถ่ายภาพในฐานะที่เป็นทั้งการบันทึก การเล่าเรื่อง ตลอดจนการประกอบสร้างความเป็นบุคคลและประสบการณ์ในท่ามกลางโลกที่แวดล้อมตัวเรา

สำหรับสาขาวิชามานุษยวิทยา ภาพถ่ายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณา อันมีบทบาทเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางแนวคิด ทฤษฏี และวิธีวิทยา นอกจากภาพถ่ายและภาพยนตร์เชิงชาติพันธุ์ และสาขาย่อยที่รู้จักกันในนาม “มานุษยวิทยาทัศนา” (visual anthropology) ยังมีนักมานุษยวิทยาจำนวนไม่น้อยที่สนใจกระบวนการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนผ่านภาพถ่าย หรืออาจเรียกว่า “การถ่ายภาพเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์” (ethnographic photography) โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ทดลองพัฒนาแนวทางอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ความรู้และทักษะการวิจัยเชิงคุณภาพ ตามกระบวนการถ่ายภาพเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์ ภายใต้หัวข้อ “ย่านเก่า เล่าใหม่: อดีตร่วมสมัย และ ตลาดน้อยในความทรงจำ” ซึ่งเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวิทยากร ผู้เข้าร่วมอบรม และชุมชนในพื้นที่ดำเนินโครงการ เพื่อตอบคำถามและเปิดประเด็นอภิปรายว่าประสบการณ์การถ่ายภาพเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์จะช่วยเปิดมุมมอง ตลอดจนสามารถบันทึกและถ่ายทอดปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยอันซับซ้อนได้ลุ่มลึกและหลากหลายเพียงใด

จากการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา คณะทำงานพบว่ามีมิติเชิงวิธีวิทยาที่น่าสนใจจากการนำเสนอแนวคิดและกระบวนการอบรมโดยวิทยากร คุณจวง หวู่ปิน (Zhuang Wubin) ศิลปินภาพถ่าย ผู้มีผลงานศึกษาว่าด้วยภาพถ่าย-การถ่ายภาพกับความสัมพันธ์ทางสังคมในบริบทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการพิจารณาบทบาทของภาพถ่าย-การถ่ายภาพในการ “บันทึกเหตุการณ์” ในฐานะที่เป็นแนววิธีศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม (documenting as method) และเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่โลกเชิงประสบการณ์ (“world making”) ของผู้ถ่ายภาพ หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวในภาพถ่าย และสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในกระบวนการคัดสรรภาพเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว (“photo editing”)

คณะทำงานจึงมีความเห็นสอดคล้องกันว่าสมควรพัฒนาแนวทางของโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ความรู้และทักษะการวิจัยเชิงคุณภาพในปี 2560 นี้ โดยเน้นมิติของการจัดการกับภาพถ่ายและการถ่ายภาพในฐานะที่เป็นเครื่องมือหลักในกระบวนคิดเพื่อพัฒนาคำถามและเชื่อมโยงกรอบการทำความเข้าใจ/คำอธิบายเกี่ยวกับผู้กระทำ (คน/ไม่ใช่คน) ความสัมพันธ์ทางสังคม ในบริบทเฉพาะทางสังคมวัฒนธรรม โดยไม่จำกัดพื้นที่เชิงกายภาพและประเด็นนำเสนอ เพื่อส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมอบรมฯ เกี่ยวกับศักยภาพ ข้อจำกัด ตลอดจนประเด็นท้าทายเชิงวิธีวิทยาของภาพถ่ายและการถ่ายภาพในฐานะที่เป็นเครื่องมือการวิจัยเชิงคุณภาพ

 


กำหนดการ

  • 21 เมษายน | Documenting as Method
    • ห้องประชุมโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
      ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
  • 22 เมษายน | Collecting Stories | การฝึกปฏิบัติภาคสนามตามความสนใจของผู้เข้าร่วมอบรมฯ
  • 23 เมษายน | Photo Editing
    • ห้องประชุมโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
      ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
CCSCS research
โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
international network
ความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ
workshops
สัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านวิธีวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
media
สื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย