CCSCS workshop: Path & Regression Analysis (โปรแกรม R)

กำหนดการ

  • วันพุธที่ 5 เมษายน 2560
  • ห้องส่งเสริมการรู้สารสนเทศ (IL2)
    ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์
    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วิทยากร

อาจารย์อัครนัย ขวัญอยู่
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้ช่วยวิทยากร

ชนัญญา ประสาทไทย
นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

FB event

การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการวิจัยเชิงปริมาณทางสังคมศาสตร์
หลักสูตร “การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติสำหรับการวิเคราะห์การถดถอย
(Regression Analysis) และ การวิเคราะห์เส้นทาง (Path Analysis)” ครั้งที่ 2


ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย มีภารกิจสำคัญประการหนึ่งในการเสริมสร้างศักยภาพการวิจัยเพื่อการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมแก่นักศึกษา นักวิชาการ และบุคลากรด้านการวิจัยในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนับจากปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นมา ศูนย์ฯ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมความรู้เชิงวิธีวิทยา ทั้งวิธีวิจัยเชิงปริมาณและวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เนื่องจากตระหนักถึงความจำเป็นและความต้องการของนักศึกษา นักวิชาการ และบุคลากรด้านการวิจัย ที่ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อพัฒนาทักษะและความชำนาญในการใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างครบถ้วน และเพียงพอสำหรับการตอบคำถามวิจัยได้อย่างรอบด้าน

ปัจจุบัน การใช้เครื่องมือในทางคณิตศาสตร์โดยเฉพาะความรู้ทางสถิติมีบทบาทสำคัญในกระบวนการวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) ของการศึกษาทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์  ตลอดจนมีการปรับใช้เครื่องมือทางสถิติเพื่อการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโดยองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยส่วนใหญ่เน้นใช้แนววิเคราะห์เชิงสถิติเพื่อการทดสอบสมมุติฐานการวิจัย 2 แนวทางหลักๆ ได้แก่ 1) การวิเคราะห์แบบสองตัวแปร (Bivariate Analysis) เช่น Chi-square T-Test หรือ F-Test และ 2) การวิเคราะห์เชิงพหุตัวแปร (Multivariate Analysis) เช่น Linear Regression หรือ Path Analysis

การวิเคราะห์เชิงพหุตัวแปรเป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญในการทดสอบสมมติฐานการวิจัยทางสังคมศาสตร์ในการศึกษาระดับสูง โดยเฉพาะการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา เนื่องจากสถิติดังกล่าวสามารถระบุความสัมพันธ์เชิงสาเหตุในลักษณะ Causal Relationship Model และสามารถวัดอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรอิสระ (Independent Variable) ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตาม (Dependent Variable) ได้ โดยในปัจจุบันการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพหุตัวแปรสามารถอาศัยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ (Statistical Package) เช่น SPSS for Windows, STATA หรือโปรแกรมโอเพนซอร์สอย่าง PSPP มาเป็นเครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีความถูกต้องแม่นยำสูง

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการวิจัยเชิงปริมาณทางสังคมศาสตร์ หลักสูตร “การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติสำหรับการวิเคราะห์การถดถอย (Regression Analysis) และ การวิเคราะห์เส้นทาง (Path Analysis)” โดยผลการประเมินแสดงให้เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านจำนวนและความหลากหลายทางอาชีพของผู้เข้าร่วมอบรมฯ  นอกจากนี้ ยังประสบผลสำเร็จในด้านความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวคือ ประการแรก มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมตามจำนวนที่คาดหมายไว้ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 26 คน ทั้งที่สังกัดหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี/โท/เอก ข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย ผู้ช่วยวิจัย นักวิชาการ เจ้าหน้าที่งานบัณฑิตศึกษา และนักสังคมสงเคราะห์ ขณะที่ผู้เข้าร่วมที่สังกัดหน่วยงานภาคเอกชน เช่น บุคคลากรในสายงานบริหารและงานวิจัย นักศึกษาที่กำลังศึกษาต่อ ผู้ประกอบธุรกิจส่วนบุคคล เป็นต้น ประการที่สอง การประเมินการใช้ประโยชน์ ความรู้ความเข้าใจ และความพึงพอใจที่ผู้เข้ามร่วมกิจกรรมมีต่อโครงการฯ มีคะแนน 9.16 คะแนน (เต็ม 10) โดยผู้เข้าร่วมอบรมฯ มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มการแสดงตัวอย่างขั้นสูงประกอบเพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้งานจริง นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานที่จัดการอบรมฯ ซึ่งมีปัญหาเล็กน้อยเกี่ยวกับระบบปรับอากาศ ซึ่งฝ่ายประสานงานการจัดอบรมฯ จะได้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจัดหาสถานที่จัดอบรมฯ ที่เหมาะสมมากขึ้นต่อไป

จากผลการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในปีที่ผ่านมา ฝ่ายบริการวิชาการ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จึงเห็นควรให้ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการวิจัยเชิงปริมาณทางสังคมศาสตร์ “การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติสำหรับการวิเคราะห์การถดถอย (Regression Analysis) และ การวิเคราะห์เส้นทาง (Path Analysis)” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการและการใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูปด้านการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพด้านการวิจัยของนักศึกษา นักวิชาการ และบุคลากรด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ให้สามารถพัฒนาการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

CCSCS research
โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
international network
ความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ
workshops
สัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านวิธีวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
media
สื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย