หนึ่งทศวรรษมานุษยวิทยาและสังคมวิทยากับการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย (2560)

บรรณาธิการ

  • อนุสรณ์ อุณโณ

ผู้ช่วยบรรณาธิการ

  • วิภาวี พงษ์ปิ่น

ผู้เขียน

  • ชลิตา บัณฑุวงศ์

  • ซากีย์ พิทักษ์คุมพล

  • ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

  • เอกรินทร์ ต่วนศิริ

 

video

  • บันทึกวิดีโอจากการเสวนา ชวนถก “หนึ่งทศวรรษจังหวัดชายแดนใต้ศึกษา”

เกี่ยวกับหนังสือ


เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ที่ปะทุขึ้น “อย่างเป็นทางการ” ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์งานศึกษาเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสำคัญ จากเดิมที่มีจำนวนไม่มากตามจำนวนของเหตุการณ์ความไม่สงบที่ลดลงในทศวรรษก่อนหน้า งานเขียนเกี่ยวกับชายแดนภาคใต้ในทศวรรษที่ผ่านมาได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากตามจำนวนของเหตุการณ์ กระทั่งเกิดการเปรียบเปรยเชิงเสียดสีประชดประชันว่าเป็น “อุตสาหกรรมการวิจัย”

อย่างไรก็ดี แม้จะมีจำนวนมาก ทว่างานเขียนเหล่านี้ก็มีลักษณะกระจุกตัวในเชิงประเด็นปัญหา เพราะส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ตัวเหตุการณ์เป็นหลัก โดยมุ่งตอบคำถามว่าเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เหตุใดจึงทวีจำนวนขึ้น ใครอยู่เบื้องหลัง และมีความต้องการอะไร ทว่าจะไม่สู้กล่าวถึงชึวิตคน โดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิมที่อยู่ภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบมากนัก ทั้งที่คนเหล่านี้คือผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐไทยพุทธดังในช่วง 2-3 ทศวรรษก่อนหน้า นอกจากนี้ งานศึกษาเหล่านี้มีลักษณะกระจุกตัวในเชิงสาขาวิชา ส่วนใหญ่เป็นงานศึกษาทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในปัจจุบันมีสาเหตุสำคัญมาจากเหตุการณ์ในอดีต ส่วนงานอีกกลุ่มที่มีจำนวนใกล้เคียงกัน คืองานศึกษาด้านรัฐศาสตร์ เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบในแง่หนึ่งคือปัญหาทางการเมือง ขณะที่งานศึกษาทางมานุษยวิทยารวมทั้งสังคมวิทยากลับมีจำนวนไม่มาก ทั้งที่เหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนสามัญ ซึ่งเป็นประเด็นศึกษาของสาขาวิชาเหล่านี้โดยตรง

....

บทความ 4 ชิ้นในหนังสือเล่มนี้มุ่งพิจารณาว่าในรอบทศวรรษนับจากเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ (พ.ศ.2547-2557) มีงานศึกษาด้านมานุษยวิทยารวมถึงสังคมวิทยา และสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างไร บทความแต่ละชิ้นมุ่งสำรวจในประเด็นเฉพาะ ทว่ามีความคาบเกี่ยวเหลื่อมซ้อนกันในระดับหนึ่ง โดยบทความของศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ สำรวจงานศึกษาด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะประเด็นชาติพันธุ์และศาสนา บทความของซากีย์ พิทักษ์คุมพล สำรวจงานศึกษาเกี่ยวกับความขัดแย้ง ซึ่งใกล้เคียงกับบทความของเอกรินทร์ ต่วนศิริ ที่สำรวจประเด็นงานศึกษาประเด็นการเมือง ส่วนบทความของชลิตา บัณฑุวงศ์ สำรวจงานศึกษาประเด็นเศรษฐกิจและมีความจำเพาะในแง่ที่นำเสนองานศึกษาของเธอมาร่วมสนทนาหรือวิพากษ์วิจารณ์งานศึกษาหมวดนี้ไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งคล้ายคลึงกับบทความของศรยุทธ เนื่องจากผู้เขียนทั้งสองต่างดำเนินการวิจัยและเขียนงานเกี่ยวกับจังหวัดชานแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง

บทความเหล่านี้ได้รับการนำเสนอในงานสัมมนาประจำปีของศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "หนึ่งทศวรรษมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา กับการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้" เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557 ซึ่งนอกจากการนำเสนอบทความประกอบการให้ความเห็นแล้ว กิจกรรมในงานยังประกอบด้วยการเสวนา 2 หัวข้อ คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิจัย และ การประเมินสถานะความรู้และแนวทางการพัฒนาการวิจัยทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหลังจากการนำเสนอและรับฟังความเห็นในงานสัมมนา บทความเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไข และส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา ก่อนปรับแก้เป็นบทความฉบับสมบูรณ์ดังปรากฏในหนังสือเล่มนี้


อ่านออนไลน์ (คลิกที่ชื่อบทความ)



หนึ่งทศวรรษมานุษยวิทยาและสังคมวิทยากับการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 ต้นฉบับ เว้นแต่ระบุไว้เป็นอย่างอื่น

CCSCS research
โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
international network
ความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ
workshops
สัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านวิธีวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
media
สื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย