ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย

โครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการ
ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

26 พฤศจิกายน 2562 | 13.30-17.30

ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

กำหนดการ

  • 13.30-13.45 | ลงทะเบียน
  • 13.45-14.00 | กล่าวเปิดงาน
    • รศ.ดร.เรณู สุขารมณ์
      ผู้อำนวยการภารกิจจัดการโครงการที่กำลังดำเนินการ
      สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
  • 14.00-17.00 | เสวนาวิชาการ “ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย
    • ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล
      ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
      คณะวิศวกรรมศาสตร์
      มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    • ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
      ศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี
      คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ
      คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
      ภาควิชาการปกครอง
      คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต
      ภาควิชาวารสารสนเทศ
      คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร 
      คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
      มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • ร่วมอภิปราย-แลกเปลี่ยนโดย
      • วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง
        โครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา
        สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
  • 17.00-17.30 | ตอบคำถามและแลกเปลี่ยนกับผู้ร่วมเสวนา

FB event

ใบปิด: สรัช สินธุประมา

เสวนาวิชาการ "ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย"


พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) มีนัยสำคัญไม่เฉพาะในแง่ของ “การปฏิวัติ” ที่นำมาสู่เทคโนโลยีอันเป็นพื้นฐานของนวัตกรรมอย่างอินเทอร์เน็ต ซึ่งเปิดโอกาสให้กับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสื่อสาร เช่น การสื่อสารข้ามพรมแดนที่เปิดกว้างต่อการเข้าถึงมากขึ้นเนื่องจากต้นทุนลดลงอย่างมหาศาล การสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์ (interactive communication) ฯลฯ แต่ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงแบบแผนทางสังคมวัฒนธรรมและการปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย ดังที่บทสำรวจประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับ “อินเทอร์เน็ตศึกษา” (internet studies) (Livingstone 2005) ได้ชี้ให้เห็นมิติที่แตกต่างจากเทคโนโลยีสื่อสารแบบเดิม ซึ่งทำให้อินเทอร์เน็ตถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1) อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่หลอมรวมทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่เข้าด้วยกัน (recombinant) 2) รูปแบบการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตอำนวยให้การจัดโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนสู่รูปแบบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายมากขึ้น (networked) ดังที่มานูเอล คาสเทลส์ (Manuel Castells) เสนอคำเรียกว่า “สังคมเครือข่าย” (network society) (Castells 1996) 3) อินเทอร์เน็ตและผลสืบเนื่องของมัน มีความครอบคลุมทั่วทุกหนแห่ง (ubiquitous) และ 4) ผู้ใช้กลายเป็นผู้ผลิตสร้างและมีปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายข้อมูล บุคคล สถาบัน ฯลฯ (interactive) ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจ (Livingstone 2005)

อย่างไรก็ดี ในความรับรู้โดยทั่วไป เทคโนโลยีดิจิทัลมีแนวโน้มจะตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกับอีกหลายๆ รูปแบบของการพัฒนาในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะในแง่ที่มักมีการเชื่อมโยงการตัดสินคุณค่าเข้ากับบรรทัดฐานทางสังคมและจริยธรรม ซึ่งในขณะเดียวกันก็เปิดประเด็นคำถามและถกเถียงที่ท้าทายสำหรับการศึกษาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ตทำให้โลกของเรากว้างขึ้นหรือแคบลง? กระแสนิยมถ่ายภาพแบบเซลฟี่และอัลกอริธึมของสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายกำลังลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราจริงหรือ? แม้ดูเหมือนว่าสมาร์ตโฟนจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการรายย่อย แต่ก็มีความกังวลว่าปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) จะทำให้คนส่วนใหญ่ตกงาน หรือ การสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอาจไม่ได้ผลักให้เราแปลกแยกจากสังคม แต่กลับมีบทบาทเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง โดยเฉพาะในการเคลื่อนไหวผลักดันการจัดการปัญหาแห่งยุคสมัยอย่างสุขภาวะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ

นอกจากความหลากหลายของประเด็นคำถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลในฐานะที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมแล้ว แนวทางในการทำความเข้าใจเพื่อตอบคำถามดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ของหลากหลายสาขาวิชา นักวิชาการมีแนวโน้มจะขยับขยายพรมแดนความรู้ของตนเพ่ือทำความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน ทำให้งานศึกษาว่าด้วยดิจิทัลกับสังคมมีลักษณะเป็นสหวิทยาการ (interdisciplinary) หรือ ข้ามศาสตร์ (transdisciplinary) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงสะท้อนความสนใจและแนววิธีศึกษาเฉพาะสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา นิเทศศาสตร์ รวมถึงคอมพิวเตอร์ศึกษา วิทยาศาสตร์สารสนเทศ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ เช่น นักเศรษฐศาสตร์สนใจศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) รัฐศาสตร์และสังคมวิทยาสนใจศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (new social movement) หรือการจัดโครงสร้างหรือสถาบันทางสังคมที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายดิจิทัลมากขึ้น จิตวิทยาสนใจศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของอินเทอร์เน็ตต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น

ในแง่วิธีวิทยา มีความพยายามพัฒนาระเบียบวิธีใหม่ๆ โดยในด้านหนึ่งเป็นการเชื่อมโยงศักยภาพของเครื่องมือดิจิทัลเพื่อศึกษาชีวิตทางสังคมที่ยึดโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล ดังสะท้อนให้เห็นในนิยามใหม่ๆ ของกลุ่มสาขาวิชา เช่น มนุษยศาสตร์ดิจิทัล (digital humanities) หรือ สังคมศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์ (e-social sciences) ซึ่งครอบคลุมแนววิธีวิจัยต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data analytics) การวิเคราะห์เครือข่ายเว็บ (websphere analysis) ภาษาศาสตร์เชิงคำนวณ (computational linguistics) ฯลฯ ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการเชื่อมโยงจุดเด่นของระเบียบวิธีเฉพาะสาขาวิชาเพื่อทำความเข้าใจผลสืบเนื่องของความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น ชาติพันธุ์วรรณนาดิจิทัล (digital ethnography) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิธีวิทยาในการศึกษาวิจัยอย่างเป็นองค์รวม ให้ความสำคัญกับการพิจารณาเทคโนโลยีดิจิทัลในบริบททางสังคมวัฒนธรรม และเผยให้เห็นมิติอันซับซ้อนย้อนแย้งของการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานและผลสืบเนื่องของการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ การศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนาแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทขัดแย้งกัน เช่น ในขณะที่นักกิจกรรมทางสังคมอาจมีความหวังว่าสื่อสังคมออนไลน์จะเสริมสร้างความตื่นตัวทางการเมือง แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมก็อาจใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกลไกสนับสนุนการกดบังคับโดยรัฐได้ หรือในขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างเงื่อนไขสนับสนุนกระบวนการผลิตสร้างดนตรีเป็นสินค้ามวลชน แต่ขณะเดียวกันก็เอื้อต่อวัฒนธรรมบริโภคที่ยึดโยงกับประสบการณ์เชิงอารมณ์ของปัจเจกด้วยเช่นกัน (Miller 2018)

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการริเริ่มวารสารวิชาการนานาชาติที่ตีพิมพ์บทความในประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตกับสังคม เช่น Network of Centers (NoC) ซึ่งส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสถาบันวิจัยในทุกภูมิภาคของโลกกับผู้มีส่วนได้เสียในโลกที่เชื่อมร้อยกันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลจากการสืบค้นโดยโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษาฯ พบว่าการศึกษาในประเด็นดิจิทัลกับสังคมยังขาดแคลนทั้งในเชิงองค์ความรู้และในเชิงสถาบัน กล่าวคือ นอกจากสัดส่วนของการตีพิมพ์บทความในประเด็นดังกล่าวยังมีค่อนข้างน้อยแล้ว ปัจจุบัน NoC ยังมีสมาชิกจากประเทศไทยเพียงหน่วยงานเดียว ได้แก่ ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังไม่พบหน่วยงานวิจัยที่มีขอบข่ายความสนใจครอบคลุมประเด็นศึกษาที่หลากหลายและมีลักษณะข้ามศาสตร์ดังที่กล่าวถึงในตอนต้น

งานสำรวจวรรณกรรมของโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษาฯ จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการสำรวจสถานะองค์ความรู้และข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นหลักๆ ของการศึกษาวิจัยว่าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตกับสังคม อันได้แก่ 1) การเคลื่อนไหวทางสังคมและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในยุคดิจิทัล 2) เด็กและเยาวชนกับอินเทอร์เน็ต 3) รัฐบาลในยุคดิจิทัล 4) เสรีภาพในการแสดงออกและการกำกับดูแลเนื้อหาในยุคดิจิทัล 5) ความเป็นกลางทางเครือข่าย และ 6) ความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนากรอบแนวคิดและเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับงานศึกษาในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดพื้นที่สนทนากับแนววิธีศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชาอีกด้วย

โครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดพื้นที่สนทนาดังกล่าว จึงร่วมมือกับโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษาฯ จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ “ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย” เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยได้รับความสนับสนุนจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากพหุสาขาวิชา ได้แก่ นิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และเศรษฐศาสตร์ มาร่วมแนะนำประเด็นศึกษาและแนวโน้มความสนใจของแต่ละสาขาวิชา นอกจากนี้ ยังจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความเป็นไปได้และแนวทางพัฒนาความร่วมมือสู่การจัดตั้งเครือข่ายวิจัยระดับชาติด้านดิจิทัลศึกษาต่อไปอีกด้วย


Castells, M. 1996. The Rise of Network Society. Oxford: Blackwell Publishers.
Livingstone, S. 2005. “Critical Debates in Internet Studies: Reflections on an Emerging Field.” In J. Curran and M. Gurevitch (eds), Mass Media and Society (4th edition). London: Hodder Arnold.
Miller, D. 2018. “Digital Anthropology.” The Cambridge Encyclopaedia of Anthropology. 28 August 2018. http://doi.org/10.29164/18digital

CCSCS research

โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย

international network
ความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ
workshops
สัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านวิธีวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
media

สื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย