workshop | 23 January 2018 | digital anthropology

Faculty of Sociology 
and Anthropology,
Thammasat Univesity

สัมมนาเชิงปฏิบัติการว่าด้วยแนวการศึกษา
Digital Anthropology

Professor Daniel Miller | Department of Anthropology, UCL

Tuesday, 23 January 2018 | 10.00-17.00

  • 10.00-13.00: "digital anthropology and what it means to be human"
  • 14.00-17.00: "from the anthropology of social media to the anthropology of smartphones"
PhD programme meeting room,
Faculty of Sociology and Anthropology,
4th floor, Faculty of Social Administration building, Thammasat University, Tha Prachan
 
ห้องประชุมโครงการปริญญาเอก
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
 

admission

FB event

image: P-62 (floating points)
by Manfred Mohr (1970)
© Victoria and Albert Museum, London
 

ทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคำว่า "สื่อดิจิทัล" แต่อาจมีไม่มากนักที่ตระหนักว่าสื่อดิจิทัลเป็นปริมณฑลที่เชื่อมโยงการทำงานของเทคโนโลยีหลากหลายระดับและรูปแบบ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กระบวนการพัฒนาซอฟท์แวร์ ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ทั้งหลาย เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าโลกที่เชื่อมโยงกันด้วยสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมีความซับซ้อนและไม่จำกัดพื้นที่ และดังนั้น จึงเป็นประเด็นท้าทายสำหรับการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณา

ในบทความปริทัศน์ที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.2010 กาเบรียลา โคลแมน (E. Gabriella Coleman) ได้ทบทวนงานศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยสื่อดิจิทัล ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องภายหลังทศวรรษ 1990 มาแล้ว โดยจำแนกออกเป็นสามกลุ่มตามกรอบการวิเคราะห์ ได้แก่ งานที่สนใจบทบาทของสื่อดิจิทัลในการสร้างภาพตัวแทนทางวัฒนธรรม (the cultural politics of digital media) งานที่สนใจนัยเฉพาะเชิงภาษาและวัฒนธรรมของสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล (the vernacular cultures of digital media) และงานที่สนใจวิถีปฏิบัติและประสบการณ์ในระดับชีวิตประจำวันที่สัมพันธ์กับสื่อดิจิทัล (the prosaics of digital media) ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต ปรับเปลี่ยน และการใช้งานสื่อดิจิทัล รูปแบบเฉพาะของการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัล ตลอดจนวิภาษวิธีระหว่างเงื่อนไขเชิงอุดมการณ์และเชิงกายภาพกับการประกอบสร้างเทคโนโลยีดิจิทัล

ทั้งนี้ โคลแมนเสนอว่างานศึกษาที่จะสามารถเชื่อมโยงนัยสำคัญของสื่อดิจิทัลในวงกว้างได้ ควรบูรณาการกรอบการวิเคราะห์ที่หลากหลาย ให้ความสำคัญกับมิติเชิงประวัติศาสตร์ บริบทในระดับท้องถิ่น ตลอดจนประสบการณ์ในระดับชีวิตประจำวันของผู้คนที่สัมพันธ์กับสื่อดิจิทัล อันเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณา (Coleman 2010, 488-489)

ประเด็นดังกล่าวได้รับการพัฒนาในหนังสือที่นำเสนอแนวทางการศึกษาที่เรียกว่า "มานุษยวิทยาดิจิทัล" (Digital Anthropology) ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ.2012 (Horst and Miller [eds.] 2012) ในบทนำโดยบรรณาธิการของหนังสือดังกล่าว แดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller) และ เฮทเธอร์ ฮอร์สท์ (Heather A. Horst) ได้เสนอหลักพื้นฐานหกประการซึ่งประกอบกันเป็นคำถามและความสนใจหลักของมานุษยวิทยาดิจิทัล ได้แก่

  • หลักวิภาษวิธีในการพัฒนานิยามพื้นฐานของ "ดิจิทัล" (defining the digital through the dialectic)
  • หลักวิพากษ์การอ้างสรุปถึง "ความจริงแท้" ของ "วัฒนธรรม" (culture and the principle of false authenticity)
  • หลักการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม: บูรณาการเชิงวิธีวิทยา (transcending method through the principle of holism)
  • หลักสัมพัทธ์นิยม: การศึกษาเชิงเปรียบเทียบกับการตระหนักถึงเสียงของคนเล็กคนน้อย (voice and the principle of relativism)
  • หลักความเปิดกว้างและการปิดกั้น: คู่ความสัมพันธ์อันคลุมเครือในโลกดิจิทัล (ambivalence and the principle of openness and closure)
  • หลักวัตถุสภาวะ: การเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีกับการผลิตซ้ำแบบแผนความสัมพันธ์ตามบรรทัดฐานทางสังคมในโลกดิจิทัล (normativity and the principle of materiality)

หลักพื้นฐานทั้งหกประการนี้ เป็นการเปิดประเด็นให้เราได้ทบทวนว่าชุดของการปฏิบัติต่างๆ ในโลกดิจิทัล อาจเป็นทั้งสิ่งใหม่ที่เราไม่สามารถคาดการณ์มาก่อน หรือมีความเชื่อมโยงกับแบบแผนดั้งเดิม หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ท้าทายให้เราพิจารณาโลกดิจิทัลในฐานะปริมณฑลสำคัญที่จะช่วยให้เราได้ใคร่ครวญถึงความหมายของการเป็นมนุษย์ อันเป็นภารกิจหลักของการศึกษาทางมานุษยวิทยา อย่างไรก็ดี แม้การนำเสนอหลักพื้นฐานดังกล่าวอาจมีลักษณะของการสร้างคำอธิบายในภาพรวม แต่มานุษยวิทยาดิจิทัลจะต้องไม่ละเลยมิติของความหลากหลาย สัมพัทธ์นิยม ตลอดจนการสร้างความต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นคุณูปการพื้นฐานอันสำคัญของมุมมองทางมานุษยวิทยาในการทำความเข้าใจชีวิตมนุษย์และสังคมวัฒนธรรม

ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการว่าด้วยแนวการศึกษา Digital Anthropology นี้ ศาสตราจารย์มิลเลอร์จะได้แนะนำและร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหลักพื้นฐานหกประการของมานุษยวิทยาดิจิทัล โดยเฉพาะในแง่ที่แนวการศึกษาจะเปิดโอกาสให้เราได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับความหมายของการเป็นมนุษย์ ตลอดจนจะได้แนะนำงานศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวทางดังกล่าวจากชุดโครงการวิจัยว่าด้วยสื่อเครือข่ายทางสังคม และประเด็นวิจัยล่าสุดว่าด้วยมนุษยภาวะและความเป็นสังคมในสมาร์ทโฟน


required readings

  • Miller, Daniel and Heather A. Horst. 2012. "Introduction: the digital and the human." In Digital Anthropology, edited by Heather A. Horst and Daniel Miller, 3-35. London: Berg.
  • Miller, Daniel, Elisabetta Costa, Nell Haynes, Tom McDonald, Razvan Nicolescu, Jolynna Sinanan, Juliano Spyer, Shriram Venkatraman and Xinyuan Wang. 2016. "Academic Studies of Social Media." In How the World Changed Social Media, 9-24. London: UCL Press.

suggested readings


Daniel Miller is Professor of Anthropology at University College London and a Fellow of the British Academy. He has written and edited more than thirty books. Recent volumes in the field of Digital Anthropology include How the World Changed Social Media (with 8 others, 2016), Social Media in an English Village (2016), Digital Anthropology (ed. with Heather Horst, 2012), Migration and New Media (with Mirca Madianou, 2012). He has led the Why We Post project with funding from the European Research Council (ERC) and his current ERC-funded project is The Anthropology of Smartphones and Smart Ageing (ASSA).

แดเนียล มิลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา ประจำภาควิชามานุษยวิทยา ยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจ ลอนดอน (UCL) และได้รับคัดเลือกเป็น เมธีวิจัยสาขามานุษยวิทยา British Academy ใน ค.ศ. 2008  ศาสตราจารย์มิลเลอร์เป็นผู้เขียนและบรรณาธิการหนังสือกว่าสามสิบเล่ม ในจำนวนนี้เป็นงานศึกษาด้านมานุษยวิทยาดิจิทัลเช่น How the World Changed Social Media (with 8 others, 2016), Social Media in an English Village (2016), Digital Anthropology (ed. with Heather Horst, 2012), Migration and New Media (with Mirca Madianou, 2012) เป็นต้น ชุดโครงการวิจัย Why We Post ที่กล่าวถึงในการบรรยายครั้งนี้ เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสภาวิจัยแห่งยุโรป (ค.ศ.2012-2017) ปัจจุบัน ศาสตราจารย์มิลเลอร์ได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งยุโรปให้ดำเนินชุดโครงการวิจัยใหม่ ได้แก่ The Anthropology of Smartphones and Smart Ageing (ASSA) (ค.ศ.2017-2022)