ชุดโครงการเสวนาวิชาการ “สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง”

ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

1 กันยายน 2563 | 13.30-16.30

รัฐไทยกับผู้ลี้ภัยในเขตเมือง

อาจารย์ ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง
ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[slides]

ดำเนินรายการโดย
ผศ.ศุภลักษณ์ พรกุลวัฒน์
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

8 กันยายน 2563 | 13.30-16.30

ประสบการณ์เชิงผัสสะของการมีส่วนร่วมในเมือง

อาจารย์ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
ภาคสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดำเนินรายการโดย
รศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

22 กันยายน 2563 | 13.30-16.30

ความเปราะบางของผู้อยู่อาศัยในสลัมและบ้านเช่า

รศ. ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง
ภาควิชาการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย
รศ. ดร. นฤมล นิราทร
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ. ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
ภาควิชาการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดำเนินรายการโดย
ผศ. ดร. เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

29 กันยายน 2563 | 13.30-16.30

วิถีทางชีวิตชุมชนริมทางรถไฟ:
ฤาโครงการมา ถึงคราต้องไป

ผศ. ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณเชาวน์ เกิดอารีย์
ประธานชุมชนบุญร่มไทร (เพชรบุรี ซอย 5)
คุณอัภยุทย์ จันทรพา
กลุ่มปฏิบัติการคนจนเมือง

ดำเนินรายการโดย
อาจารย์ ดร. เอกสิทธิ์ หนุนภักดี
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


FB event

ใบปิด: สรัช สินธุประมา

ผู้ประสานงานชุดโครงการเสวนาวิชาการ: อาจารย์ ดร.ประกีรติ สัตสุต


ความเป็นเมืองกำลังกลายเป็นลักษณะพื้นฐานที่สำคัญของชีวิตสังคมร่วมสมัย จากรายงาน the 2018 Revision of World Urbanization Prospects ที่จัดทำโดยหน่วยประชากร สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง สหประชาชาติ (the UN Department of Economic and Social Affairs: UN DESA) การขยายตัวของประชากรโลกเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาทั้งในระดับสากลและท้องถิ่น เพราะไม่เพียงแต่จำนวนประชากรในโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 751 ล้านคนในปีพ.ศ. 2493 จนถึงจำนวน 4.2 ล้านคนในปีพ.ศ. 2561 แต่ยังมีการประมาณการว่าประชากรในภาคเมืองจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ของแค่เพียงไม่กี่ประเทศ โดยภูมิภาคเอเชียได้รับการคาดคะเนว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรในภาคเมืองมากถึงร้อยละ 54 ของประชากรในภาคเมืองทั้งโลก ตามหลังมาด้วยทวีปยุโรปและแอฟริกา (UN 2018) และในขณะเดียวกัน เมืองในประเทศกำลังพัฒนาถูกคาดการว่าจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญซึ่งรองรับการขยายตัวของประชากรในภาคเมืองกว่าร้อยละ 96 ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2556-2573 ของจำนวนประชากรในภาคเมืองทั้งหมด (World Bank 2013)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการขยายตัวของการเป็นเมืองและจำนวนประชากรที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่สำคัญต่อชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่ แต่พัฒนาการดังกล่าวกลับมาพร้อมกับการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรและการเบียดขับประชากรจำนวนมากออกจากความจำเริญและการเติบโตของเมือง เพราะในด้านหนึ่ง แม้การขยายตัวเชิงกายภาพของเมืองจะเป็นคู่ขนานไปกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ แต่ทิศทางและเนื้อหาของการพัฒนาไม่ได้ถูกกำหนดโดยกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าร่วมและมีบทบาทอย่างเท่าเทียม และการพัฒนาเมืองกลับกระจุกตัวอยู่กับการตัดสินใจของผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ พัฒนาการของเมืองจึงไม่ตอบสนองต่อคนทุกกลุ่ม และมีผลให้กลุ่มประชากรที่ไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองต้องกลายมาเป็นผู้รับภาระจากการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ความยากจนและเหลื่อมล้ำ และการเข้าถึงบริการสาธารณะ ในขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้จำกัดตัวอยู่แค่เพียงประเทศกำลังพัฒนาแต่เพียงเท่านั้น หลายเมืองในโลกตะวันตกเองกำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอยู่ด้วยเช่นกัน เพราะแม้เมืองในโลกตะวันตกหลายเมืองสามารถจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากร และการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ยังมีอีกหลายเมืองอีกเช่นกันที่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรและการถูกกดทับทางสังคมได้นำไปสู่ความขัดแย้งแบบเผชิญหน้า เช่น ในกรณีของการประท้วงต่อต้านความรุนแรงของตำรวจและการเหยียดผิวในหลายเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

แนวคิดเรื่อง “สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง” (the right to the city) เป็นแนวคิดร่วมสมัยที่สำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์และการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจและการเข้าถึงทรัพยากรของภาคเมืองในปัจจุบัน กรอบแนวคิดดังกล่าวมีข้อเสนอว่า ในเบื้องต้นแล้ว สิทธิในการอยู่อาศัยและเข้าถึงทรัพยากรของเมืองเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ที่อาศัยในเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีหลักแหล่งที่ได้รับการรับรองหรืออาจจะไม่ได้รับรองด้วยกฎหมายและเอกสารของราชการ และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ผู้ที่อาศัยในเมืองมีสิทธิในการกำหนดว่าชีวิตของเมืองควรมีรูปร่างและลักษณะแบบไหนตามทัศนคติของพวกเค้าเอง โดยกระบวนการดังกล่าวพึงกระทำได้ผ่านสิทธิในการมีส่วนร่วมและการลงมือแก้ไขปัญหาตามคุณลักษณะของพลเมือง ข้อสมมุติฐานประการหนึ่งของแนวคิดนี้จะได้แก่ความเชื่อที่ว่า การสร้างการมีส่วนร่วมในเมืองให้เกิดขึ้นได้จริงระหว่างผู้มีส่วนได้เสียตัวจริงจะมีผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาการเบียดขับทางสังคมและความขัดแย้งที่ตรงจุด และบ่มเพาะวัฒนธรรมและเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อสังคมประชาธิปไตย โดยในบริบทของสังคมไทยเอง เมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างกรุงเทพมหานครก็มีประสบการณ์ความขัดแย้งระหว่างชุมชนและอำนาจรัฐที่ยังดำเนินมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของการไล่รื้อชุมชนเก่า เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ หรือการเวนคืนชุมชนในตัวเมืองเพื่อโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และการไล่ชุมชนข้างทางรถไฟเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานพัฒนาพื้นที่ โดยที่ภาครัฐไม่มีแผนการเยียวยาและช่วยเหลือที่จะเข้ามารองรับประชากรจำนวนหลายพันที่ต้องสูญเสียบ้านและศักยภาพในการทำมาหาเลี้ยงตน

ชุดโครงการเสวนาวิชาการนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมเสวนาวิชาการ 4 ครั้ง ดำเนินการภายในช่วงเดือนกันยายน 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ทั้งในเชิงความรู้และเชิงปฏิบัติการ ในด้านหนึ่ง โครงการเสวนาต้องการที่จะเปิดพื้นที่ให้ข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องของสิทธิในการมีส่วนร่วมในเมืองด้วยการนำเสนองานวิชาการร่วมสมัยซึ่งมีหัวข้อที่เกี่ยวเนื่องโดยตรง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพลวัตรของแนวคิดสิทธิในการมีส่วนร่วมในเมืองในแวดวงวิชาการของไทย โดยหัวข้อของการนำเสนอจะมีตั้งแต่เรื่องสิทธิของผู้ลี้ภัยในเมือง คนจนเมือง และผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐในภาคเมือง และในอีกด้านหนึ่ง กิจกรรมเสวนาของในโครงการยังเปิดโอกาสให้ฝ่ายปฏิบัติการที่ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ รวมถึงตัวผู้ได้รับผลกระทบเอง โดยหนึ่งในกิจกรรมจะเป็นการเสวนาที่มีเครือข่ายของฝ่ายปฏิบัติการ ผู้เสียหาย และฝ่ายวิชาการ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมอง รวมไปถึงระดมความคิดจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำไปสังเคราะห์เป็นข้อเสนอผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่ผู้อยู่อาศัยไม่ถูกเบียดขับออกจากชีวิตของเมืองแห่งนั้น พร้อมไปกับการสร้างบทสนทนาให้เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายวิชาการและฝ่ายปฏิบัติการ

CCSCS research

โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย

international network

ความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ

workshops

สัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านวิธีวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

media

สื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย