ชวน “homo ludens” มา “เล่น” สงกรานต์

สายพิณ ศุพุทธมงคล


saipin songkran pic 1
ภาพ: สายพิณ ศุพุทธมงคล

1. “เล่น” สงกรานต์

ตั้งแต่ทำงาน สงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าตื่นแต่เช้า จัดการธุระส่วนตัวอย่างไม่อิดเอื้อน แล้วรีบออกจากบ้านไปยังที่สิงสถิตย์ประจำเพื่อนั่งอ่านหนังสือ และกลับบ้านตอนค่ำมืด

ทำเช่นนี้เพื่อหนีเด็กและผู้ใหญ่ที่รวมกลุ่มสาดน้ำคนที่ผ่านไปมา ข้าพเจ้ารู้ว่าเทศกาลนี้ เวลาและพื้นที่สาธารณะเป็นของคนอื่น เขาสามารถสาดน้ำทาแป้งใคร ตรงไหน ก็ได้ ถ้าข้าพเจ้าไม่อยากตัวเปียก กลัวหนังสือและข้าวของเปียก ก็เป็นความรับผิดชอบของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียวที่จะรักษาร่างกาย หนังสือ และข้าวของ ให้ถึงที่หมายโดยไม่เปียกน้ำไม่เลอะแป้ง

เมื่อวาน ณ พื้นที่สาธารณะที่ข้าพเจ้าครอบครอง หนุ่มต่างชาติสี่คนมากินกาแฟชาพร้อมปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่ คนที่มาก่อนยิ้มให้ ข้าพเจ้ามองดูเขาแล้วขำ จึงยิ้มให้ บอกเขาว่าน้ำอาจไม่พอนะ น่าจะมีแทงค์น้ำที่เหมือนเป้พกไปด้วย หนุ่มกลุ่มนี้มุ่งหน้าไปสีลมและสยามสแควร์ ก่อนออกเดินทาง พวกเขาขอให้ข้าพเจ้าถ่ายรูปหมู่ให้ ข้าพเจ้าสั่งให้เขาทำหน้าและท่าทางให้ขึงขังหน่อย พวกเขาทำตามคำสั่งช่างภาพแต่โดยดี

คุณแม่ลูกสามอีกคนมากับเพื่อนสาวสามคน พวกเธอสวมเสื้อสีเขียวสะท้อนแสง คนละแบบ แต่เมื่อดูจากสีและผ้า ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าน่าจะตัดจากผ้าพับเดียวกัน กลุ่มนี้เล่นสงกรานต์ทั้งพ่อแม่ลูกและเพื่อนแม่ แบ่งการเล่นเป็นสองช่วง ตั้งแต่บ่ายโมง แม่เช่ารถตุ๊กๆ สองคัน มีถังน้ำ ปืนฉีดน้ำครบ พาลูกๆ พร้อมพ่อและเพื่อนตระเวนรดน้ำคนอื่นและถูกคนอื่นสาดน้ำ ตกเย็น เด็กๆ อยู่บ้าน พ่อแม่และเพื่อนๆ ไปเล่นน้ำต่อที่สีลม

เช้าวันนี้ หลังทักทายกัน คุณแม่สวมเสื้อตัวเดิม แต่มีสติกเกอร์ธงชาติสองอันบนเสื้อ เธออธิบายว่าเมื่อวานเกือบมีเรื่องกับฝรั่ง เธอสาดน้ำเขา ก่อนสาดได้ยกมือไหว้สวัสดีปีใหม่ก่อน หนุ่มฝรั่งก็ reciprocate/ตอบแทน แต่โดยใช้มือวักน้ำแล้วเอาน้ำป้าย/ลูบบ่าไหล่ และทำท่าจะไพล่ไปโดนส่วนอื่นของเธอ ก่อนมือของหนุ่มจะเคลื่อนไปไกลกว่านั้น คุณแม่สาวตบหน้าฝรั่งผัวะ แล้วรัวภาษาไม่สุภาพเพื่อบอกว่าสงกรานต์ไม่ใช่อย่างที่มึง/คุณเข้าใจ และอย่าดูถูกผู้หญิงไทย

ถามว่าแล้วฝรั่งทำไง เธอบอกก็ตกใจ ขอโทษขอโพย วันนี้จะไปเล่นน้ำอีก เธอเลยติดสติกเกอร์ บอกให้รู้ว่ากูคนไทยนะเว้ย อย่ามาดูถูกกัน

เห็นเขา “เล่น” สงกรานต์กัน ทั้งเด็ก โดยเฉพาะผู้ใหญ่ นึกถึงหนังสือที่อาจารย์ที่เคารพเคยพูดถึง

เพราะอยู่นอกบ้าน เพราะมีสมาร์ทโฟน เลยดูในวิกีฯ เจอเรื่องทั้งเกี่ยวกับหนังสือและผู้เขียน หนังสือชื่อ Homo Ludens ทำนองมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่เล่น คนเขียนชื่อโยฮัน ฮุยซิงกา (Johan Huizinga 1872-1945) เป็นชาวดัทช์ เป็นหลายนัก และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำไปสู่ความสนใจศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรม

ประวัติฮุยซิงกาน่าสนใจ เริ่มจากเรียนภาษาตระกูล Indo-Germanic แล้วเรียนต่อด้านภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ มีความเชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องบทบาทของตัวตลก (jester) ในละครอินเดีย จากนั้น หันมาสนใจประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม สอนอารยธรรมตะวันออกมาเรื่อย ก่อนเป็นศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ทั่วไปและประวัติศาสตร์ดัทช์ที่มหาวิทยาลัย Groningen (1905) สิบปีต่อมา เป็นศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Leiden จนถึง ค.ศ.1942

ทำไมเขาเลิกสอน? เพราะเขาไปวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ ซึ่งขณะนั้น ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมนี ก่อนหน้านี้ ในช่วงทศวรรษ 1930 ฮุยซิงกาเคยเขียนบทความเกี่ยวกับลัทธิฟาสซิสม์ เขาออกจากตำแหน่งและถูกควบคุมตัวและเสียชีวิตในที่คุมขังสามปีหลังจากนั้น ก่อนเยอรมนีจะแพ้สงครามเพียงไม่กี่สัปดาห์

คนจริงจังขนาดนั้น ทำไมสนใจการเล่น?

ใน Homo Ludens (1938) ฮุยซิงกากล่าวว่า “การเล่นนั้นเก่ากว่า/เกิดก่อนวัฒนธรรม” เพราะวัฒนธรรม ไม่ว่าจะนิยามหละหลวมขนาดไหน จะเกิดได้ ต้องเกิดสังคมก่อน สัตว์ไม่มีสังคม แต่สัตว์เล่น นั่นย่อมหมายความว่าการเล่นต้องมาก่อนสังคม และมาก่อนวัฒนธรรม ใช่ไหม? ฮุยซิงกายังคิดว่าสัตว์เล่นก่อนคนด้วย

อะไรคือลักษณะสำคัญที่สุดของการเล่น เขาตอบว่าคือ ความสนุก (fun) ไงล่ะ นอกจากสนุก การเล่นจะเป็นการเล่น ต้องมีลักษณะต่อไปนี้

นั่นคือ การเล่นคือการทำอะไรตามใจ คือเสรีภาพ ไม่ใช่สิ่งเดียวกับชีวิตที่ดำเนินไปทุกวัน ไม่ใช่ชีวิตที่เป็นจริง การเล่นเกิดแยกต่างหากจากชีวิตจริงทั้งในเชิงพื้นที่ (เล่น) และในเชิงเวลา แต่ในการเล่นจะมีระเบียบ/กติกาบางชุดกำกับ และเป็นกติกา/ระเบียบ (order) สูงสุด ห้ามโต้แย้งเด็ดขาด การเล่นไม่มีผลประโยชน์ทางวัตถุ (เรื่องที่เราทำในชีวิตจริง) และไม่มีใครได้กำไรจากการเล่น

เขากล่าวว่าภาษาที่ปรากฏในการเล่นไม่ได้เกิดขึ้นจากการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์หรือมีตรรกะ แต่เป็นภาษาที่สร้างสรรค์ชุดต่างๆ (creative language) เป็นการหยิบฉวยภาษาชุดต่างๆ มาประกอบมาปรับ เปลี่ยน ครั้งแล้วครั้งเล่า

ฮุยซิงกายังกล่าวถึงบทบาทในการสร้างความมีอารยะ (civilizing functions) ของการเล่นและการแข่งขัน เขาบอกวัฒนธรรมเกิดขึ้นในรูปลักษณ์ของการเล่น เรา “เล่น” วัฒนธรรมก่อน “มี” วัฒนธรรม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการเล่น เล่นไปๆ เลยกลายเป็นวัฒนธรรม

วิกกี้บอกแค่ว่าฮุยซิงกามองการเล่นกับวัฒนธรรมเป็นคนละด้านของเหรียญอันเดียวกัน แล้วมันยังไงล่ะ หมายความว่ายังไง? เนื่องจากไม่มีหนังสือ เลยใช้วิธีเดา ซึ่งอาจผิดได้มากกว่าถูก ว่าเพราะการเล่นต้องมีกติกา กติกาของการเล่น การคุ้นกับกติกา ทำให้สังคม/วัฒนธรรมเป็นไปได้

มีบทว่าด้วยการเล่นกับกฎหมาย เขากล่าวถึงวิกที่ผู้พิพากษาสวมเวลานั่งบัลลังก์ฟังความและตัดสินคดี ว่าไม่ใช่แค่สิ่งตกค้างทางประเพณี ที่เพราะสมัยก่อนเคยทำ ก็เลยทำกันต่อๆ มา แม้ว่าทำวันนี้จะดูแปลกๆ เขาบอกวิกทำหน้าที่คล้ายหน้ากากที่คนพื้นเมืองสวมเวลาประกอบพิธีกรรม นั่นคือเปลี่ยนผู้สวมให้กลายเป็น “อีกคน/อีกอย่าง” และหากสังเกต เรายังอาจเห็นลักษณะของการเล่นในศาล ฮุยซิงกาพูดถึงการเสี่ยงดวง การแข่งขัน และการเล่นกับภาษา การชิงไหวชิงพริบเชิงภาษา อันนี้ ต้องให้ทนายช่วยดูว่าฮุยซิงกาพูดผิดหรือพูดถูก

มีเรื่องการเล่นกับสงคราม

เขาบอกบางคนมองว่าสงครามเป็นเรื่องที่ฟ้าดินสิ่งศักดิ์สิทธิ์กำหนด เป็นชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของมนุษย์ แต่ฮุยซิงกาบอกว่า “เราอาจมองว่าสังคมคือเกม/การเล่นอย่างหนึ่ง หากเราคิดว่าการเล่นคือหลักการที่ดำรงอยู่ในอารยธรรมมาทุกยุคทุกสมัย” หากปราศจากการเล่น รู้จักเล่น อารยธรรมก็อยู่ไม่ได้ วิกกี้บอกว่าบทนี้สัมพันธ์กับชีวิตของผู้เขียน ข้าพเจ้ายังไม่เห็นว่าสัมพันธ์ยังไง

มีเรื่องการเล่นกับการรู้ “สำหรับคนโบราณ การทำกับการกล้าทำคืออำนาจ แต่การรู้คืออำนาจวิเศษ ความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งคือความรู้ศักดิ์สิทธิ์

การเล่นกับกวีนิพนธ์ “Poiesis, in fact, is a play-function.” กับการเกิดขึ้น/เขียนตำนาน เทพปกรณัม กับปรัชญา กับศิลปะแขนงต่างๆ

ก่อนสรุปว่า

“อารยธรรม(ตะวันตก) ในยุคแรกเริ่มเดิมที เป็นเรื่องของการเล่น ไม่ใช่ในความหมายแบบเด็กคลอด/ออกจากมดลูก แต่อารยธรรมเกิดขึ้นในการเล่นและในฐานะที่เป็นการเล่น และไม่เคยหยุดเล่น”

อารยธรรมปัจจุบัน?

ฮุยซิงกาพูดถึงการเมืองอเมริกันที่กว่าจะเกิดเป็นระบบสองพรรค เหลือแค่สองพรรคใหญ่ที่ “เล่น” กัน ส่วนข้าพเจ้านึกถึงคำไทย “เล่นการเมือง” ที่บางคนบอกเพราะเรา “เล่น” การเมืองไทยจึงเป็นอย่างที่เห็นกันอยู่



homo ludens cover

2. “เล่น” กับ Wiki

เพราะอาจารย์ที่เคารพเคยพูดถึง เมื่อมีโอกาส เจอหนังสือมือสอง ราคาไม่แพงเกินไป สภาพก็ยังดี เลยซื้อหามาเก็บไว้ เมื่อวานอ่านที่วิกกี้เขียนถึงเล่มนี้ เมื่อคืนเลยหยิบมาดู เพื่อตรวจสอบและพยายามเข้าใจสิ่งที่วิกกี้เก็บความให้ แต่เพราะอย่างย่นย่อมาก ทำให้แม้คิดว่าพอเข้าใจ แต่ก็เข้าใจอย่างเบลอๆ

ต่อไปนี้เป็นการเล่นที่ข้าพเจ้าคิดว่าฮุยซิงกาว่าไว้ …

เริ่มจากปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ คือทั้งคนและสัตว์ ทั้งลูกคนลูกสัตว์ตัวเล็กๆ ทั้งผู้ใหญ่คนและสัตว์โตเต็มวัย ทุกคนทุกตัวเล่นหมด ปรากฏการณ์นี้บอกว่าการเล่นกับการใช้เหตุผลเป็นคนละเรื่องกัน เรา มนุษย์และสัตว์เล่น ไม่ใช่เพราะเหตุผลบอกว่าการเล่นดี ทำให้ร่างกายและสมองมีพัฒนาการ หรือจะได้ไม่เครียด จะได้ไม่หมกมุ่นเรื่องเซ็กส์ … ฯลฯ พูดใหม่ว่าการมองการเล่นว่า “เพื่อ” โน้นนี้ (หน้าที่นิยม-functionalism) เพียงถ่ายเดียวฮุยซิงกาไม่เห็นด้วย

และฮุยซิงกาก็ไม่คิดว่าเราเล่นเพราะสัญชาตญาณสั่ง/ผลักให้เล่น ในบทนำของหนังสือ เขาตำหนินักมานุษยวิทยาว่า ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่นักมานุษยวิทยาน่าจะให้ความสนใจมากๆ แต่ปรากฏว่ากลับไม่ค่อยมีใครสนใจ ข้าพเจ้าคิดจะเถียงว่ามีนักมานุษยวิทยาที่พูดถึงการเล่น เช่น มาลินอฟสกี แต่เถียงไปก็ไม่น่ารอดจากการถูกตำหนิ เพราะมาลินอฟสกีมองว่าการเล่นเป็นความจำเป็น/need/(สัญชาติญาณ?) อย่างหนึ่งของมนุษย์ ทำนองเดียวกับการกิน นอน/พักผ่อน สืบเผ่าพันธุ์ ฯลฯ

การเล่นเป็นเรื่องของความงาม/ความสุนทรีย์ไหม? อันนี้พูดยาก เราเห็นนักแบด/นักเทนนิสโยกซ้ายขวา ตบหรือหยอดลูกหน้าเน็ท บางทีมันสวยจริงๆ ร่างกาย/ท่าทางของนักกีฬาบางคนก็สวย แต่ไม่ใช่ทุกคนและทุกครั้งที่เล่นแล้วสวย งาม น่าดู ดูแล้วรู้สึกดี และแม้ไม่สวย ไม่ดูดี การเล่นก็เป็นการเล่นอยู่นั้นเอง เราก็จะเล่น มิใช่หรือ?

งั้นเรา-คนและสัตว์-เล่นทำไม? ทำไมต้องเล่น?

ฮุยซิงกาว่าเพราะมันสนุกน่ะสิ ไม่สนุกจะเล่นทำไม ใช่ไหม แต่สนุกคืออย่างไร อันนี้พูดยาก การดู/ทำอะไรที่น่าขำอาจจะทำให้รู้สึกสนุก แต่สนุกไม่ใช่ขำ ไม่ใช่ทำให้หัวเราะ และหากคิดให้ดี การเล่นหลายครั้งยังทำให้ทั้งใจทั้งกายเขม็งเคร่งเครียด จดจ่อ ตั้งใจ เอาจริงเอาจัง (ลองคิดถึงตอนเล่นเกม ทั้งลงมือลงแรงเล่น ทั้งใช้แต่ตากับนิ้วบังคับให้ตัวละคร/วัตถุเคลื่อนบนจอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์มือถือ ว่าเราเอาจริงเองจัง serious กับการเล่นของเราขนาดไหน)

ทั้งหมดนี้ ชี้ว่าการเล่นสำคัญ แต่การนิยาม/การพูดถึงการเล่นน่ะไม่ง่าย การเล่นไม่ใช่เพราะมีเหตุผลที่สมควรเล่น แต่ไม่ใช่ไม่มีเหตุผลหรือเป็นเรื่องสัญชาตญาณล้วนๆ เพราะไม่เล่นก็ได้ เล่นก็ได้ เล่นได้สวยก็ดีไป เล่นไม่สวยก็จะเล่น ใครจะทำไม เราจะเล่นซะอย่าง เราเล่นเพราะเล่นแล้วสนุก แต่ความสนุกก็แฝงไว้ด้วยความเอาจริงเอาจัง ใจจดใจจ่อ

แล้วจะพูดถึงการเล่นอย่างไรดี?

วิกกี้บอกว่าการเล่นมีลักษณะห้าประการ แต่ข้าพเจ้าหาไม่ครบห้า สงสัยว่าห้าอย่างมีอะไร ข้าพเจ้าตกอะไรไป ลองอ่านที่ฮุยซิงกาเสนอ เขาว่า

หนึ่ง

การเล่นเป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความสมัครใจ การถูกบังคับให้เล่น ทำให้การเล่นไม่ใช่การเล่น (นึกถึงเกมละลายพฤติกรรมที่การอบรมทั้งหลายชอบทำก่อนเริ่มการอบรม ที่คนที่ถูกบังคับเล่นจำนวนหนึ่ง ข้าพเจ้าคนหนึ่งละ คิดว่าน่าขำ ด้วยหลายเหตุผล แต่ไม่สนุก ไม่รู้สึกว่ากำลังเล่น แต่กำลังทำงานกลุ่ม) อย่างนี้ ฮุยซิงกาจึงว่าการเล่นเป็นเรื่องของการมีอิสระ คือเสรีภาพ เราเลือกเล่นหรือไม่เล่นแล้วแต่เรา ถ้าบังคับ การเล่นไม่ใช่การเล่น (แล้วถ้าตอนแรกถูกบังคับให้เล่น แต่ไปๆ มาๆ รู้สึกงานกลุ่มมันก็สนุกดี การเล่นที่ไม่ใช่การเล่นตอนแรก กลายเป็นการเล่นจริงๆ ในตอนหลัง อย่างนี้เรียกเล่นไหม? ข้าพเจ้าสงสัยเล่นๆ)

สอง

การเล่นเป็นกิจกรรมต่างหาก ไม่เกี่ยวกับภารกิจ/กิจวัตรที่เราทำทุกวัน การเล่นไม่ใช่เรื่องจริง/ไม่ใช่ชีวิตจริง ฮุยซิงกายกตัวอย่างลูกวัยสี่ขวบของเพื่อนที่เล่นรถไฟ เด็กชายเอาเก้าอี้สามสี่ตัวมาต่อกันเป็นขบวนรถ ตัวเขานั่งหน้าแถวเก้าอี้ พ่อเห็นลูกชายเล่นก็เดินมากอด เด็กน้อยบอกพ่อว่า “พ่ออย่าหอมหัวรถจักรสิ เดี๋ยวขบวนรถ(เก้าอี้)จะเชื่อว่านี่ไม่เป็นรถไฟ” เขาชี้ว่าการเล่นมีเรื่องของการสมมติ ซึ่งทำให้การเล่น “ไม่จริง” แต่กระนั้น เราก็ยังเล่นอย่างเอาจริงเอาจัง เราเอาจริงเอาจังกับการสมมติ/ความไม่จริงในการเล่น

สาม

เพราะการเล่นเป็นกิจกรรมต่างหาก ไม่เกี่ยวกับภารกิจ/กิจวัตรประจำวัน การเล่นจึงไม่เกี่ยวกับผลตอบแทนทางวัตถุ (disinterestedness) นั่นคือไม่เกี่ยวกับ/ไม่ใช่เรื่องของการตอบสนองความต้องการ/ความอยาก กระทั่งไปรบกวนกระบวนการตอบสนองความต้องการทางกาย (เล่นจนลืมหิวลืมง่วง ปวดปัสสาวะแต่กลั้นไว้เพราะกำลังเล่น) แม้การเล่นจะดำเนินไปในเวลาที่ผ่าน/ไหลไปอย่างต่อเนื่อง แต่ก็กันเวลา/ทำให้เวลาที่เคลื่อนขาดเป็นห้วง เหมือนช่วงพักครึ่งในการชมละครหรือดนตรี (intermezzo, interlude) ที่เกิดในชีวิตประจำวัน

สี่

ด้วยเหตุที่มันเป็นเหตุการณ์ในตัวของมันเอง มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ ไม่เกี่ยวโยง แถมยังไปขัดจังหวะการทำงาน/ทำกิจวัตรที่ตอบสนองความต้องการประจำวันของเรา การเล่นจึงมีกฎ กติกา มารยาทของมันเอง และที่ละเมิดไม่ได้ มิฉะนั้นการเล่นก็ไม่ใช่การเล่น แต่จะผสมปนเปไปกับกิจ/เป็นส่วนหนึ่งของกิจที่เราทำทุกวันไป

กติกาที่ว่าคืออะไร อย่างแรก การเล่นมีเวลา ไม่ใช่เล่นไม่เลิก เช่น เล่นหมากรุก เริ่มเล่นแล้วรู้ว่าจบเมื่อไร เมื่อขุนเดินไม่ได้ ที่น่าสนใจคือเพราะมีกติกาว่าเริ่มยังไงจบเมื่อไร เล่นๆ ไป เพราะเล่นแล้วสนุกดี เราก็จำว่าเล่นยังไง (กติกาคืออะไร) คนมาดู ทีแรกดูไม่รู้เรื่องๆ ดูๆ ไปเริ่มดูเป็น สนุกดี การเล่นก็ค่อยๆ กลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่มีรูปแบบตายตัว กลายเป็นประเพณี (tradition) ที่ทำซ้ำ/เล่นอีกเมื่อไรก็ได้ ไม่เพียงการเล่นที่คงอยู่ กติกาก็ต้องอยู่ด้วย ไม่อย่างนั้นหมากรุกก็ไม่ใช่หมากรุก

กติกาอีกแบบหนึ่ง เกี่ยวกับพื้นที่/ที่เล่น/สนามของการเล่น (playground) ที่ถูกจัดสรรปันส่วน/เปลี่ยน/ปรับพื้นที่ในชีวิตประจำวันของเรา บนที่เล่นก็มีกติกากำกับ ขุนเดินแบบไหน เรือ เบี้ย เคลื่อนไปบนกระดานอย่างไร หากไม่เคารพกติกา จะเดินหมากแต่ละตัวตามใจชอบ หมากรุกจะยังคงเป็นหมากรุกได้อย่างไร

ฮุยซิงกาว่า “ไม่เคารพกติกา” กับ “โกง” ไม่เหมือนกัน ไม่เคารพกติกาทำให้หมากรุกไม่ใช่หมากรุก แต่โกงคือการละเมิดกติกาโดยที่ตัวกติกายังคงความศักดิ์สิทธิ์ นักฟุตบอลแอบเอามือปัดลูกบอล กรรมการจับได้ ว่าโกง เอาใบเหลืองใบแดงไป ออกไปนั่งข้างสนาม ผู้เล่นคนอื่นเล่นต่อ การเล่นยังดำเนินต่อไป แต่ถ้านักฟุตบอลทุกตำแหน่งวิ่งให้วุ่นทั่วสนาม บางคนเอามือรับลูก บางคนเอามือเลี้ยงลูก ส่งให้อีกคนเตะลูกเข้าประตู อย่างนี้จะเรียกฟุตบอลได้อีกไหม

กติกาทำให้การเล่นสนุก เล่นอย่างเอาจริงจัง เขม็งเคร่งเครียด และพาการเล่นเข้าสู่มิติความงาม ความดี เช่น จะเล่นให้ดี/เฉียบ/สวย ต้องฝึกฝน จะฝึกต้องพากเพียร อดทน นี่เขาเรียกว่าคุณธรรมใช่ไหม ส่วนพวกขี้โกง พวกนี้ไม่เก่งจริง ไม่กล้าเล่นตามกติกา นี่ก็วิธีที่เราตัดสินคุณธรรมความดีของคนใช่ไหม

ห้า

การเล่นต้องมีคนเล่น จะคนเดียวหรือกี่คน โดยเฉพาะหากเล่นหลายคนจะเห็นชัดว่าการเล่นนำไปสู่การเกิดชุมชนการเล่น/ของผู้เล่น (play community) ที่เกิดจากการเล่นเพราะสนุก จะสนุกได้เพราะการเล่นมีกติกากำกับ ชุมชนการเล่น/ผู้เล่นจึงมิใช่ไร้กติกา/ความรู้เกี่ยวกับการเล่น ไม่มีบุคคลิก พอเป็นอย่างนี้ คนเล่นจึงเป็นพวกเดียวกัน ส่วนคนไม่เล่นก็เป็นคนอื่น/คนนอกไป และจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ชุมชนผู้เล่น/การเล่นแต่ละชุมชนล้วนมีความลับของกลุ่ม ไม่รู้ความลับ/กฎ กติกา มารยาท ไม่ให้เข้ากลุ่ม หรือถ้าไม่อยากรับใครเข้ากลุ่มก็อย่าไปสอนเขาว่าเล่นแต่ละอย่างทำอย่างไร

ข้าพเจ้าพยายามจัดหมวดหมู่ให้ได้ 5 แบบวิกกี้บอก ได้ครบห้า แต่ได้รายละเอียดและความเข้าใจเพิ่ม

สรุปว่าการอ่านว่าวิกกี้บรรยายเรื่องโน้นนี้ไว้อย่างไรมีประโยชน์ เพราะให้ทั้งความรู้พื้นฐาน และความงุนงงสงสัย ข้าพเจ้าสงสัยว่าหรือเขามีเจตนาเช่นนี้ คือไม่บอกหมด ไม่ให้ความกระจ่าง สร้างความค้างคาใจ จะได้ไปอ่านเล่มจริง

ตกลงวิกกี้เล่นปริศนาคำทายกับคนอ่านใช่ไหมคะ?



akin songkran

ภาพ: สายพิณ ศุพุทธมงคล

3. “เล่น” สงกรานต์ หรือ “ประเพณี” สงกรานต์

หน้าเทศกาลเป็นพื้นที่/เวลาเหมาะสมที่นักมานุษยวิทยาจะมาปรากฏตัว

นักมานุษยวิทยาชายคนหนึ่ง นอกจากวาระอื่น เทศกาลนี้เขาก็มักปรากฏตัว/ถูกเชิญให้มาปรากฏตัว เขาพูด/เขียนไว้ในบทความทำนองสงกรานต์นับวันจะสามานย์ขึ้นทุกที

ข้าพเจ้าแปลไทยเป็นอังกฤษ ได้ความว่าประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเคยเป็นประเพณี “ศักดิ์สิทธิ์/sacred” นับวันยิ่งกลายเป็นเรื่อง “สามัญ/ประจำวัน/ไม่มีอะไรพิเศษ/profane” ทุกที

นักมานุษยวิทยาอีกคน ก็สงสัยว่า “ถ้าหากคุณฮุยซิงกามาเจอเล่นสงกรานต์บ้านเรา อาจจะเขียนบทใหม่ก็ได้ แต่อ่านแล้วชวนให้สงสัยว่า ในวัฒนธรรมไทย เราใช้คำว่า ‘เล่น’ สงกรานต์เมื่อไหร่นะ มีมาแต่ดึกดำบรรพ์หรือเปล่า ถ้าหากบอกว่าตามประเพณีเป็นการ ‘รดน้ำดำหัว’ รดน้ำคนแก่ ทำบุญกระดูก สรงน้ำพระ ฯลฯ ก็คงไม่เรียกว่า ‘เล่น’ ใช่ไหม เพราะมีคำกริยาตัวอื่นอยู่แล้ว (รดน้ำ ทำบุญ สรงน้ำ) เมื่อมาสาดน้ำฉีดน้ำกันกลางถนน จึงจะเป็นการ ‘เล่น’ หรือเปล่า”

ข้าพเจ้าก็นักมานุษยวิทยา แต่เพราะมากับคุณฮุยซิงกา เลยขอดูสักนิดว่าคุณฮุยซิงกามีอะไรจะพูดเรื่อง “ประเพณี” กับ การ “เล่น” ไหม อย่างไร

เริ่มที่ความเห็นของนักมานุษยวิทยาชายที่เห็นว่าประเพณีสงกรานต์มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวเอง ปัจจุบันถูกลดรูปเหลือแค่ “การเล่น/สามานย์”

พอทำสมการเป็นเช่นนี้ จะเห็นทันทีว่า หากมองจากข้อเสนอของฮุยซิงกา ข้อสังเกตของนักมานุษยวิทยาคนนี้ผิด เพราะใคร อย่างน้อยเขา-ฮุยซิงกาไม่คิดเลยว่าการเล่นไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะบอกแล้วไงว่าการเล่นเกิดในพื้นที่ เวลา มีกฎกติกา ที่ต่างจากพื้นที่ เวลา กติกา ที่กำกับชีวิตทุกวี่ทุกวัน ที่ทำกิจแบบเดิมซ้ำๆ ทุกวัน ถ้าความศักดิ์สิทธิ์ (sacred) หมายถึงสิ่งที่แยกจาก/ห้ามนำไปปะปนกับของ พื้นที่ การกระทำ ที่เราทำทุกวัน (profane) “เล่น” สงกรานต์ต่างจาก “ประเพณี/การประกอบพิธีสงกรานต์” ตรงไหน? ไม่ศักดิ์สิทธิ์ตรงไหน

และถ้าดูลักษณะอื่นของ “การเล่น” ประกอบ เล่นเราก็เล่นจริงนะ seriousness ในพิธีกรรมมี การเล่นก็มี การเล่นพาเราสู่อาณาบริเวณพิเศษ ตรงนี่ก็ไม่ต่างจากการประกอบพิธีสงกรานต์ พิธี/ประเพณีสงกรานต์มีกติกา ไม่อย่างนั่นไม่ใช่สงกรานต์ การเล่นสงกรานต์ก็มีกติกามิใช่หรือ (จำคุณแม่ลูกสามที่ตบหน้าฝรั่งได้ไหม)

เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์/สามานย์เลิกพูดได้เลย นี่เขาว่าอย่างนี้

ทีนี้ ก็มาถึงข้อสังเกตของนักมานุษยวิทยาคนที่สอง ที่สงสัยว่าหรือสมัยที่ประเพณีสงกรานต์เป็นแบบวันก่อน หรือคนเขาก็ “เล่น” สงกรานต์ แต่เพราะใช้คำกริยาอื่น (รดน้ำ สรงน้ำ) เลยไม่ปรากฏคำว่าเล่น

ข้อสังเกตนี้อาจตรงใจคุณฮุยซิงกา เพราะมีนัยว่าคนสมัยก่อนก็เล่น เพียงแต่ไม่ใช้คำว่าเล่นเท่านั้นเอง

อ่านท้ายบทแรก พบว่าฮุยซิงกาคิดถึงการเล่นแบบเดียวกับเพลโต เขาอ้างข้อความใน Laws มายืดยาว ว่าเพลโตเห็นว่ามนุษย์นั้น

“ต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่อง/สิ่งที่จริงจัง และพระเจ้าเท่านั้นที่นับได้ว่าเป็นผู้ที่เอาจริงเอาจังจริงๆ (supreme seriousness-ความคลาดเคลื่อนอย่าว่ากันนะคะ ข้าพเจ้าเป็นแค่มือสมัครเล่น) มนุษย์เป็นเพียงของเล่นของพระเจ้า และนี่คือส่วนที่ดีที่สุดในตัวมนุษย์ ดังนั้น ทุกหญิงและชายจึงควรใช้ชีวิตเยี่ยงนี้ เล่นเกมที่สูงศักดิ์ที่สุด เมื่อเล่นก็เล่นจริง… มนุษย์มองสงครามอย่างเอาจริงเอาจังแม้สงครามจะมิใช่การเล่นหรือวัฒนธรรมที่จริงจังที่สุดก็ตาม ดังนั้น เราจึงต้องอยู่อย่างสันติเท่าที่จะทำได้ อย่างนั้นแล้ว การมีชีวิตที่ถูกต้องที่ดีคืออย่างไร เราควรใช้ชีวิตในฐานะที่เป็นการเล่น เหมือนเล่นเกมบางอย่าง จัด/ถวายเครื่องเซ่นสังเวย ร้องเล่นเต้นระบำ ทำอย่างนี้ มนุษย์จะเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า สามารถป้องกันตนเอง และเอาชัยในการแข่งขันต่างๆ”

ฮุยซิงกาเห็นว่าการเล่นสำคัญมาก อย่างที่กล่าวแล้ว ว่า สำหรับฮุยซิงกา การเล่นมาก่อนวัฒนธรรม การเล่นศักดิ์สิทธิ์ ซีเรียส ก่อให้เกิดห้วงอารมณ์ที่พาผู้ร่วมเล่นเข้าสู่มิติทางสุนทรียศาสตร์ เบิกบาน รู้สึกถึงความงามของโลก/มนุษย์ได้ และสนุก

เมื่อคิดเช่นนี้ การเล่นก็ต้องมาก่อนประเพณี และยังเป็นไปได้มากว่าเล่นไปๆ สัญลักษณ์ “ศักดิ์สิทธิ์” ทั้งหลายที่มาทีหลังค่อยๆ มาเกาะเกี่ยวการเล่น ทำให้การเล่นกลายเป็นพิธีกรรม แล้วเราก็เลยมีประเพณีสงกรานต์อันศักดิ์สิทธิ์ และการเล่นสาดน้ำที่สามานย์

วันนี้สงกรานต์วันสุดท้าย คนเริ่มเลิกเล่นสงกรานต์ ข้าพเจ้าก็เลิกเล่นด้วย