มานุษยวิทยาว่าด้วยการกอบกู้

article 40
ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับ ร่าง พรบ. ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้จาก FB มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

อนุสรณ์ อุณโณ


ฟรานซ์ โบอาส (Franz Boas) มีคุณูปการต่อวิชามานุษยวิทยาทั้งในอเมริกาและโดยทั่วไปในหลายด้าน ทว่าขณะเดียวกันการทำงานทางมานุษยวิทยาของเขาก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแนวทางการทำงานมานุษยวิทยาของเขาที่เรียกว่า “มานุษยวิทยาว่าด้วยการกอบกู้” (Salvage Anthropology) เพราะแม้แนวทางดังกล่าวจะเริ่มต้นด้วยความตั้งใจดีที่จะกอบกู้หรือว่าป้องกันวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอินเดียนพื้นเมืองไม่ให้สาบสูญและถูกกลืนกลายโดยวัฒนธรรมคนผิวขาว ทว่าการบันทึก รวบรวม และจัดแสดงเรื่องราวและสิ่งของทางวัฒนธรรมของชาวอินเดียนพื้นเมืองภายใต้แนวทางดังกล่าวหลายกรณีส่งผลให้เรื่องราวและสิ่งของทางวัฒนธรรมอยู่ผิดที่ผิดทางหรือว่าหลุดลอยจากบริบทเดิม ขณะเดียวกันก็ไม่สู้จะให้ความสำคัญกับชีวิตประจำวันของชาวอินเดียนเหล่านี้ที่ต้องดิ้นรนขวนขวาย มีพลวัตร และเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไม่ตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลอเมริกันที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวอินเดียนเพราะมัวแต่สาละวนกับการเก็บรวบรวมสิ่งของและเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตของคนเหล่านี้ ฉะนั้น แทนที่จะเป็นคุณอย่างที่ตั้งใจ มานุษยวิทยาว่าด้วยการกอบกู้จึงมีผลในแง่ลบต่อชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอินเดียนด้วยในเวลาเดียวกัน

พ้นจากยุคของโบอาส นักมานุษยวิทยารุ่นหลังระมัดระวังกับท่าทีและวิธีปฏิบัติต่อวัฒนธรรมของผู้คนโดยเฉพาะที่เป็นคนส่วนน้อยมากขึ้น ชีวิตประจำวันขยับมาเป็นหัวข้อแห่งความสนใจ ขณะที่เรื่องราวหรือสิ่งของเกี่ยวกับอดีตก็ถูกทำให้มีสีสัน มีชีวิตชีวา และเกี่ยวพันกับชีวิตคนในปัจจุบันมากขึ้น การอนุรักษ์หรือการเก็บรักษาไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่รัฐอีกต่อไป แต่เปิดโอกาสให้เจ้าของวัฒนธรรมหรือคนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากนี้ วัฒนธรรมไม่ได้ถูกมองเฉพาะด้านที่จรรโลงใจอีกต่อไป หากแต่ยังเป็นอาณาบริเวณที่การกดขี่ครอบงำ การปรับใช้ การเจรจาต่อรอง และการต่อต้านขัดขืนเกิดขึ้นควบคู่กันไปอย่างแหลมคม

ร่าง พรบ. ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ฉบับนี้จึงย้อนกลับไปสู่ยุคมานุษยวิทยาแห่งการกอบกู้ของโบอาสเมื่อประมาณศตวรรษที่แล้วอีกครั้ง มองในแง่ดี นี่คือความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้มรดกทาง “วัฒนธรรมไทย” สาบสูญจากการเผชิญกับวัฒนธรรมอื่นที่แข็งแกร่งกว่า แม้จะวางอยู่บนความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่คลาดเคลื่อนอย่างฉกรรจ์ หรือว่าที่สุดแล้วอาจจะส่งผลลบมากกว่าบวกต่อวัฒนธรรมที่ต้องการพิทักษ์รักษาไว้ก็ตาม แต่หากมองอย่างตั้งข้อสงสัย นี่คือความพยายามของชนชั้นนำในนามรัฐไทยที่จะอาศัยวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการควบคุมและครอบงำผู้อยู่ใต้ปกครองขณะกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงและการท้าทายครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขา เพราะหากพิจารณาจากลักษณะโทษที่คาดไว้ สิ่งที่ร่าง พรบ. ฉบับนี้ต้องการกอบกู้อาจไม่ได้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและชีวิตของคนที่ไม่สู้มีปากเสียง เท่าๆ กับสถานภาพของชนชั้นนำที่กำลังง่อนแง่นเสียเต็มประดา