สู่สันติภาพในอุษาคเนย์?: กระบวนการสันติภาพในพม่า มาเลเซีย และจังหวัดชายแดนไทยภาคใต้

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ
ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอเชิญร่วมงานสัมมนาวิชาการ

สู่สันติภาพในอุษาคเนย์?:
กระบวนการสันติภาพในพม่า มาเลเซีย และจังหวัดชายแดนไทยภาคใต้

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2556 เวลา 13.00-16.30 น.
ห้องสายสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น (ห้องสัมมนา 3)
สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทางออนไลน์ที่นี่
หรือ โทร 02-5645000-3 ต่อ 313,315

UPDATE: อ่านบันทึกจากการสัมมนาได้ ที่นี่


ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สภาวะสงครามและความขัดแย้ง เป็นสภาวะที่คุกคามต่อความเป็นปกติสุขของสังคมโลกมาช้านาน อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามและความขัดแย้งได้สิ้นสุดลง สังคมส่วนใหญ่ก็กลับมองข้ามการแสวงหาสันติภาพไปชั่วขณะหนึ่ง หรือกล่าวได้ว่า ห้วงเวลาดังกล่าวเป็นห้วงของการเกิดขึ้นของสภาวะสันติภาพทางด้านลบ (negative peace) ซึ่งขาดการคำนึงถึงการธำรงและรักษาสันติสภาพให้ดำรงคงอยู่ เพื่อนำไปสู่สภาวะสันติภาพทางด้านบวก (positive peace) ที่ปราศจากทั้งสงครามและความขัดแย้ง ทั้งนี้การสร้างสภาวะสันติภาพทางด้านบวกดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีกระบวนการที่เรียกว่า กระบวนการสันติภาพ (peace process) อันประกอบไปด้วย การจัดการความขัดแย้ง (conflict management) การทำให้เกิดสันติภาพ (peace making) การสร้างสันติภาพในระยะยาว (peace building) และการป้องกันความขัดแย้ง (conflict preventative)

เมื่อพิจารณาถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ ที่เต็มไปด้วยความแตกต่างและหลากหลายทั้งในทางอัตลักษณ์ เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม การเปลี่ยนผ่านทางบริบทการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคตามกระแสโลก การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่จากผลผลิตของระบอบอาณานิคม รวมถึงกระบวนการสร้างชาติและชาตินิยม มีผลต่อสภาวะความขัดแย้งในหลายพื้นที่ของภูมิภาค ในวาระที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังพัฒนาบทบาทความร่วมมือและเตรียมความพร้อมสู่การร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทว่าหลายพื้นที่ของประเทศในภูมิภาคยังคงเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐชาติและกลุ่มชน เช่น เขตปกครองพิเศษอาเจะห์ของอินโดนีเซีย จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ พื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์หลายพื้นที่ในพม่า และ รัฐซาบาห์ของมาเลเซีย เป็นต้น อันเป็นปัญหาที่สืบเนื่องและดำรงอยู่ตลอดมา ส่งผลต่อการใช้ความรุนแรงระหว่างกันในการตอบโต้ต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ปัญหาเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์ถึงกลุ่มคนและประเทศรอบด้านของพื้นที่ความขัดแย้ง หลายกรณีไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมตามแนวทางจัดการโดยสันติวิธีและขาดความร่วมมือในระดับภูมิภาค อันเป็นสิ่งที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนควรตระหนักและเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการสร้างความสงบอันจะนำไปสู่เสถียรภาพทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมที่ไม่อาจละเลยได้ในท่ามกลางกระแสของการพัฒนาที่มุ่งใช้เศรษฐกิจนำหน้าและสร้างความเป็นหนึ่งเดียว

กระบวนการสันติภาพจึงมีบทบาทสำคัญต่อการเปิดพื้นที่ความเข้าใจ การแลกเปลี่ยนเจรจา และสร้างให้เกิดความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อหาทางออกแก่ปัญหาในระดับโครงสร้าง ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นแล้วในบางพื้นที่และยังคงเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันให้ดำเนินต่อไปเพื่อจัดการต่อปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคอย่างเป็นกระบวนการ

ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และ ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เห็นความสำคัญของการเสริมสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ การเคารพในความแตกต่างหลากหลายของชีวิตผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคม และการอยู่ร่วมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “สู่สันติภาพในอุษาคเนย์?: กระบวนการสันติภาพในพม่า มาเลเซีย และจังหวัดชายแดนไทยภาคใต้” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอข้อมูล ตลอดจนปัญหา/อุปสรรค และทัศนคติจากหลายมุมมอง ต่อกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเปิดพื้นที่ทางวิชาการและประสบการณ์ร่วมของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และตัวแทนคนในพื้นที่ความขัดแย้ง(ชายแดนไทย-พม่า และ สามจังหวัดภาคใต้) เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่การศึกษาวิจัยทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อนบ้านศึกษาต่อไป


กำหนดการ

12.30-13.00 น. ลงทะเบียน

13.00-13.30 น.
กล่าวรายงานโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิราภา วรเสียงสุข คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
กล่าวต้อนรับโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา
กล่าวเปิดงานโดย
ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

13.30-16.00 น.

สัมมนาวิชาการ

“สู่สันติภาพในอุษาคเนย์?:
กระบวนการสันติภาพในพม่า มาเลเซีย และจังหวัดชายแดนไทยภาคใต้”

วิทยากร

อาจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณบาสรี มะเซ็ง
ตัวแทนชาวมลายูมุสลิมจากจังหวัดชายแดนไทยภาคใต้

อาจารย์ ดุลยภาค ปรีชารัชช
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณประจักร กุนนะ
ตัวแทนจากสภากอบกู้รัฐฉาน

อาจารย์ อัครพงษ์ ค่ำคูณ
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมแลกเปลี่ยนและวิจารณ์

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ที่ปรึกษาศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินรายการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประธานศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

16.00-16.30 น. อภิปราย/ซักถาม