ประสบการณ์กับการเปิดพื้นที่และทบทวนทฤษฎี


ภาพ: สมัคร์ กอเซ็ม
ส่วนหนึ่งของรายงานโดยประชาไท จากการเสวนาหัวข้อ “ความคิดทางสังคมศาสตร์กับทิศทางทฤษฎีไทย”
วิทยากร ดร.จันทนี เจริญศรี
การเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการ “สะท้อน ย้อนคิด สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เชียงใหม่”
จัดโดย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ สำนักพิมพ์คบไฟ
วันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2555 ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


….

จันทนี เจริญศรี กล่าวว่า เท่าที่อ่าน ถกสังคมศาสตร์ไทย ของอานันท์ กาญจนพันธุ์ มีคำสองที่ผุดมาบ่อยคือ หนึ่ง ทะลุกรอบคิด มองว่าคล้ายๆ ทฤษฎีนี้เป็นกรอบปิดกั้นฝั่งภาคปฏิบัติการในโลกของผู้คนจริงๆ ที่มีความสลับซับซ้อนหลากหลาย และทฤษฎีจะเกิดเมื่อมีการทะลุกรอบคิด

อีกคำหนึ่งที่เจอบ่อยคือ อ่านตำราฝรั่งโดยตัวเนื้อหาเอาไม่ได้เพราะเป็นการตอบโจทย์เฉพาะของมัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเอามาได้คือวิธีคิด เลยสงสัยว่าตกลงทฤษฎีพึงเอาไว้ทำอะไร ซึ่งตัวเองจะเข้าใจว่าทฤษฎีคล้ายกับเป็น spcae (พื้นที่) เป็นที่ยืนที่ทำให้เราแยกตัวเองออกมาจากประสบการณ์ที่เราอาจพบเจอในการทำงานสนาม และเอามาใคร่ครวญ ในอีกแง่หนึ่งรู้สึกว่าทฤษฎีคือการโยงใยประสบการณ์กับความคิด หรือไอเดียที่มีอยู่แล้ว รวมถึง Second order thinking ซึ่งหลายๆ ครั้งสวนทางประสบการณ์

ดูเหมือนว่าประสบการณ์กับทฤษฎี มีความสัมพันธ์กันในแง่การเปิดพื้นที่ และให้กลับมาทบทวน และขณะเดียวกันเป็นวงจรที่เดินไปเรื่อยๆ หยุดไม่ได้ เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าประสบการณ์มันเยอะ ซับซ้อนกว่าที่จะเข้าใจจากทฤษฎีนั้นก็ต้องเปลี่ยนทฤษฎี ก็เลยคิดว่าสิ่งนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของทฤษฎี

ช่วงท้าย จันทนีเปรียบเทียบที่ทางของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในไทยกับของประเทศอื่นๆ โดยที่จันทนีอภิปรายว่าสังคมวิทยาในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นโตในบริบทของมหาวิทยาลัยและผูกกับความเป็นวิชาการ ส่วนสังคมวิทยาอังกฤษ ผูกกับนโยบายทางสังคมและไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาส่วนบุคคล กล่าวคือทั้ง 2 ประเทศ สังคมวิทยามีที่ยืน ส่วนในประเทศไทย สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยอยู่ในชายขอบทั้ง 2 ทาง ในทางวิชาการ นักศึกษาบอกว่าไม่รู้จะกลับไปบอกพ่อแม่ว่าเรียนอะไร ทำงานอะไร ในขณะที่นโยบายทางสังคม ก็ได้ยินนักวิจัยที่ทำงานสนาม ทำงานกับชาวบ้าน บอกว่าผู้กำหนดนโยบายอยากได้ยินสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยินอยู่แล้ว สองเรื่องนี้ที่อาจทำให้เห็นที่ยืนหลักๆ ของสังคมวิทยาไทยว่าสังคมวิทยาไทยอยู่ชายขอบทั้ง และเรื่องนี้เป็นตัวอธิบายว่าทำไมต้องเห็นความจำเป็นว่าจะต้องเผยแพร่งานด้านสังคมวิทยา

….

ดูคลิปการเสวนา และ อ่านเนื้อหาฉบับเต็มของรายงานการเสวนาหัวข้อนี้ได้จากเว็บไซต์ ประชาไท