เสวนาวิชาการ “รัฐธรรมนูญของปวงชนจากหลากหลายมิติ”

CCSCS public forum on peoples constitution 1

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมกับ


ขอเชิญร่วมงานเสวนาวิชาการสาธารณะ

รัฐธรรมนูญของปวงชนจากหลากหลายมิติ

วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2558 เวลา 13.00 – 16.00 น.
ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์
อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


กำหนดการ

12.30-13.00 น. ลงทะเบียน

13.00 – 15.30 น.

เสวนา รัฐธรรมนูญของปวงชนจากหลากหลายมิติ

ดำเนินรายการโดย
อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

16.00-16.30 น. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น


รัฐธรรมนูญเป็นมากกว่าชุดของถ้อยคำทางกฎหมายที่มีสถานะเป็นกติกาสูงสุดในโครงสร้างการเมืองการปกครองของรัฐสมัยใหม่ ในเชิงปรัชญาสังคม-การเมือง รัฐธรรมนูญเป็นรูปธรรมของข้อตกลงร่วมกันในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างบุคคล สถาบัน และกลุ่มทางสังคมต่างๆ ที่มีผลประโยชน์ ความเชื่อ ความปรารถนา และจินตนาการต่างกัน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ รัฐธรรมนูญในหลากหลายห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์และบริบททางสังคมวัฒนธรรม จึงสะท้อนกระบวนการต่อรองตลอดจนดุลอำนาจในชั่วขณะหนึ่งๆ รัฐธรรมนูญบางฉบับสะท้อนการขยายตัวของพลังประชาชน ฝ่ายก้าวหน้า หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ขณะที่บางฉบับสะท้อนการพยายามรักษาอำนาจของฝ่ายจารีต ฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือบทบาทของกลุ่มทุน ฯลฯ การประกาศใช้ การแก้ไข การยกเลิก และโดยเฉพาะกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในแต่ละครั้ง ชี้ให้เห็นการขับเคี่ยวหรือการเจรจาต่อรองระหว่างบุคคล สถาบัน และกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่ดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ

นับแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยมากว่า 80 ปี ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วเป็นฉบับที่ 19 หรือเฉลี่ยคิดเป็นระยะเวลาสี่ปีต่อหนึ่งฉบับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างบุคคล สถาบัน และกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบางกลุ่มเห็นว่าสถานะและผลประโยชน์ของตัวเองถูกลิดรอน บางกลุ่มเห็นว่าความปรารถนาของตนถูกปิดกั้น ขณะที่บางกลุ่มเห็นว่าจินตนาการของตนยังไม่ได้รับการตอบสนองให้เป็นจริง

นอกจากนี้ การที่รัฐธรรมนูญไทยขาดเสถียรภาพยังเป็นผลพวงของการขาดการพิจารณาอย่างรอบด้าน การออกแบบรัฐธรรมนูญมักถูกผูกขาดโดย “ผู้เชี่ยวชาญ” ด้านกฎหมายและการเมืองการปกครอง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับมิติอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม รวมถึงสิทธิและเสรีภาพ ทั้งที่รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องและมีผลสืบเนื่องต่อชีวิตพลเมืองของรัฐในหลากหลายมิติ การให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญบนฐานขององค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา จะเสริมสร้างให้เกิดกระบวนการที่จะนำไปสู่การรับฟังความคิดเห็นและความต้องการจากทุกฝ่าย อันเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญที่มีเสถียรภาพ เป็นกติกาที่ได้รับความยอมรับและตระหนักในความเท่าเทียมกันของพลเมือง

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีพันธกิจในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เพื่อสนับสนุนการแสวงหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นคำถามร่วมสมัย พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ ในโอกาสนี้ ศูนย์ฯ ได้รับเกียรติจากนักวิชาการหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา สิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มาร่วมกันเสนอแนวทางพิจารณารัฐธรรมนูญจากหลากหลายมิติ ด้วยหวังว่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่เสริมสร้างให้เกิดการอภิปรายในประเด็นเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน สร้างสรรค์ และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ขณะเดียวกัน การจัดเวทีเสวนาสาธารณะโดยความร่วมมือกับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม และ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จะยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านเครือข่ายวิชาการระหว่างสถาบันอีกด้วย