บทสนทนาว่าด้วยอำนาจในพิธีกรรม จากงานศึกษาของ ศาสตราจารย์ ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์


ภาพ: สมัคร์ กอเซ็ม

อนุสรณ์ อุณโณ

บันทึกจากการเสวนาหัวข้อ “พิธีกรรมและความเชื่อในโลกยุคดิจิตอล”
ในงานประชุมวิชาการ “สะท้อน ย้อนคิด สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เชียงใหม่”
จัดโดย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ สำนักพิมพ์คบไฟ
วันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2555 ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ในฐานะที่ไม่เคยศึกษาพิธีกรรมความเชื่อโดยเฉพาะล้านนา และแม้วิทยานิพนธ์ของผมจะพูดถึงพิธีกรรมความเชื่อชาวมลายูและมีนัยทางทฤษฎีอยู่บ้างแต่ก็คิดเป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับภาพรวมของวิทยานิพนธ์ ผมจึงออกประหลาดใจไม่ได้ว่าเหตุใดอาจารย์ปิ่นแก้วจึงต้องการให้ผมอ่านงานอาจารย์อานันท์เล่มที่ว่าด้วยพิธีกรรมความเชื่อ (เจ้าที่และผีปู่ย่า: พลวัตของความรู้ชาวบ้าน อำนาจและตัวตนของคนท้องถิ่น) คงได้แต่นึกว่าอาจารย์ปิ่นแก้วคงต้องการให้ผมพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้จากฐานของผมเอง และผมก็คาดว่าเราน่าจะเข้าใจตรงกัน แต่ถึงกระนั้นผมก็ใช้เวลาอยู่หลายวันกว่าจะพบว่าผมจะพาตัวเองเข้าสู่การพูดในหัวข้อนี้โดยไม่ประดักประเดิดได้อย่างไร

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปสัมมนาหลักสูตรของคณะที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งที่นครนายก และมีประสบการณ์บางอย่างที่คิดว่าน่าจะเป็นแหล่งอ้างอิงให้ผมพาตัวเองเข้ามาสู่หัวข้อนี้ได้ คือ หลังจากมื้อค่ำ ปกติอาจารย์ในคณะโดยเฉพาะที่เป็นอาจารย์ใหม่ มีลักษณะที่เรียกได้ว่าก้าวหน้า ท้าทาย ชอบตั้งคำถาม และมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์แทบจะไปเสียทุกเรื่อง และพวกเราก็สรวลเสเฮฮาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลายเรื่อง หลายคนว่าจะกลับไปพักผ่อนแต่ก็ติดใจอยู่ต่อเพราะการสนทนาที่ออกรสชาติ อย่างไรก็ดี พวกเราจำนวนกว่าครึ่งพร้อมใจกันแยกย้ายกันไปพักผ่อนหลังจากที่ผมเริ่มที่จะเล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับจิตวิญญาณของผมขณะศึกษาภาคสนามที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอาจารย์ท่านหนึ่งก็กล่าวว่าวิญญาณของเมาะหรือคุณยายคนนั้นอยู่กับผม คงเหลือพวกเราเพียงไม่กี่คนที่ร่วมสนทนาในหัวข้อนี้ต่อ และจำนวนผู้เข้าร่วมก็ลดลงอีกเมื่อเพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งชวนท่องประสบการณ์ทางจิตวิญญาณกับท่าน บางคนสารภาพอย่างหน้าชื่นตาบานว่าไม่เล่นเพราะกลัว อาจารย์อีกท่านที่อิดออดบอกว่าไม่อยากรบกวนวิญญาณคนอื่น แต่เมื่ออาจารย์ที่เป็นต้นเรื่องบอกว่าไม่ แกก็ตัดสินใจเข้าร่วมด้วยในที่สุด ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ตรงนี้ก็คือว่าพิธีกรรมความเชื่อที่อาจารย์อานันท์ว่าไว้ในหนังสือว่ายังเป็นประเด็นชายขอบในแวดวงมานุษยวิทยาไทยแท้จริงแล้วมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นอาณาบริเวณที่สามารถป้องกันตัวเองจากการถูกสำรวจตรวจสอบโดยเฉพาะจากประเพณีการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่เน้นสิ่งที่เรียกว่าการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม เป็นอาณาบริเวณที่คนจำนวนมากเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตนเองด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องเข้าไปข้องแวะด้วย และเพราะเหตุดังนั้นพิธีกรรมความเชื่อจึงเป็นอาณาบริเวณที่อำนาจปฏิบัติการอย่างเข้มแข็งแยบยล และก็มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยิ่งอาณาบริเวณหนึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจารย์อานันท์ก็ได้ชี้ให้เห็นในหนังสือเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้เป็นการพิจารณาพิธีกรรมความเชื่อจากแง่มุมของอำนาจ อาจารย์อานันท์ โดยอาศัยแนวคิดนีโอมาร์กซิสม์ เสนอว่าความเชื่อเป็นอุดมการณ์ที่มีอำนาจและก็สร้างอำนาจผ่านพิธีกรรม เช่น ความเชื่อเรื่องผีเมืองเป็นรากฐานอำนาจให้เจ้าเมืองโดยเฉพาะที่ผ่านพิธีไหว้ผีเมือง (กรุงเทพฯ จึงยกเลิกพิธีนี้และให้จัดพิธีบูชาเสาหลักเมืองที่อิงคติพุทธในฐานะสัญลักษณ์ของอำนาจกรุงเทพฯ แทน) หมอเมืองสร้างอำนาจผ่านทางผี พุทธ และการแพทย์สมัยใหม่ และความเชื่อเรื่องผีปู่ย่าเป็นฐานให้กับการมีอำนาจของร่างทรง เป็นต้น นอกจากนี้ อาจารย์อานันท์เสนอว่าอำนาจเหล่านี้จะมีความชอบธรรมได้ก็ต่อเมื่อเป็นสิ่งนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์หรือประโยชน์ของชุมชน อำนาจเป็นธรรมแม้จะรุนแรงหากว่าความรุนแรงนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชุมชน ขณะเดียวกันอาจารย์อานันท์อาศัยมโนทัศน์จำพวก Liminality ของ Turner ในการชี้ให้เห็นว่าในช่วงดังกล่าวซึ่งมักเกิดขึ้นขณะประกอบพิธีกรรมอยู่ระหว่างอำนาจการควบคุมทั้งก่อนหน้าและหลัง เป็นสภาวะไร้อำนาจที่เปิดให้สร้างสรรค์ใหม่ได้อย่างอิสระกว่า จึงเปิดโอกาสให้ผู้หญิง (รวมทั้งคนที่เสียเปรียบหรือด้อยโอกาส) ซึ่งในสภาวะปกติมักถูกระเบียบกฎเกณฑ์ควบคุมได้ระบายและได้มาซึ่งอำนาจเช่นโดยการเป็นร่างทรง จึงเป็นการชี้ชวนให้พิจารณาพิธีกรรมความเชื่อที่แตกต่างไปจากที่คนทั่วไปคุ้นเคยกัน

อย่างไรก็ดี ผมอยากจะสร้างบทสนทนาต่อจากงานของอาจารย์อานันท์ในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจในพิธีกรรมสามประเด็น

ประเด็นแรก ผมคิดว่าอาจารย์อานันท์ยังไม่ได้สนทนากับทฤษฎีโดยเฉพาะนีโอมาร์กซิสม์ที่อาจารย์อ้างถึงมากนัก ขณะที่ในส่วนของ Gramsci ที่อาจารย์อานันท์พูดถึงผ่านงานของ Turton ก็ยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ อาจารย์กล่าวว่าคุณูปการของกรัมชี่ผ่าน Turton อยู่ที่การชี้ให้เห็นการช่วงชิงความหมายเพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างอุดมการณ์ครอบงำกับอุดมการณ์ต่อต้าน ผ่านคำถามที่ว่าทำไมอุดมการณ์ครอบงำจึงมีขีดจำกัด อย่างไรก็ดี ความเข้าใจของผม Gramsci ต้องการจะไขปริศนาว่าเหตุใดการปฏิวัติชนชั้นจึงไม่เกิดขึ้นเสียทีเสียมากกว่าทั้งที่เงื่อนไขต่างๆ ก็ดูจะสุกงอมแล้ว ทำไมชนชั้นกรรมาชีพจึงปล่อยให้การกดขี่ขูดรีดเกิดขึ้นอยู่ได้ ทำไมจึงไม่ลุกฮือกันขึ้นมาปฏิวัติตามที่ Marx พยากรณ์ไว้เสียที และในที่สุดเขาก็ถึงบางอ้อว่าที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะมีปฏิบัติการในระดับที่เหนือขึ้นไปที่ช่วยให้การกดขี่ขูดรีดดำเนินไปได้ นั่นก็คือ hegemony หรือสภาวะการนำทางการเมืองศีลธรรม และปัญญาเหนือพันธมิตรด้วยการแสดงให้พันธมิตรเชื่อว่าตนเป็นผู้สามารถปกป้องดูแลผลประโยชน์ของพันธมิตรได้ดีที่สุด หรือผลประโยชน์ของตนก็คือผลประโยชน์ของพันธมิตร และด้วยข้อตระหนักนี้ Gramsci ก็เลยแนะนำให้ชนชั้นแรงงานนำมาใช้บ้างหากว่าต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์

ผมพูดอย่างนี้ก็เพราะว่าในหลายกรณีความเชื่อไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็สามารถมีสถานะเป็น hegemony ได้ จึงส่งผลให้การละเลยหรือไม่พิจารณามันในลักษณะนี้ก็ทำให้การพูดถึงมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการของอำนาจครอบงำโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดในภาษาหรือลีลาของหน้าที่นิยมหรือโครงสร้างหน้าที่นิยม เช่น การเสนอว่าการนับถือผีเป็นกุศโลบายของชาวบ้านในการควบคุมทางสังคมอย่างหนึ่ง หรือการเสนอว่าอำนาจแห่งความอุดมสมบูรณ์อยู่เหนือความขัดแย้งใดๆ เพราะการพูดเช่นนี้ทำให้ไม่เห็น power differentials คือไม่เห็นว่าใครควบคุมใคร หรือกลุ่มหรือชนชั้นไหนได้ประโยชน์ กลุ่มหรือชนชั้นใดเสียเปรียบจากการนับถือผีเช่นนี้ การมองการนับถือผีเป็น hegemony จะช่วยให้เห็นปฏิบัติการของอำนาจได้แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่พื้นฐานที่สุด เพราะหากเราถือว่าทุกความสัมพันธ์ทางสังคมคือความสัมพันธ์ทางอำนาจ หรืออำนาจปฏิบัติการหรือแทรกซึมไปทุกอณูของสังคมอย่างที่ Foucault ว่า ความเชื่อเรื่องผีของท้องถิ่นก็ไม่เป็นข้อยกเว้นของปฏิบัติการอำนาจเช่นกัน

ทั้งนี้ ปฏิบัติการอำนาจโดยเฉพาะที่อยู่ในรูป hegemony จะมีความเข้มข้นหรือเด่นชัดเป็นพิเศษหากพิจารณาในบริบทที่มีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่รัฐพิธีและราชพิธีถูกกันออกจากงานศึกษาชิ้นนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเป็นพิธีที่ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความเคารพศรัทธาอย่างแท้จริงเหมือนกรณีพิธีกรรมความเชื่อของชาวบ้านและชุมชน นอกจากนี้ ผมคิดว่าหากอาจารย์อานันท์ต้องการจะดูว่าการศึกษาพิธีกรรมจะช่วยยกระดับหรือขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้กับผู้เสียเปรียบหรือด้อยกว่าอย่างไรโดยเฉพาะในบริบทสังคมไทย ผมคิดว่ายิ่งเลี่ยงไม่ได้ใหญ่ที่จะต้องศึกษารัฐพิธีหรือราชพิธีเพราะเป็นอาณาบริเวณที่ปฏิบัติการอำนาจโดยเฉพาะในรูป hegemony เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมาที่สถาบันกษัตริย์ได้เข้ามาอยู่ตรงใจกลางของการจัดระเบียบทางการเมืองของสังคมไทย ซึ่งในแง่หนึ่งงานของอาจารย์ชนิดาก็ได้แสดงให้เห็นแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ผมอยากจะพูดต่อว่าเราคงจะไม่พอใจเพียงแค่ hegemony ปฏิบัติการอย่างไร แต่เราก็สนใจด้วยว่ามันถูกท้าทาย ต่อต้านขัดขืน หรือต่อรองอย่างไรด้วย เพราะก็เป็นที่อย่าง Scott พยายามจะชี้ให้เห็นโดยเฉพาะในบทสุดท้ายของ Weapons of the Weak ที่ว่า hegemony ไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่มีรอยปริแยกแตกหักที่เปิดโอกาสผู้อ่อนแอหรือเสียเปรียบสามารถเข้าไปฉวยคว้ามาใช้เพื่อประโยชน์ของตนได้เช่นกัน

ประเด็นที่สอง การมองพิธีกรรมที่เน้นสภาวะ liminality แบบ Turner ว่าเป็นสภาวะที่อยู่ระหว่างอำนาจการควบคุมหรือเป็นสภาวะไร้อำนาจอาจจะทำให้มองไม่เห็นหรือชวนให้เข้าใจรูปแบบอำนาจที่ปฏิบัติการอยู่ในห้วงเวลาและอาณาบริเวณดังกล่าวไขว้เขว เพราะจะอธิบายว่าอำนาจของผู้หญิงหรือร่างทรงในพิธีกรรมเกิดขึ้นได้อย่างไรหากพิธีกรรมเป็นสภาวะที่ไร้อำนาจหรือไม่มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย พิธีกรรมจึงแยกไม่ออกจากอำนาจ สำคัญว่าเป็นอำนาจประเภทไหน หรือว่าเป็นอำนาจประเภทใดที่แตกต่างออกไปจากอำนาจในยามปกติ ซึ่งเมื่อมาถึงประเด็นเกี่ยวกับอำนาจผมคิดว่าเราคงเลี่ยงลำบากที่จะไม่พูดถึงคนอย่าง Foucault โดย Foucault เสนออำนาจ 3 แบบ คำถามจึงเป็นว่าอำนาจในพิธีกรรมควรเป็นอำนาจแบบไหนดี จะเป็นเทคนิคในการปรับเปลี่ยนเรือนร่างให้ว่านอนสอนง่ายและมีผลิตภาพอย่าง Discipline จะเป็นศิลปะการจัดวางสรรพสิ่งเข้าด้วยกันเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างอย่าง Governmentality หรือจะเป็นรูปแบบอำนาจโบราณที่แสดงออกผ่านความเจ็บปวดและความทรมานบนเรือนร่างของนักโทษในการลงทัณฑ์ในที่สาธารณะอย่าง Sovereignty ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายอย่างหลังมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าแม้จะเป็น Sovereignty แต่ก็ดูจะเป็น Sovereignty ในความหมายของ Agamben มากกว่า เพราะการที่กฎระเบียบปกติถูกกลับหัวกลับหางหรือถูกแขวนไว้ชั่วคราวในช่วง Liminality ในแง่หนึ่งคือสภาวะยกเว้นในทัศนะของ Agamben และสำหรับ Agamben แล้วสภาวะยกเว้นไม่ได้เป็นสภาวะไร้อำนาจ หากแต่เป็นสภาวะที่อำนาจ Sovereignty ก่อตัวขึ้น ดังกรณีอำนาจของผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จ ในแง่นี้ การที่เด็กผู้ชายในชนเผ่าถูกพรากทุกอย่างจนไม่มีความต่างระหว่างกันและยอมจำนนต่อผู้อาวุโสในฐานะวิญญาณบรรพบุรุษอย่างเบ็ดเสร็จจึงเทียบเคียงได้กับบรรดาชีวิตที่เปลือยเปล่าขึ้นต่อองค์อธิปัตย์ในสภาวะยกเว้นตามทัศนะของ Agamben

แต่ถึงกระนั้น ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้เสนอให้เราเป็นแค่ลูกหาบของนักปรัชญาหรือนักทฤษฎี เพราะจะว่าไปแล้ว reception ต่อ Agamben ในแวดวงมานุษยวิทยามีพิสัยค่อนข้างกว้าง คือมีตั้งแต่ที่รับมาปรับใช้หรือว่าพัฒนาขึ้นไปอย่างพวก Hansen กับ Stepputat ที่เสนอแนวคิด de facto sovereignty ที่หมายถึงความสามารถในการสังหาร ลงทัณฑ์ และจัดระเบียบวินัยโดยไม่ต้องรับผิด หรือพวกที่แบ่งรับแบ่งสู้อย่าง Ross ที่เสนอว่านักมานุษยวิทยาประสบความยากลำบากในการปรับใช้แนวคิดของ Agamben เพราะมีที่มาจากปรัชญาและประวัติศาสตร์กฎหมาย ไม่ใช่การศึกษาภาคสนามหรือในชีวิตจริง ไปจนกระทั่งถึงพวกที่วิจารณ์อย่างรุนแรง เช่น Ong โดย Ong เสนอว่าการพูดถึงชีวิตที่เปลือยเปล่าในสภาวะยกเว้นถาวรละเลยความเป็นไปได้ของการต่อรองอันซับซ้อนของกลุ่มคนที่ไม่ถูกนับว่าเป็นพลเมือง นอกจากนี้ อำนาจสูงสุดก็ยังสามารถเป็นช่องทางให้ผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เสียเปรียบหรืออยู่ในตำแหน่งด้อยอำนาจในสภาวะปกติได้อาศัยในการสร้างตัวตนและแสดงออกซึ่งอำนาจได้ หรือเป็น mediated agency ดังกรณีของร่างทรงผู้หญิงที่ได้อำนาจมาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เป็นอำนาจเหนือชีวิต หรือกรณีสตรีมุสลิมที่ด้วยการจำนนต่อพระเจ้าในฐานะบุตรสาวของพระองค์ก็ช่วยให้พวกเธอสามารถใช้สิทธิอำนาจในนามของพระเจ้าได้ เช่น การสามารถบอกให้ผู้ชายเลิกประชุมกลางคันด้วยเหตุผลที่ว่าได้เวลาละหมาดแล้ว ไม่ว่าการประชุมจะกำลังเข้มข้นเพียงใดหรือไม่ว่าจะมีผู้ชายคนไหนที่อยากจะข้ามการละหมาดนี้ไปเสีย การมองพิธีกรรมว่าเป็นอาณาบริเวณที่อำนาจประเภทนี้ทำงานเข้มข้นและขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางให้ผู้ด้อยกว่าในสภาวะปกติได้แสดงซึ่งอำนาจจะช่วยให้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมกับอำนาจที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น

ประเด็นที่สาม การมอง agency ผ่านทางการสร้าง subjectivity ในเชิงบวกเช่นนี้ไม่ควรมองในเชิงเครื่องมือ กลไก หรือว่าในลักษณะของ instrumentality คือไม่สามารถมองว่าผู้หญิงต้องการเป็นร่างทรงเพราะต้องการอำนาจ หรือเพราะผู้หญิงต้องการอำนาจจึงมาเป็นร่างทรง และฉะนั้นเราจึงไม่สามารถสรุปหรือทึกทักเอาเองได้ว่าพฤติกรรมของร่างทรงสะท้อนถึงการที่ผู้หญิงพยายามแสดงความเป็นชาย หรือการระบายความคับแค้นทางเพศ เพราะนอกจากเป็นการเข้าใจ agency ในเชิงเครื่องมือ กลไก ยังเป็นการใช้แนวคิดทฤษฎีเช่นจิตวิเคราะห์มาใช้อธิบายพฤติกรรมผู้หญิงแทนที่จะฟังเสียงของผู้หญิงว่าพวกเธอเข้าใจและอธิบายการกระทำของพวกเธออย่างไร ซึ่งออกจะตรงข้ามกับเป้าหมายของหนังสือที่ต้องการศึกษาพิธีกรรมความเชื่อจากทัศนะหรือมุมมองของชาวบ้านหรือท้องถิ่น เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์หรือตีความโดยอาศัยแนวคิดต่างๆ เช่น จิตวิเคราะห์ หน้าที่นิยม หรือโครงสร้างหน้าที่ มากกว่าจะเป็นเสียงของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในส่วนของผู้ใช้บริการ คำถามก็คือว่าจะทำอย่างไรจึงจะได้ยินเสียงของผู้คนเหล่านี้แทนที่จะอธิบายมันทิ้งไปเสียด้วยแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ซึ่งการพิจารณาพิธีกรรมในลักษณะเช่นนี้เป็นคล้ายๆ กับการศึกษาพิธีกรรมของ Geertz ที่ Rosaldo ได้ตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ไว้ได้อย่างน่าสนใจ คือ เป็นการศึกษาพิธีกรรมความเชื่อที่ถูกครอบงำด้วยความเป็นเหตุผล ความคิดเชิงปรัชญา หรือว่านามธรรม แต่ละเลยมิติทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง Rosaldo กล่าวว่าแม้ว่าเขาจะมีแนวคิดและทฤษฎีอะไรมากมาย แต่ก็ไม่ช่วยให้เข้าสามารถเข้าใจได้อย่างแท้จริงว่าเหตุใดความเศร้าโศกจากความสูญเสียจึงก่อให้เกิดความโกรธแค้นภายในจิตใจของชาว Ilongot จนต้องออกไปล่าหัวชนเผ่าอื่นในที่สุด จนกว่าเข้าจะประสบความสูญเสียครั้งใหญ่ด้วยตนเอง นั่นคือ การสูญเสียภรรยา ซึ่งแม้แนวคิดของ Rosaldo จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่มันก็เป็นการชี้ชวนให้เราหันมาให้ความสำคัญกับมิติด้านอารมณ์ของวัฒนธรรมหลังจากที่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดของ Geertz มานาน ซึ่งแนวคิดของ Rosaldo นี้ถือว่าเป็นต้นกำเนิดหนึ่งของกระแส Turning-inward trend ในทางมานุษยวิทยาและปัจจุบันก็พัฒนามาเป็น reflexive anthropology ที่แม้บางส่วนจะเลยเถิดไปถึงขั้นเอาแต่จ้องสะดือตนเองแต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูแลกัน

การที่ผมหยิบยกมิติทางด้านอารมณ์โดยเฉพาะของผู้ที่เราศึกษาขึ้นมาเพราะสำคัญเมื่อมาถึงประเด็นชนชั้นกลางซึ่งได้รับการกล่าวถึงเป็นการเฉพาะหลายกรณียิ่งกว่าชาวบ้าน โดยชนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ถูกอธิบายว่าด้วยผลพวงของการพัฒนาแบบทุนนิยม คนเหล่านี้กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว และจึงมีปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ เป็นพวกมีความสับสนทางศีลธรรม ซึ่งผมคิดว่าการกล่าวเช่นนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่สามารถทึกทักหรือเหมารวมได้โดยง่าย ขณะเดียวกันการที่อธิบายว่าการใช้บริการทางจิตวิญญาณของคนเหล่านี้เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัวเชิงจิตใจและอารมณ์ก็มีแนวโน้มที่จะติดกับหน้าที่นิยมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพวกกลุ่มทฤษฎีกระบวนการกลายเป็นทางโลก ที่ว่าภายใต้การขยายตัวของรัฐรวมทั้งตลาด ความเชื่อทางศาสนามีแนวโน้มที่จะถอยร่นไปสู่อาณาบริเวณความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งไม่น่าจะใช่ เพราะนอกจากที่คนอย่าง Hefner ชี้ให้เห็นว่าศาสนาหลักอย่างอิสลาม คริสต์ และฮินดู กลับเข้ามามีบทบาทในความสัมพันธ์ทางสังคมของคนปัจจุบันอย่างไรแล้ว กรณีธรรมกาย สันติอโศก หรือแม้แต่พิธีเสด็จพ่อ ร.5 เจ้าแม่กวนอิม และการไหว้ผี ที่หนังสือชี้ให้เห็นต่างก็มีผลต่อการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนทั้งสิ้น

นอกจากนี้ การที่ชนบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยเฉพาะในยุคดิจิตอล ไม่ว่าในแง่ของระบบการผลิต วิธีคิดของผู้คน วิถีชีวิต และแบบแผนการบริโภค ก็ทำให้เส้นแบ่งระหว่างเมืองกับชนบทไม่มีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดพอที่จะใช้เป็นหน่วยในการวิเคราะห์ที่แตกต่างอย่างมากเช่นเดิมอีกต่อไป เราไม่เหลือชาวบ้านหรือชุมชนหรือท้องถิ่นไหนที่จะเป็นข้อยกเว้นในการวิเคราะห์ให้เห็นความแตกต่างในเชิงพิธีกรรมความเชื่อได้เช่นเดิมอีก ข้อท้าทายก็คือว่าเราจะมีแนวคิดและวิธีการศึกษาอะไรที่จะช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจและอธิบายพิธีกรรมความเชื่อได้ในสภาวการณ์ที่หน่วยทางสังคมที่เรามีอยู่แต่เดิมได้พร่าเลือนไปแทบหมดแล้วเช่นนี้