นบีไม่กินหมาก พิธีกรรมความเชื่อมลายูในกระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลาม

นบีไม่กินหมาก พิธีกรรมความเชื่อมลายูในกระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลาม
อนุสรณ์ อุณโณ
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ปาตานี ฟอรั่ม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางอีเมล
editor.pataniforum [at] gmail [dot] com

“งานเขียนของอนุสรณ์ อุณโณ เรื่อง นบีไม่กินหมาก นี้ นับเป็นงานเด่นอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงเสน่ห์ของงานเขียนทางมานุษยวิทยาในการพยายามทำความเข้าใจวิถีชาวบ้านที่ตนศึกษา แล้วสรุปแนวคิดรวบยอดจากปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันของชาวมลายูมุสลิมโดยโยงให้เห็นถึงพลวัตของชุมชนมุสลิมที่ไม่เคยหยุดนิ่งและแข็งกระด้างตามความรับรู้ของคนทั่วไป อนุสรณ์เริ่มจากการชี้ชวนให้เห็นถึงข้อถกเถียงสำคัญของมลายูศึกษาที่ว่า “ใครคือคนมลายู (ออแฆนายู)” โดยใช้พลังของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาวมลายูในชุมชนที่ตนศึกษา เพื่อถกเถียงว่าแท้ที่จริงแล้วอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูนั้นไม่ได้มีคำตอบตายตัวหรือมีปาตานีเป็นศูนย์กลางแบบเดียว หากมีความลื่นไหลและหลากหลายความหมายอยู่ไม่น้อย

….

การยืนอยู่บนขนบของนักมานุษยวิทยาที่จะไม่ตัดสินความถูก-ผิด ในหมู่ชนที่ตนศึกษาเพียงแต่พยายามมุ่งแสวงหาคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจความซับซ้อนของสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางสังคมรวมทั้งประเพณีและพิธีกรรมบางอย่างของชาวบ้านนั้น น่าจะทำให้งานของอนุสรณ์ชิ้นนี้มีคุณูปการที่สำคัญยิ่งต่อแวดวงอิสลามศึกษาที่จะต่อยอดการทำงานกับชาวบ้านและชุมชนจากจุดยืนของตนเองต่อไป”

บางส่วนจากคำนำ โดย สุชาติ เศรษฐมาลินี
มหาวิทยาลัยพายัพ

และอ่านบทปริทัศน์ โดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ได้ที่นี่

คำนำ

อนุสรณ์ อุณโณ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


การจะเรียกประชากรส่วนใหญ่ใน “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” รวมถึงในบางอำเภอของจังหวัดใกล้เคียงอย่างไรดูจะยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะแม้พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มลายูนับถือศาสนาอิสลาม ทว่ารัฐและราชการไทยดูเหมือนไม่ประสงค์ที่จะเรียกพวกเขาว่า “มลายูมุสลิม” ตามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนา หากแต่เลือกที่จะเรียกพวกเขาว่า “ชาวไทยมุสลิม” หรือ “ชาวไทยเชื้อสายมลายู” ในบางกรณี เนื่องจากต้องการสลายและกลืนกลายพวกเขาให้เป็น “ชาวไทย” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติและศาสนา พวกเขาจึงเป็นได้แต่ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามหรือเป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู เหมือนเช่นชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ฯลฯ หรือชาวไทยเชื้อสายจีน เชื้อสายมอญ ฯลฯ ไม่สามารถเป็นชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามได้ เพราะขัดกับกุศโลบายการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่รัฐไทยดำเนินมา

ในทางกลับกัน อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนาเช่น “มลายูมุสลิม” ก็มีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง เพราะแม้มลายูและอิสลามจะประสานกันแนบแน่นจนแทบเป็นเนื้อเดียวหรือแทนกันได้ ดังการใช้คำว่า “นายู” (มลายู) และ “ยาวี” (อักษรมลายูที่ดัดแปลงจากอักษรอาหรับ) แทนคำว่าอิสลามในวลีที่หมายถึงการเข้าศาสนาและพิธีขลิบตามลำดับ แต่ก็ใช่จะเป็นเช่นนี้เสมอไป โดยเฉพาะหลังเกิดกระแสความตื่นตัวในศาสนาอิสลามในช่วงสามทศวรรษเศษที่ผ่านมาที่แนวโน้มสำคัญประการหนึ่งคือการชำระศาสนาอิสลามให้บริสุทธิ์ ปลอดการปนเปื้อนจากพิธีกรรมความเชื่อ มลายู รวมทั้งการปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกพิธีกรรมความเชื่อมลายูที่ขัดกับศาสนาอิสลาม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมมลายูกับศาสนาอิสลามไม่ได้ราบรื่นหรือเป็นเนื้อเดียวกันไปเสียทั้งหมด ไม่นับรวมข้อที่ว่า “ความเป็นมลายู” เป็นอัตลักษณ์ที่ประกอบสร้างขึ้นภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์และการเมืองเฉพาะ และอิสลามก็เป็นศาสนาที่ประกอบด้วยการตีความที่แตกต่างหลากหลายหรือกระทั่งขัดกัน

หนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมความเชื่อมลายูกับศาสนาอิสลามภายใต้กระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลามรวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณะและวงวิชาการเท่าที่ควร โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่ความสนใจกระจุกตัวอยู่ที่เหตุการณ์ความไม่สงบ แทนที่จะเป็นชีวิตของชาวมลายูทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในหลายลักษณะ ขณะเดียวกันแม้จะมีงานเขียนจำนวนหนึ่งให้ความสำคัญกับชีวิตและสังคมชาวมลายู แต่ก็มักจะให้ภาพที่หยุดนิ่งตายตัวมากกว่าพลวัต การปรับตัว และการต่อรองของพวกเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพิธีกรรมความเชื่อมลายูกับศาสนาอิสลาม หนังสือเล่มนี้จึงมุ่งตอบคำถามว่าชาวมลายูมีชีวิตอย่างไร ประกอบพิธีกรรมความเชื่อแบบไหน ขัดกับศาสนาอิสลามหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะหลังเกิดกระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลาม พวกเขาปรับตัวและต่อรองอย่างไร รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้

หนังสือเล่มนี้อาศัยข้อมูลส่วนใหญ่ของจากรายงานวิจัยเรื่อง “นบีต๊ะมาแกปีแน” (นบีไม่กินหมาก): มลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชื่อบุคคลและสถานที่ในหนังสือเป็นนามสมมติ เพราะต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูลเนื่องจากข้อมูลหลายส่วนมีความละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่อผู้ให้ข้อมูลรวมถึงผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ผมจึงไม่สามารถเอ่ยนามจริงพวกเขาในการกล่าวขอบคุณสำหรับความเอื้ออารีและมิตรไมตรีที่พวกเขามีให้ หากหนังสือจะยังประโยชน์หรือก่อให้เกิดคุณงามความดีใดผมก็ขออุทิศให้กับพวกเขาที่ช่วยให้ความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมมลายูและศาสนาอิสลามในชายแดนใต้ของรัฐไทยมีความประณีตและละเอียดลออยิ่งขึ้น

ยามสายกลางเดือนสิงหาคม 2559 กรุงเทพฯ