ความเป็นธรรมในสังคมไทย

ccscs_57-05(2)
ใบปิด: ดีไซน์
ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอเชิญร่วมเสวนาชุดโครงการพัฒนาดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคม ครั้งที่ 1

ความเป็นธรรมในสังคมไทย

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 13.00-16.30 น.
ห้องบรรยาย 103 ชั้น 1
อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผู้ร่วมเสวนา

อาจารย์ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ || คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ || คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ || คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ || คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมเสวนาและดำเนินรายการโดย

อาจารย์จุฬารัต ผดุงชีวิต || คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ในช่วงระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยประสบวิกฤตการณ์ด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายกรณีมีสาเหตุมาจากหรือมีความเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เป็นธรรม เช่น แม้การขยายตัวอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจจะช่วยให้คนหลุดพ้นจาก “เส้นความยากจน” มากขึ้น แต่ก็ทำให้ช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้นเพราะความที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจในระดับรากฐาน และแม้ในระยะที่ผ่านมาประเทศไทยมีการลงทุนและการค้ากับต่างชาติมากขึ้น มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมการผลิต เครื่องมือและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ทว่าความสามารถในการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากความเจริญก้าวหน้าดังกล่าวยังคงไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ การขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบไม่ได้หายไปไหน หากแต่ได้กลายรูป มีความยืดหยุ่นและลื่นไหลมากขึ้น ซึ่งแม้จะช่วยลดทอนการต่อต้านหรือการลุกฮือขนานใหญ่ลงได้ระดับหนึ่ง แต่หลายกรณีก็ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้อง “ความเป็นธรรม” อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึง “ความเป็นธรรม” คนส่วนใหญ่มักจะตีความและเข้าใจว่าเป็นเรื่องของหลักเกณฑ์และข้อกฎหมาย โดยมีรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่สามารถดำเนินการตรวจสอบและตัดสินได้ว่าบุคคลใดสมควรจะได้รับความเป็นธรรม ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนพอสมควร เนื่องจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับ “ความยุติธรรม” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยข้อกำหนดทางกฎหมายที่ระบุไว้เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสินจากการกระทำต่างๆ แต่ประเด็น “ความเป็นธรรม” มีความซับซ้อนและสามารถมองได้หลายมิติกว่า ตั้งแต่เรื่องจิตสำนึก คุณธรรมและวิธีคิดของบุคคล ระบบคุณค่า โครงสร้างและกลไกทางสังคม รวมถึงนโยบายรัฐ การทำความเข้าใจประเด็น “ความเป็นธรรม” จึงเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและจำเป็นจะต้องได้รับการตีความและทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนในสังคมโดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้สามารถอาศัยเป็นแนวทางในการปฏิบัติ อันจะนำมาสู่การสร้างสังคมที่มีความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น