โครงการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ชุมชน ชุมชนตลาดล่าง อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

local-history-and-community-museum-development-in-sawee

โปสเตอร์: เดชาภิวัชร์ นพมิตร

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ ขอเชิญนักศึกษาที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การทำงานร่วมกับชุมชน การจัดการมรดกวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์ศึกษา เข้าร่วมโครงการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การจัดการมรดกวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์ศึกษา ณ ชุมชนตลาดล่าง อ.สวี จ.ชุมพร ระหว่างวันที่ 9 – 12 สิงหาคม 2556

*นักศึกษาที่สนใจ สามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย*


ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น ชุมชนตลาดล่าง อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

ข้อมูลบางส่วนจากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
โดย อาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นฯ แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของบ้านเลขที่ 173-175 ถนนวานิชบำรุง ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นย่านที่อยู่อาศัยและศูนย์กลางเศรษฐกิจดั้งเดิมของ อ.สวี ที่เรียกรวมกันว่าย่านตลาดล่าง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสวีที่อยู่ทางด้านตะวันตกอันเป็นเส้นทางสัญจรเพื่อการนำผลผลิตทางการเกษตรจากชาวสวนในเขต อ.สวีมาขึ้นยังท่าเรือที่ที่สุดปลายของถนนวานิชบำรุงเพื่อส่งขายผ่านยังตลาดล่าง ไปสู่สถานีรถไฟสวี ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกที่ปลายอีกด้านของ ถนนวานิชบำรุง

ย่านตลาดล่างเริ่มมีการพัฒนาปรับปรุงโรงสีข้าว บ้านพักอาศัย และโรงเลื่อยขึ้นที่บริเวณริมฝ่งแม่น้ำสวี มาตั้งแต่ พ.ศ.2462 จนเริ่มเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้าและเส้นทางคมนาคมของ อ.สวี มาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2460 แม้กระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นก็ได้เข้าใช้พื้นที่บริเวณตลาดล่างเป็นเส้นทางในอยู่อาศัย และการส่งกำลังบำรุง ด้วยความที่มีทั้งโรงเลื่อย โรงสีข้าว และสถานีรถไฟในบริเวณเดียวกัน ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ถูกโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร ช่วงหลังสงคราม (ปริญญา ชูแก้ว, 2556)

ย่านตลาดเก่าก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของย่านเศรษฐกิจสำคัญของ อ.สวี เรื่อยมา กระทั่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ รัฐบาลได้ก่อสร้างเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อ อ.สวีกับเส้นทางหลวง ทำให้การสัญจรทางน้ำที่ชาวสวนขนถ่ายสินค้ามาขึ้นท่าเรือบริเวณตลาดล่างลดน้อยลง และไม่จำเป็นต้องพึ่งเพียงเส้นทางรถไฟอีกต่อไป (ท่าเรือเลิกใช้ไปเมื่อประมาณทศวรรษที่ 2510) กิจการการค้าต่างๆ จึงค่อยๆ ซบเซาลง จนเมื่อ พ.ศ.2535 โรงภาพยนตร์เสาวภาราซึ่งเคยเปิดบริการในชุมชนแห่งนี้ได้ปิดตัวลง ก็เป็นสัญญานให้เห็นถึงความถดถอยของย่านตลาดล่างที่ค่อยๆ กลายสภาพเป็นเช่นในปัจจุบันคือส่วนใหญ่อาคารถูกปล่อยให้เช่า มีสภาพทรุดโทรม (ปริญญา ชูแก้ว, 2556)

เมื่อประมาณ พ.ศ.2553 ในชุมชนตลาดล่างเริ่มมีกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อต้องการรื้อฟื้นชุมชนให้กลับมามีชีวิตชีวา แต่ยังไม่ได้จัดตั้งกลุ่มเป็นทางการ มีเพียงการพูดคุยกันภายใน กระทั่งเมื่อ อ.ปริญญา ชูแก้ว ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและเป็นเลขาธิการอีโคโมสไทย (ICOMOS Thailand) ได้เข้ามาทำโครงการฟื้นฟูเมือง การอยู่อาศัยในภูมิภาค อ.หลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งอยู่ติดกับ อ.สวี และสามารถพัฒนาขึ้นจนจัดตั้งศูนย์ข้อมูลชุมชนตลาดล่างเป็นผลสำเร็จ แต่สิ่งที่ศูนย์ฯแห่งนี้ยังขาดอยู่คือเนื้อหาการจัดแสดงที่บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนที่เชื่อมโยงในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค และการจัดการเกี่ยวกับวัตถุจัดแสดง อาทิ การทำทะเบียน การอนุรักษ์เบื้องต้น และคำบรรยายวัตถุ

ในการนี้ได้เล็งเห็นว่าทางพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ มีศักยภาพในการช่วยพัฒนาการจัดการภายในศูนย์ชุมชนท้องถิ่นดังกล่าวได้ จึงได้จัดทำโครงการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ชุมชน ชุมชนตลาดล่าง อ.สวี จ.ชุมพร ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และและเรียนรู้ถึงกระบวนการทำงานด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ และยังสามารถเป็นพื้นที่หนึ่งให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สนใจประเด็นด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษาและทรัพยากรมรดกทางวัฒนธรรมได้ลงมือปฏิบัติจริง

อ้างอิง
ปริญญา ชูแก้ว. 2556. ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ชุมชนตลาดล่าง อ.สวี จ.ชุมพร. (พิมพ์ครั้งที่สอง) กรุงทพฯ: บริษัท เบสท์ พริ้นติ้ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด.


กำหนดการ

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2556

07.00 น.
ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยรถตู้
12.00 น.
แวะรับประทานอาหารเที่ยงที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์
15.00-16.00 น.
เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร โดยมีวิทยากรนำชม
17.00 น.
รับประทานอาหารเย็น
20.00 น.
เข้าที่พักบริเวณใกล้เคียงชุมชนตลาดล่าง อ.สวี จ.ชุมพร

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2556

07.00 น.
รับประทานอาหารที่ตลาดเช้า อ.สวี จ.ชุมพร
08.00 – 12.00 น.
สำรวจพื้นที่โดยรอบชุมชนตลาดล่าง อ.สวี จ.ชุมพร และพื้นที่โดยรอบ
โดยวิทยากรในท้องถิ่น เพื่อกำหนดเนื้อหาที่จะใช้ในการจัดแสดง
12.00 – 13.00 น.
รับประทานอาหารเที่ยง
13.00 – 17.00 น.
แบ่งทีมทำงานออกเป็น 2 ทีม คือ

  • ทีมที่ 1 ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยวิทยากรท้องถิ่น พร้อมกับสัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชน
  • ทีมที่ 2 สำรวจโบราณวัตถุและพื้นที่จัดแสดง เพื่อจัดทำทะเบียน คำบรรยายรูป และจัดเตรียมพื้นที่เพื่อการจัดแสดง

17.00 น.
รับประทานอาหารเย็น
19.00 น.
ประชุมสรุปการทำงานประจำวัน และวางแผนงานสำหรับวันที่ 11 สิงหาคม 2556

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2556

07.00 น.
รับประทานอาหารที่ตลาดเช้า อ.สวี จ.ชุมพร
08.00 – 12.00 น.
จัดทำเนื้อหา การจัดแสดงในศูนย์ข้อมูล
12.00 – 13.00 น.
รับประทานอาหารเที่ยง
13.00 – 15.00 น.
จัดทำเนื้อหา การจัดแสดงในศูนย์ข้อมูล
15.00 -17.00 น.
ลงชุมชมศึกษาวิถีชีวิตชาวสวน โดยวิทยากรในท้องถิ่น
18.00 น.
รับประทานอาหารเย็น

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2556

08.00 น.
เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร
17.00 น.
ถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยสวัสดิภาพ


  • ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
    ที่สำนักงานเลขานการคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
    ชั้น 2 อาคารคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
  • สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ โทร. 02 – 564-4440 – 50 ต่อ 1752-53