สิ้นศตวรรษ โคลด เลวี-สโทรสส์




“โครงสร้างนิยมที่มีการปฎิบัติอย่างถูกต้องนั้น ไม่ได้มุ่งที่จะสื่อ “สาร” ใดๆ ไม่ได้เป็นกุญแจไขไปสู่ความกระจ่างทุกๆ ด้าน ไม่ได้ มีจุดประสงค์ที่จะสร้างโลกทัศน์ใหม่หรือแม้แต่สร้างทัศนะใหม่เกี่ยวกับมนุษย์ โครงสร้างนิยมมิได้มุ่งหมายสร้างเครื่องมือเยียวยาสังคม หรือก่อตั้งแนวคิดเชิงปรัญชา

นักโครงสร้างนิยมถือว่าตนเองเป็นช่างฝีมือที่ทำงานหนัก และคอยสนใจในปรากฏการณ์ที่เล็กน้อย เกินกว่าจะทำให้ใครตื่นเต้น แม้ว่าจะมีลักษณะเล็กน้อยก็ตาม แต่เมื่อนำมันมาพิจารณา ในระดับโครงสร้าง สักวันหนึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ ก็อาจกลายเป็นเนื้อหาของความรู้ที่เคร่งครัดได้”

โคลด เลวี-สโทรสส์
Le Monde (13 มกราคม 1968)
(คัดจาก สรรนิพนธ์มนุษยศึกษาและสังคมศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 20)

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดงานเสวนา “สิ้นศตวรรษ โคลด เลวี-สโทรสส์” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ

สิ้นศตวรรษ…ของโคลด เลวี-สโทรสส์

โคลด เลวี-สโทรสส์ (Claude Levi-Strauss) นักมานุษยวิทยาคนสำคัญ หนึ่งในบรรดานักคิดที่ทรงอิทธิพลที่สุดของฝรั่งเศส และยุโรปได้ถึงแก่กรรมแล้วด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว (cardiac arrest) เมื่อวันศุกร์ที่ 31 ตุลาคมนี้ เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่เขาจะมีอายุครบ 101 ปี โดยการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ถึงการเสียชีวิตของ “ นักมา นุษยวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล” ผู้นี้ เพิ่งมีขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

บุตรชายของ โคลด เลวี-สโทรสส์ กล่าวว่าพิธีฝังศพมีขึ้นที่เมือง ลินเยอรอลล์ (Lignerolles) เขตโกตต์ ดอร์ (Côte-d’Or) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปารีส ซึ่งเป็นที่พำนักในชนบทและ เป็นสถานที่ที่โคลด เลวี-สโทรสส์ ได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ทั้งกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “(โคลด เลวี-สโทรสส์) ได้แสดง ความปรารถนาที่จะให้งานศพของตนนั้นเป็นไปอย่างสงบ และเรียบง่ายท่ามกลางครอบครัว ณ บ้านพักในชนบทแห่งนี้”

“(โคลด เลวี- สโทรสส์) ชื่นชอบที่จะใช้เวลาว่างไปกับการ เดินทางท่องป่า และท้ายที่สุดก็ปรารถนาที่จะฝังศพของเขา ณ ชายป่าแห่งนี้”

โคลด เลวี-สโทรสส์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปฏิวัติการศึกษา ทางมานุษยวิทยาในศตวรรษที่ 20 เขาได้ปรับแนวคิดโครงสร้างนิยม ในภาษาศาสตร์เข้ามาใช้กับการศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยเสนอว่า เราสามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และระบบ ความเชื่อในฐานะระบบขององค์ประกอบต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน อันเป็นที่มาของแนวทฤษฎีทางมานุษยวิทยา ที่เรียกกันต่อมาว่าสำนัก “โครงสร้างนิยม” (structuralism) งานศึกษาของเขาค้นหาแบบแผนที่อยู่ภายใต้รูปแบบที่หลาก หลายของพิธีกรรมและตำนานในวัฒนธรรมต่างๆ ให้ความสนใจ กับทั้งความแตกต่างและความคล้ายคลึง ระหว่างสังคมตะวันตก สังคมชนพื้นเมืองในอเมริกาและในแถบลุ่มน้ำอเมซอน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของโลกตะวันตก เกี่ยวกับกลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกขานว่า “ชนพื้นเมืองดั้งเดิม” (primitive)

ภายหลังข่าวการเสียชีวิตของ โคลด เลวี-สโทรสส์ แพร่ออกไป บุคคลสำคัญ และสถาบันต่างๆ ในฝรั่งเศสได้ร่วมไว้อาลัยกับการ เสียชีวิตของเขาตลอดวันอังคารที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี กล่าวไว้อาลัยว่า โคลด เลวี-สโทรสส์ เป็น “หนึ่งในนักชาติพันธุ์วิทยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” นายแบร์นาด์ กุชแนร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของฝรั่งเศส กล่าวว่า “ (โคลด เลวี-สโทรสส์) ได้ทลายทัศนะ ที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และมนุษยชาติ…”

นายโคอิชิโร มัตซึอุระ เลขาธิการองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กล่าวในแถลงการณ์ ว่า “ความคิดของ โคลด เลวี-สโทรสส์ ได้เปลี่ยนแปลงมุมมอง ที่ผู้คนมีต่อกัน ทลายกรอบคิดที่แบ่งแยก อย่างแนวคิดเรื่องเชื้อชาติ และได้บุกเบิกทัศนะใหม่ ๆ บนพื้นฐานของความตระหนัก ถึงสายใยร่วมกันแห่งมนุษยชาติ …พวกเราโศกเศร้ากับการ จากไปของเขา ซึ่งเป็นการสูญเสียของทั้งโลก แต่เราจะเฉลิมฉลอง ชีวิตของเขาซึ่งได้อุทิศให้แก่ การให้ความรู้เพื่อสร้างภูมิปัญญา และความเข้าใจ อันมีรากฐานมาจากความสนใจใคร่รู้ ไม่มีที่สิ้นสุด เกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งได้นำพาเขาไปยังซอกมุมต่างๆ ที่ห่างไกล ของโลก และได้เปลี่ยนแปลงมานุษยวิทยาสมัยใหม่ไปอย่างสำคัญ”

……………..

โคลด เลวี-สโทรสส์ เกิดเมื่อปี ค.ศ.1908 (พ.ศ.2451) ในครอบครัวผู้หลงใหลงานศิลปะชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิวที่มีฐานะร่ำ รวย เขาเติบโตในปารีส และได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปารีส (ซอร์บอนน์) เขาออกเดินทางไปยังประเทศบราซิล เพื่อเป็นอาจารย์ พิเศษที่มหาวิทยาลัย เซา เปาโลในช่วงทศวรรษ 1930 และเริ่มออก เดินทางสำรวจภาคสนามโดยเฉพาะในภาคกลางและตะวันตกของ บราซิล เขาเดินทางกลับมาฝรั่งเศสเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสงครามเมื่อ ค.ศ. 1939 และทำงานสอนหนังสือภายหลังสงครามสิ้นสุด แต่ก็เผชิญกับแรงกดดันจากการเหยียดเชื้อชาติยิวภายใต้ระบอบวิชี่ (Vichy) เขาจึงย้ายไปพำนักในสหรัฐอเมริกา และต่อมาได้เริ่มสอน หนังสือที่ New School for Social Research ในนิวยอร์ค ระยะเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษในอเมริกานั้นเอง ที่เขาได้พบกับ ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน และโรมัน ยาคอบซัน (Roman Jacobson) นักทฤษฎีภาษาชาวรัสเซีย อิทธิพลจากแนวการศึกษามานุษยวิทยาวัฒนธรรมในอเมริกาและ แนวคิดภาษาศาสตร์โครงสร้าง เป็นพื้นฐานสำคัญของแนวคิดที่ โคล้ด เลวี สโทรสส์ พัฒนาและได้รับการเรียกขานในเวลาต่อมา ว่ามานุษยวิทยาโครงสร้าง (Structural Anthropology)

โคลด เลวี-สโทรสส์ เดินทางกลับฝรั่งเศสและได้นำเสนอ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเมื่อปี ค.ศ.1948 ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ เป็นหนังสือชื่อ The Elementary Structures of Kinship และได้รับการยกย่องอย่างมากในแวดวงวิชาการ การตีพิมพ์หนังสือ Tristes Tropiques ในปี ค.ศ.1955 ซึ่งถือกันว่าเป็นการสืบทอดประเพณี งานเขียน “การเดินทางเชิงปรัชญา” ที่นับเนื่องมาแต่ศตวรรษที่ 16 และได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านชาวฝรั่งเศสอย่างกว้างขวางเป็นประ วัติการ และทำให้ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะ ปัญญาชนชั้นนำของฝรั่งเศส

ผลงานต่อๆ มาของ โคลด เลวี-สโทรสส์ ที่มีอิทธิพลต่อ มานุษยวิทยาและได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างเช่น Structural Anthropology (1958) The Savage Mind (1962) และรวมบทวิเคราะห์ชุด Mythologies ระหว่างทศวรรษ 1960-70

ถึงแม้ว่าแนวคิดของเขาจะขัดแย้งอย่างรุนแรงกับแนวคิดปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (existentialism) ของฌอง ปอล ซาร์ตร แต่เขาก็ได้รับ การยกย่องจากคู่ชีวิตของซาร์ตร คือซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) เกี่ยวกับการตีความบทบาทของเพศหญิงในระบบเครือญาติว่า เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าในสมัยนั้น และแม้ว่าแนวคิดโครงสร้างนิยมจะถูกท้าทายและทดแทนด้วย แนวคิดที่เรียกว่า “หลังโครงสร้างนิยม” ในช่วงทศวรรษที่ 1980 แนวคิดของ โคลด เลวี-สโทรสส์ก็ได้รับการอ้างถึงในงานเขียนของนักคิดหลังโครงสร้างนิยม อย่างมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) และฌาคส์ แดริดา (Jacques Derrida)

เหนืออื่นใด นักมานุษยวิทยา ทั้งหลายยังคงรู้สึกทึ่งระคนอัศจรรย์ใจในตัวโคลด เลวี-สโทรสส์อยู่เสมอตราบจนปัจจุบัน มิใช่เพราะเขาได้นำเสนอทฤษฎีที่สมบูรณ์แบบ หากบนพื้นฐานของทฤษฎีที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โคลด เลวี-สโทรสส์ กลับสามารถพัฒนาคำอธิบายที่แหลมคมอย่างเหลือเชื่อ เกี่ยวกับ แทบทุกประเด็นสนใจของการศึกษาทางมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม

โคลด เลวี-สโทรสส์ได้รับตำแหน่งสำคัญๆ สูงสุด ในสถาบันที่เกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยาของฝรั่งเศสหลายตำแหน่ง ระหว่างปี ค.ศ. 1949-1950 ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติ (Musée de l’Homme) ระหว่างปี ค.ศ. 1950-1974 ได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านมานุษยวิทยา ที่สถาบันการศึกษาชั้นสูง (École Pratique des Hautes Études) และในปี ค.ศ. 1959 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยแห่งฝรั่งเศส (College de France) อันทรงเกียรติ และได้รับการสถาปนาให้เป็นสมาชิกแห่งราชบัณฑิตยสภาแห่งฝรั่งเศส (l’Académie Française) ในปี ค.ศ. 1973  นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญให้ร่วมงานกับรัฐบาลฝรั่งเศส และองค์การ สหประชาชาติ โดยเฉพาะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กร UNESCO ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง การฉลองครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้ง UNESCO ณ กรุงปารีสในปี ค.ศ. 2005 ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ โคลด เลวี-สโทรสส์ ปรากฏ ตัวต่อสาธารณชน

เมื่อโคลด เลวี-สโทรสส์ มีอายุครบหนึ่งร้อยปีใน ค.ศ. 2008 (28 พฤศจิกายน พ.ศ.2551) ได้มีการเฉลิมฉลองทั้งในฝรั่งเศสและอีกกว่า 25 ประเทศทั่วโลก ที่พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาแห่งใหม่ของฝรั่งเศส (Musée du Quai Branly) ได้เปิดหอประชุมและโรงละครเพื่อเป็น เกียรติในนามของ โคลด เลวี-สโทรสส์ และในวันเดียวกันนี้เอง เพ่ือเป็นการคารวะต่อโคลด เลวี-สโทรสส์ และผลงานอันลือลั่น ของเขา ได้จัดให้นักวิชาการผู้มีชื่อเสียง นักปรัชญา นักเขียน นักจิตวิเคราะห์ และศิษยานุศิษย์จำนวนกว่าร้อยคน (อาทิ Hélène CIXOUS , Maurice GODELIER, Julia KRISTEVA, Philippe DESCOLA และ Marshall SAHLINS) ร่วมกันการอ่านงานเขียน สำคัญบางตอนโดยเริ่มตั้งแต่เวลา13.00-21.00 น. (จากผลงาน ชิ้นสำคัญ 14 เล่ม) นอกจากนั้นยังจัดรายการวิทยุเป็นสัปดาห์พิเศษ ว่าด้วยดนตรีและโคลด เลวี-สโทรสส์ รวมถึง เปิดบทเพลงโปรด ของเขาคือ งานของเดอ บุซซีและวากเนอร์ (Pelléas et Mélisande ของ Claude Debussy, Tristan et Isolde ของ Richard Wagner) สลับกับการสนทนา กับผู้รู้ทางดนตรี ในแง่มุมต่างๆตลอดทั้งสัปดาห์ นอกจากนั้น ยังถือเป็นเกียรติอย่างสูงในวงการหนังสือของประเทศฝรั่งเศสก็คือ ผลงาน ของโคลด เลวี-สโทรสส์ ได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์อยู่ในคอลเล็คชั่น Bibliothèque de la Pléiade ซึ่งจะคัดสรรจัดพิมพ์ อย่างประณีต โดยเฉพาะแต่ผลงานอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับ กันทั่วไปเท่านั้น โดยที่ผลงานจำนวน 2130 หน้าชิ้นนี้ โคลด เลวี-สโทรสส์ ได้เป็นผู้คัดสรรผลงานที่จะนำมาตีพิมพ์ด้วยตนเอง

การเฉลิมฉลองเหล่านี้ออกจะขัดแย้งกับบุคลิกภาพของ โคลด เลวี-สโทรสส์ อยู่ไม่น้อย เขาต้องการให้โอกาสของการมีชีวิต อยู่ข้ามผ่านศตวรรษนั้นเป็นไปอย่างเงียบๆ มากกว่า เขากล่าวว่า “สำหรับอายุเท่านี้ วันเกิดไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอีกต่อไป เพราะว่า มันไม่มีเหตุผลที่จะเฉลิมฉลองให้กับการก้าวต่อไปสู่ความร่วงโรยทางกายภาพและปัญญา”

วันนี้ ศตวรรษของโคลด เลวี-สโทรสส์ ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว อย่างสิ้นเชิง สำหรับคนที่เกิดเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 และใช้ชีวิตมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 21 นั้น เขากล่าวอยู่เสมอในช่วงท้ายๆของชีวิตว่า “โลกที่ข้าพเจ้ารู้จักและรักใคร่นั้น เป็นโลกที่มีประชากรเพียงแค่สองพันห้าร้อยล้านคนเท่านั้น แต่โลกที่มีประชากรถึงเก้าพันล้านคน เช่นทุกวันนี้นั้น ไม่ใช่โลกของข้าพเจ้าอีกต่อไปแล้ว”

พรรณราย โอสถาภิรัตน์ และ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์: รายงาน

ที่มา

สรรนิพนธ์มนุษยศึกษาและสังคมศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 20
http://news.bbc.co.uk/2/hi/europe/8340936.stm
http://news.bbc.co.uk/2/hi/europe/8341489.stm
http://www.guardian.co.uk/science/2009/nov/03/claude-levi-strauss-dies
http://www.guardian.co.uk/science/2009/nov/03/claude-levi-strauss-obituary
http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=32829&Cr=unesco&Cr1=