สังวาลย์มรดกโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป

    ccscs-cseas-kreangkrai-heritage-necklace-in-mainland-sea

    ใบปิด: ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ

    ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
    คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    ร่วมกับ
    ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
    สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ขอเชิญร่วมกิจกรรม เข้านอกออกใน อุษาคเนย์ ครั้งที่ 4

    สังวาลย์มรดกโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป

    โดย
    ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ
    คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

    ร่วมแลกเปลี่ยนโดย
    ดร.เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์
    สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

    วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558
    เวลา 13.00-16.00 น.

    ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
    ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


    งานวิจัยเชิงนโยบายอันสืบเนื่องมาจากการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ผ่านมา มักเน้นให้ความสำคัญกับ 2 เสาหลัก คือ มิติด้านการเมืองและความมั่นคง และมิติด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่มิติทางด้านสังคมวัฒนธรรม หากไม่จำกัดอยู่ภายในแวดวงของการวิจัยพื้นฐานทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ก็มักได้รับการอ้างอิงอย่างผิวเผินในรูปของการนำเสนอภาพลักษณ์เพื่อการประชาสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ โครงการวิจัย “สังวาลย์มรดกโลก (World Heritage Necklace) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป: ศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ และมรดกวัฒนธรรม โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยง” โดย ผศ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี พ.ศ.2556 เป็นตัวอย่างหนึ่งของงานวิจัยเชิงบูรณาการ ที่พยายามเชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายทางด้านการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

    กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ไทย มาเลเซีย เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม เป็นที่ตั้งของแหล่งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ถึง 20 แห่ง และยังมีพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกกว่า 30 แห่ง แหล่งมรดกโลกโดยเฉพาะแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมของดินแดนในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี โครงการวิจัยของ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ได้ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมายังขาดความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่จะร่วมกันบริหารจัดการการท่องเที่ยวแหล่งมรดกอย่างเป็นองค์รวม ตลอดจนพัฒนาประเด็นเชื่อมโยงเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ และได้เสนอแนวทางพัฒนาแผนแม่บทการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมการบูรณาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปเข้าด้วยกันผ่านแหล่งมรดกโลกที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่น และวัฒนธรรมการท่องเที่ยว

    ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเกียรติจาก ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ มาถ่ายทอดประสบการณ์ ข้อค้นพบ และข้อเสนอจากโครงการวิจัย และ ดร. เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกวัฒนธรรมศึกษา ให้เกียรติมาร่วมแลกเปลี่ยน ในกิจกรรมเสวนา “แลกเปลี่ยน-เรียนรู้เรื่องอาเซียน” เพื่อเปิดประเด็นสนทนาว่าด้วยการจัดการมรดกวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่สาธารณชนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น