นัยทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัย 2554

socanth-talk-series-4-2557
ภาพ: สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
สรวลเสวนาสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา
ครั้งที่ 4/2557

ขอเชิญฟังการนำเสนอผลงานของโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากกองทุนวิจัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นัยทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัย 2554

โครงการวิจัยโดย ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน 2557
เวลา 13.00-16.30 น.

ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


ปรากฏการณ์ธรรมชาติจำพวกน้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว จะเป็น “ภัยพิบัติ” หรือไม่เพียงใดไม่ได้ขึ้นกับขนาดหรือความรุนแรงของปรากฏการณ์ธรรมชาติเพียงประการเดียว หากแต่ยังขึ้นกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของแต่ละพื้นที่อย่างสำคัญ ดังกรณี “มหาอุทกภัย 2554” ในประเทศไทย แม้คนสถานะทางเศรษฐกิจดีจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่คนยากคนจนได้รับผลกระทบในจำนวนมากและรุนแรงกว่า อีกทั้งยังมีช่องทางหรือทางเลือกการรับมือกับปัญหาจำกัดกว่า ในทำนองเดียวกันแม้โรงงานอุตสาหกรรมจะถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายจำนวนมาก แต่เรือกสวนไร่นาถูกน้ำท่วมเสียหายในบริเวณกว้างกว่า ขณะที่แม้กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมบ้าง แต่ปริมณฑลและพื้นที่รอบนอกถูกน้ำท่วมมากกว่าและนานกว่า เพราะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำให้กับกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางระบบเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้นมหาอุทกภัยครั้งนี้จึงไม่ได้สะท้อนความเป็นธรรมของ “Mother Nature” ในการลงโทษมนุษย์ที่โอหังเหมือนดังโวหารที่แพร่กระจายในสื่อเท่าๆ กับเผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจที่มนุษย์ด้วยกันได้ก่อขึ้นมา

ขณะเดียวกันผู้ประสบอุทกภัยมักถูกวาดภาพผ่านสื่อในฐานะ “เหยื่อ” ที่รอคอยความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มอาสาสมัคร สื่อมวลชน ฯลฯ อย่างสิ้นหวัง ทว่าในความเป็นจริงผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ไม่ได้ “งอมืองอเท้า” หรือปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม หากแต่ได้พยายามรับมือและปรับตัวต่ออุทกภัยภายใต้เงื่อนไข ความเป็นไปได้ และข้อจำกัดที่แวดล้อมพวกเขาอยู่ และหลายกรณีพวกเขาได้ริเริ่มสร้างสรรค์หรือสร้าง “นวัตกรรมทางสังคม” ที่สามารถนำไปปรับใช้หรือเป็นแนวทางให้กับพื้นที่อื่นในกรณีที่ประสบเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันได้ จึงเป็นที่น่าสนใจที่จะนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยของอาจารย์ประจำคณะเรื่อง “นัยทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัย 2554” สู่สังคม


กำหนดการ

13.00-13.40 น. ลงทะเบียน-กล่าวต้อนรับ

13.40-14.20 น.
นัยทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัย 2554: ผลการศึกษาเชิงสำรวจ
กฤษฎา แก้วเกลี้ยง

14.20-14.50 น.
นัยยะทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัยปี 2554 พื้นที่อยุธยา
นิรมล ยุวนบุณย์

14.50 -15.00 น. พักรับประทานอาหารว่าง

15.00-15.30 น.
นัยยะทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัยปี 2554 พื้นที่นครปฐม
นันทา กันตรี

15.30-16.00 น.
นัยยะทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัยปี 2554 พื้นที่ปทุมธานี
รพีพรรณ เจริญวงศ์

16.00-16.15 น.
กล่าวสรุปและสังเคราะห์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ

16.15-16.30 น. แลกเปลี่ยนซักถาม

ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.ปณิธี บราวน์