Contemporary Right-Wing Extremism in Europe and the US

contemporary-right-wing-extremism-in-eur-and-us
ใบปิด: ดีไซน์

ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ขอเชิญร่วมเสวนาวิชาการ

Contemporary Right-Wing Extremism
in Europe and the US
ขบวนการขวาจัดร่วมสมัยในยุโรปและอเมริกา

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2559
เวลา 13.30 – 15.30 น.
ณ ห้องประชุมโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


13.00 – 13.20 น. ลงทะเบียน

13.20 – 13.30 น.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุสรณ์ อุณโณ
คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
กล่าวเปิดงานเสวนา

13.30 – 15.30 น.
เสวนาหัวข้อ “Contemporary Right-Wing Extremism in Europe and the US”
รองศาสตราจารย์ ดร. Goran Adamson

สรุปประเด็นและชวนอภิปรายโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร

ลงทะเบียนล่วงหน้าได้ ที่นี่


สังคมตะวันตกมักถูกนับเป็นแหล่งกำเนิดและต้นแบบของความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค เป็นตัวแทนของความก้าวหน้า พลังของการเปลี่ยนแปลง เป็นตัวอย่างของสังคมที่ชูความแตกต่างหลากหลายและเคารพในความเป็นปัจเจกของบุคคลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ทว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์จำนวนมากในสังคมตะวันตกที่ท้าทายความเชื่อดังกล่าวอย่างสำคัญ เช่น ความรู้สึกเกลียดชังมุสลิมและกระแสต่อต้านผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางในประเทศแถบยุโรป ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาเกิดกระแสความนิยมในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เช่น นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเสนอนโยบายต่อต้านผู้อพยพสุดขั้วและเน้นการฟื้นฟูระบบคุณค่าเก่าของสังคมอเมริกันในส่วนที่คับแคบกีดกัน คำถามจึงเป็นว่าอะไรที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากในสังคมตะวันตกหันมาเชิดชูระเบียบสังคมและการเมืองแบบเก่า อะไรที่ทำให้พวกเขาเห็นจารีตประเพณีที่ล้าหลังเป็นสิ่งดีมีคุณค่า ต้องฟื้นฟูรักษา ขณะที่เห็นความเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่เข้ามาใหม่เป็นภัยคุกคามที่ต้องต่อต้าน อะไรที่ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นในเผด็จการที่อ้างตัวว่ามีคุณธรรมแทนที่จะเชื่อมั่นในการเจรจาต่อรองกันอย่างเสมอหน้าของประชาชน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้รับการอธิบายในหลายลักษณะ ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปตั้งแต่ปี 2008 ที่ส่งผลให้คนจำนวนมากยากจนและตกงาน นำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกและเหินห่างจากการเมืองกระแสหลัก พวกเขารู้สึกว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่ไม่สนใจหรือไม่สามารถเป็นตัวแทนของพวกเขาได้ เปิดโอกาสให้นักการเมืองและนักปลุกระดมฝ่ายขวาเข้ามาดึงความนิยม กล่าวกันว่าชาวอังกฤษที่ออกเสียงให้ประเทศอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่อุตสาหกรรมเก่าถูกทำลาย พวกเขาต้องการออกจากสหภาพยุโรปเพราะต้องการออกไปจากสังคมและการเมืองแบบเดิม นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งเห็นว่าการขยายตัวของฝ่ายขวาหรือว่าอนุรักษ์นิยมในยุโรปเป็นผลมาจากสงครามในตะวันออกกลางที่ก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพจำนวนมหาศาล ซึ่งเมื่อผสานกับสภาพความยากแค้นและตกงาน รวมทั้งอคติต่อศาสนาอิสลามที่มีอยู่เดิม ก็ส่งผลให้เกิดกระแสต้านผู้อพยพเหล่านี้ในหมู่ชาวยุโรปจำนวนมาก ไม่ได้เป็นผลมาจากความคิดชาตินิยมที่แฝงฝังและไหลเวียนอยู่ในสังคมแต่เพียงอย่างเดียว

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการกลับมาและขยายตัวของพลังฝ่ายขวาหรือกระแสอนุรักษ์นิยมเช่นกัน เพราะแม้การ “อภิวัฒน์สยาม 2475” จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เปลี่ยนสังคมไทยจากสังคมจารีตที่เป็นลำดับชั้นเป็นสังคมสมัยใหม่ที่เน้นความเสมอกัน ทว่าสภาพการณ์ดังกล่าวดำรงอยู่ได้ไม่นานก็ถูกตอบโต้ท้าทายจากพลังฝ่ายขวา ถูก “ทวงคืน” โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นกว้างขวาง นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกปปส. มาจนกระทั่งรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่หลายฝ่ายเห็นว่าได้พาสังคมและการเมืองไทยย้อนกลับไปก่อนสมัย “อภิวัฒน์สยาม 2475” อีกครั้ง คำถามจึงเป็นว่าเหตุและปัจจัยใดที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้

ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เห็นความสำคัญในการตอบคำถาม ทำความเข้าใจ และอธิบายของการกลับมาและการขยายตัวของพลังฝ่ายขวาและกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริการวมถึงประเทศไทย จึงเห็นควรที่จะจัดเสวนาหัวข้อ Contemporary Right-Wing Extremism in Europe and the US หรือ ขบวนการขวาจัดร่วมสมัยในยุโรปและอเมริกา โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. Goran Adamson ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นดังกล่าวเป็นผู้กล่าวเสวนา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในปรากฏการณ์ดังกล่าวให้กับสังคมเพื่อจะได้สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมเท่าทันต่อไป