สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา





สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จัดพิมพ์โดย WAYofBOOK

บุญเลิศ วิเศษปรีชา ลงเรียนภาษาตากาล็อกเป็นเวลา 1 เทอม ก่อนเดินทางไปลงฟิลด์ที่กรุงมะนิลาเป็นเวลาสองเดือนในปี 2554 จากนั้นเขากลับไปเรียนภาษาตากาล็อกที่วิสคอนซินอีกสองเทอม พร้อมพัฒนาเค้าโครงความคิด ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตเป็นโฮมเลสเต็มรูปแบบที่กรุงมะนิลาอีก 14 เดือน ในช่วงปี 2556-2557

สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา คือเรื่องเล่า บทบันทึก ความปรารถนาที่จะเข้าใจมนุษย์

คำนำ: ลึกลงไปในใจของมนุษย์

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เมื่อใครสักคนต้องทำงานเขียนวิทยานิพนธ์หนึ่งเล่ม อันเป็นแบบแผนที่ทำให้เสร็จตามกฏเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยแล้ว มันได้หลงเหลืออะไรให้แก่คนเขียนบ้าง บรรดาผู้จบปริญญาเอกจำนวนไม่น้อยก็พบว่าทุกอย่างก็จบลงไปแต่นั้น หากแต่สำหรับอาจารย์บุญเลิศแล้ว สิ่งที่ได้พบเห็นในระหว่างการเก็บข้อมูลนั้น มันไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูล หากสิ่งที่อยู่ลึกลงไปว่ากว่าข้อมูลผิวเผินนั้นยังคงค้างให้อาจารย์บุญเลิศคิดและรู้สึกถึงบางอย่างที่ลึกลงไปมากกว่าข้อมูลธรรมดา

ความรู้สึกที่ลึกลงไปนั้น นอกจากความเรียงที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้อันเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลวิทยานิพนธ์แล้ว อาจารย์บุญเลิศยังได้เขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับชีวิตของพี่น้องคนไร้บ้านในฟิลิปปินส์ไว้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้แสดงอารมณ์ความรู้สึกอีกชุดหนึ่งที่สะท้อนมาจากข้อมูลที่ได้รับระหว่างการเดินทางหาความรู้

อะไรคือความรู้สึกที่ฝังลงไปจนทำให้ไม่สามารถที่จะหยุดมันลงเพียงแต่วิทยานิพนธ์ได้

บทสุดท้ายของหนังสือ อาจารย์บุญเลิศได้เล่าทบทวนการได้มาซึ่งชื่อของวิทยานิพนธ์ที่อาจารย์ที่ปรึกษาได้ตั้งให้โดยมีชื่อรองว่า “การค้นหาความสุขบนท้องถนนในเมืองมะนิลา” (Searching for Happiness on the Streets in Manila) ในตอนแรกอาจารย์บุญเลิศเถียงว่าเขาไม่ได้หมายความคนไร้บ้านมีความสุขนะ แต่ภายหลังเมื่อได้ใช้ชีวิตข้างถนนและได้ข้อสรุปทั้งหมดมาเขียนแล้ว ก็พบว่าชื่อที่บอกว่า “พวกเขาพยายามค้นหา (searching) ความสุข” นั้นตรงกับความคิด (ที่ได้) ที่สุดแล้ว

อาจารย์บุญเลิศได้พบเห็นและได้เข้าร่วมอยู่ในกระบวนการค้นหา / การอธิบาย / และการปรับเปลี่ยนความหมายของความสุข เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ของพี่น้องคนไร้บ้านตลอดเวลากว่า 14 เดือน จึงทำให้เมื่อถูกถามในค่ำคืนสุดท้ายว่า “นายคิดยังไงกับคนไร้บ้าน” จึงไม่สามารถที่จะตอบได้อย่างง่ายๆ นอกจากการดึงเอาเหตุผลของการศึกษามาตอบให้แก่เพื่อนฝูงคนไร้บ้าน เช่น เดิมคิดว่าคนไร้บ้านคือคนตกงาน แต่เมื่อเข้าพื้นที่จริงๆ แล้วพบว่าไม่ใช่ เป็นต้น เพราะสิ่งที่อยู่ในหัวใจอาจารย์บุญเลิศนั้น มันตอบไม่ได้ว่า “คิดยังไง” แต่อาจารย์บุญเลิศจะตอบได้ทันทีและชัดเจนหากจะถามคำถามเสียใหม่ว่า “ รู้สึกยังไงกับคนไร้บ้าน” มากกว่า และอาจารย์บุญเลิศได้ตอบคำถามสำคัญนี้ในบทความที่รวมอยู่ในเล่มนี้และในเรื่องสั้นที่กินใจผู้อ่านอย่างยิ่ง

ความรู้สึกเจ็บปวดที่เพื่อนหักหลังในกรณีโรเดลฉกกล้องถ่ายรูปไปนั้น ได้รับการเล่าอย่างเข้าใจว่าคนที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนนั้นย่อมทำอะไรก็ได้ที่เราอาจจะคาดไม่ถึง ดังนั้นจึงทำให้อาจารย์บุญเลิศเข้าใจคำเตือนของพี่ที่เชสพลาซ่าว่า “อย่าไว้ใจใครทั้งสิ้น แม้กระทั่งฉันด้วย” ขณะเดียวกันก็ได้พบความรู้สึกถึงความเป็นเพื่อนจากบาร์ตโตเรมีซึ่งเป็นคนที่ไม่มีใครอยากจะคบด้วย แต่กลับแสดงความเป็นห่วงและรับผิดชอบในการหาใครสักคนมานอนเป็นเพื่อนอาจารย์บุญเลิศในช่วงที่เขาจะกลับบ้านไปหาเมีย (ในเรื่อง ‘บาร์ตโตเรเม’ ) พร้อมกันนั้น อาจารย์บุญเลิศก็ได้เล่าให้ฟังว่า การที่บาร์ตฝากเขาไว้กับกลุ่มที่เมาสุดๆ นั้นทำให้บาร์ตถูกต่อว่าจากหลายคนว่าพาไปจุดที่เสี่ยงเกิน และคนที่ต่อว่าหนักที่สุด ได้แก่ คริส ซึ่งได้อธิบายถึงคนไร้บ้านว่า “พวกเราทุกคนล้วนมาจากครอบครัวแตกแยก เพราะฉะนั้น เราจึงมาสร้างครอบครัวใหม่ที่นี่ มาหาเพื่อนใหม่ที่นี่ เราจึงสบายใจกว่าที่จะอยู่ที่นี่ (ในเรื่อง ‘คริส ผู้หญิงบนท้องถนน’)

ความปรารถนาที่จะเข้าใจการค้นหา / การอธิบาย / และการปรับเปลี่ยนความหมายของความสุขเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้อันเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจ จึงทำให้อาจารย์บุญเลิศมองเห็นและแยกแยะเรื่องราวที่ถูกเล่าและเรื่องราวที่ไม่ถูกเล่า (told and untold stories) ของพี่น้องคนไร้บ้านได้อย่างเข้าใจ และได้ยกเรื่องที่ทำให้เห็นว่าไม่ว่าเรื่องจะถูกเล่าอย่างไรและบางเรื่องไม่ถูกเล่าก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในสภาวะของการแสดงตัวตนในจังหวะความสัมพันธ์กับ “คนอื่น” ในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไปเที่ยวงานบุญที่บ้านของโจอี้ (ในเรื่อง ‘ไปเฟียสต้ากับโจอี้’) ซึ่งอาจารย์บุญเลิศได้สรุปความรู้สึกของตนเองว่า “คืนนั้น ผมจึงได้รู้จักโจอี้ลึกซึ้งขึ้น ผมไม่ติดใจแม้แต่นิดว่าเรื่องราวที่เขาเคยบอกกับผมก่อนหน้านี้เป็นเรื่องราวที่ถูกแต่งแต้มขึ้น…ผมดีใจที่เขาพาผมมารู้จักพี่สาวที่เขานับถือ มารู้จักเพียสตาง่ายๆ ในครอบครัวคนจน” หรือการเมาร่วมกับ “เอ็นริเล่” และได้รับคำตอบว่า “นายคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเล่าให้คนอื่นฟังนักเหรอว่าพ่อแม่ฉันแยกทาง นายคิดว่าฉันอยากจะคิดถึงมันและอยากพูดออกมาเหรอ” (ในเรื่อง ‘เอ็นริเล่ เบื้องหลังฮีโร่’)

สำหรับคนทั่วไป เรื่องเล่าและเรื่องที่ไม่ถูกเล่าล้วนแล้วแต่สัมพันธ์อยู่กับการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แต่สำหรับคนไร้บ้านแล้วยิ่งมีความสำคัญมากกว่า อาจารย์บุญเลิศได้จัดวางให้มองเห็นและที่สำคัญทำให้ผู้อ่านรู้สึกได้อย่างเหมาะสม

การถ่ายทอดเรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลาเล่มนี้ ไม่เพียงทำให้เข้าใจได้ถึงชีวิต และการต่อสู้ชีวิตของคนที่ไม่เคยมีเสียงในแผ่นดินฟิลิปปินส์เท่านั้น หากแต่ยังทำให้รู้สึกได้ถึงสายสัมพันธ์อันมีค่าของคน ดานี่ได้พูดว่า “ฉันจะไปที่หลุมศพของพ่อแม่ฉัน…เอาดอกไม้ไปวาง…พอ…พี่น้องฉันมาเคารพศพ เขาจะเห็นดอกไม้ เรามีกันแค่สี่คน ถ้าไม่ใช่ของพวกเขาสามคน พวกเขาก็จะรู้เองว่าดอกไม้เป็นของฉัน ฉันยังไม่ตายและยังคิดถึงพ่อกับแม่ของฉันอยู่” (ในเรื่อง ‘วันรวมญาติของดานี่’)

เมื่ออาจารย์บุญเลิศถาม “นกนก” ว่าความฝันของเขาคืออะไร คำตอบ ได้แก่ “ถ้าวันไหนที่ฉันมีเงินเยอะนะ ฉันจะสร้างตึกให้เพื่อนอยู่ฟรี ไม่ต้องให้เพื่อนฉันนอนตากฝนลำบากที่ข้างถนน….นอนรวมๆ กัน มีหลายๆ ชั้น จะได้นอนได้หลายคน” คำตอบนี้ประทับใจอาจารย์บุญเลิศที่คนไร้บ้านอย่างนกนกเขานึกถึงคนอื่น ไม่ใช่แค่ตัวเอง (ในเรื่อง ‘ห่อเปี๊ยปักปักของนกนก’)

สายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อมนุษย์ด้วยกัน คือสิ่งที่จรรโลงสังคมมนุษย์มาโดยตลอด อาจารย์บุญเลิศได้ดึงขึ้นมาจากส่วนลึกของความทรงจำที่เราหลงลืมกันไปมากแล้ว

หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งหรือผลพลอยได้จากการทำวิทยานิพนธ์ของอาจารย์บุญเลิศเท่านั้น หากแต่เป็นบทบันทึกที่อยู่ลึกลงไปในใจของมนุษย์ หากไม่โกหกตัวเอง เราล้วนแล้วแต่เคยเดินผ่านคนทุกข์ยากมามากมายนับครั้งไม่ถ้วน แต่เราไม่เคยใช้เวลาในการทำความรู้จักพวกเขาเลย
ชีวิตการทำงานวิชาการของอาจารย์บุญเลิศจึงแยกไม่ได้ระหว่างการแสวงหาความรู้ทางวิชาการเพื่อที่จะเข้าใจสภาวะของคนไร้บ้าน และความรู้สึกของหัวใจในการทำความเข้าใจมนุษย์ผู้ถูกกดทับให้อยู่ต่ำที่สุดในสังคม ขอขอบคุณอาจารย์บุญเลิศในความปรารถนาดีที่มีค่าเช่นนี้ เพราะในวันเวลาที่โลกมืดมิดเฉกเช่นในปัจจุบันนี้ การทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นเรื่องกำหนดอนาคตของมนุษย์เลยทีเดียว