ตราสัญลักษณ์งาน 50 ปี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

TUSA 50th logo TH
ตราสัญลักษณ์โดย สรัช สินธุประมา

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์


ตราสัญลักษณ์นี้ ออกแบบโดย ศิษย์เก่าคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รุ่น 46 ภายใต้แนวคิดที่จะสื่อถึง “วันเวลา” สำคัญที่เกี่ยวข้องกับคณะ รวมถึงแนวคิดของงานที่จะจัดขึ้นในช่วงปีของการเฉลิมฉลอง

2508-2558 คือปีของการก่อกำเนิดในยุคเริ่มแรกที่จัดตั้งเป็นแผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนมาถึงปีของงานเฉลิมฉลองครบ 50 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สถาบันทางวิชาการแห่งหนึ่งมีอายุครบกึ่งศตวรรษ

คณะฯ เสนอแนวคิด “ออกมาข้างใน เข้าไปข้างนอก” ให้เป็นประเด็นหลักของงานวิชาการที่จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 16-17 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ซึ่งนอกจากจะเป็นเสมือนหัวใจของสาขาวิชาแล้วยังแสดงให้เห็นถึงทิศทางใหม่ๆ ของการศึกษาด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในทศวรรษหน้า

“ออกมาข้างใน เข้าไปข้างนอก” แสดงให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ต้องทำงานอยู่อย่างก้ำกึ่งระหว่างการพยายามเป็นคน “ข้างใน” เพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นคน “ข้างนอก” ด้วยการรักษาระยะห่างกับสิ่งที่ตนเองศึกษา นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ถูกเรียกร้องให้ต้องทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทั้ง “ใน” และ “นอก” เขตแดนประเทศของตนเอง เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบข้ามสังคมวัฒนธรรม ภาระกิจของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาถูกผูกโยงและคาดหวังกับภาระหน้าที่ของการเป็นนักวิชาการบนหอคอยงาช้างและ/หรือการเป็นนักวิชาการสาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นทิศทางการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในทศวรรษหน้า “มนุษย์” ไม่อาจเป็นศูนย์กลางของการศึกษาอีกต่อไปหากต้องขยายการศึกษาออกไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมไปถึงสิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงสภาพแวดล้อมของมนุษย์ นอกจากนั้น งานวิชาการในทศวรรษหน้า ไม่อาจหยุดอยู่ภายในกรอบสาขาวิชาของตนเอง หากต้องอาศัยความร่วมมือข้ามศาสตร์ ข้ามสาขา

หลังจากที่ผู้ออกแบบเสนอรูปลักษณ์ต่างๆของตราสัญลักษณ์ที่จะหลอมรวมความหมายทั้งปวงให้เป็นหนึ่งเดียว ในท้ายที่สุด ตราสัญลักษณ์นี้ก็ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของงานเฉลิมฉลอง

นอกจากเลข 50 อันเป็นตัวเลขครบรอบปีของการสถาปนาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแล้ว สีชมพูยังเป็นสีประจำคณะที่ใช้เป็นแถบสีพาดบ่าข้างขวาของชุดครุยบัณฑิตของมหาวิทยาลัย และวงกลมสีชมพูที่บรรจุอักษรย่อชื่อคณะในภาษาอังกฤษยังเป็นตัวแทนของปรัชญาคณะฯที่ประกอบด้วยคำสำคัญสามคำคือ “เข้าใจ” “เคารพ” และ “เปลี่ยนแปลง”

ด้วยความ “เข้าใจ” อย่างรอบด้านเสียก่อนเป็นเบื้องต้น จึงจะโน้มนำให้เกิดความ “เคารพ” ในสรรพสิ่ง แล้วจึงจะสามารถสร้างความ “เปลี่ยนแปลง” ได้ในท้ายที่สุด…และทั้งหมดนี้คือภาระหน้าที่และความมุ่งมั่นของสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันและจะสืบต่อไปในอนาคต