จิตรกรรมพุทธศาสนาสมัยพุกาม

หนังสือ จิตรกรรมพุทธศาสนาสมัยพุกาม เล่มที่ 1 ตัวบท และ เล่มที่ 2 ภาพประกอบและคำอธิบาย โดย ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ได้รับรางวัลผลงานทางวิชาการดีเด่น ด้านมนุษยศาสตร์ รางวัล TTF Award ประจำปี 2558-2559

ปก-รูปเล่ม
ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ
อิสรชัย บูรณอรรจน์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

แนะนำหนังสือ จิตรกรรมพุทธศาสนาสมัยพุกาม


อาณาจักรพุกามในลุ่มแม่น้ำอิระวดีตอนกลาง ดำรงฐานะศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมพุทธศาสนาเถรวาท แห่งสำคัญของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13. แม้ภายหลังจากสมัยรุ่งเรืองของอาณาจักรลงมาแล้ว พุกามก็ยังคงดำรงความสำคัญทางจิตวิญญาณในโลกพุทธศาสนาในฐานะศูนย์กลางจาริกแสวงบุญ สำหรับพุทธศาสนิกชนจากแดนไกล สืบต่อเนื่องมาอีกช้านาน. งานศิลปกรรมพุทธศาสนาสมัยพุกาม ปรากฏภายใต้สุนทรียภาพและความหมายทางศาสนาเฉพาะตัว ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการผนวกรวมเข้าด้วยกัน ของอิทธิพลด้านรูปแบบศิลปกรรมและประติมานวิทยาในพุทธศาสนา จากแถบพิหารและเบงกอลในคาบสมุทรอินเดีย กับอิทธิพลด้านตัวบทคัมภีร์บาลีตามคติพุทธศาสนาเถรวาทจากศรีลังกา, และยังอาจอยู่ภายใต้ความพยายามเชิงสัญลักษณ์ที่จะสถาปนา “พุกาม” ให้เป็นศูนย์รวมด้านจิตวิญญาณแห่งใหม่ในโลกพุทธศาสนา ทดแทนพุทธคยาอันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมจากการรุกรานของพวกมุสลิม.

งานศึกษาที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ สนใจวิเคราะห์จิตรกรรมฝาผนังสมัยพุกาม รวมถึงงานศิลปกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมพุทธศาสนาของพุกาม ในมิติต่างๆ เป็นต้นว่า เรื่องระบบสื่อความเชิงสัญลักษณ์พุทธศาสนา, เรื่องตรวจสอบการดำรงอยู่ของคติพุทธศาสนามหายาน, เรื่องเนื้อหาและแบบแผนของการเขียนภาพจิตรกรรมรวมถึงความสัมพันธ์กับแหล่งคัมภีร์ต่างๆ และเรื่องความสัมพันธ์ในเชิงพัฒนาการระหว่างประเพณีเขียนภาพจิตรกรรมสมัยพุกาม กับจิตรกรรมพุทธศาสนาระยะแรกของไทย.

ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์