สีสันในควันไฟ: ชีวิตชาวมลายูมุสลิมในเหตุการณ์ความไม่สงบ


ภาพ: Mira Lee Manickam
ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอเชิญชมภาพยนตร์สารคดีและร่วมเสวนาวิชาการ

สีสันในควันไฟ:
ชีวิตชาวมลายูมุสลิมในเหตุการณ์ความไม่สงบ

วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2556 เวลา 13.30-16.30 น.
ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


UPDATE: อ่านบันทึกจากการเสวนาได้ ที่นี่

ชีวิตและสังคมชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักถูกวาดภาพให้มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวและค่อนข้างหยุดนิ่ง เป็นภาพของชาวมุสลิมที่มีศรัทธาปสาทะและวัตรปฏิบัติทางศาสนาเคร่งครัด เป็นชาวมลายูผู้สืบทอดธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นมาอย่างสืบเนื่องไม่ขาดสาย และเป็นเครือข่ายญาติสนิทมิตรสหายที่ใกล้ชิดผูกพันเป็นหนึ่งเดียว เป็นภาพของชุมชนท้องถิ่นตามจารีตที่ถูกจัดวางให้อยู่ตรงข้ามกับ “ความทันสมัย” แม้ในแง่หนึ่งกระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลามซึ่งก่อให้เกิดภาพดังกล่าวจะมีนัยของ “ความทันสมัย” ก็ตาม ขณะเดียวกันเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ได้ให้ภาพของพวกเขาในลักษณะที่หากไม่เป็นเหยื่อที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็เป็นฝ่ายของผู้ก่อความไม่สงบที่ปฏิเสธรัฐอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี ชีวิตและสังคมชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้เหตุการณ์ไม่สงบระลอกใหม่มีความสลับซับซ้อนและเคลื่อนไหวเกินกว่าจะสามารถตอกตรึงไว้กับลักษณะหนึ่งลักษณะใดได้ ในด้านหนึ่งพวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะประกอบวัตรปฏิบัติทางศาสนาให้ “ถูกต้อง” และครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ในอีกด้านพวกเขาก็รับเอา “ความทันสมัย” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน พวกเขาให้ความสำคัญกับความเป็นเครือญาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความตึงเครียดแฝงฝังอยู่ในความสัมพันธ์ประเภทนี้ หรือไม่มีความสัมพันธ์ประเภทอื่นโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ดำรงอยู่ในชีวิตทางสังคมของพวกเขา ประการสำคัญ แม้เหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่จะขยับเข้าใกล้ชีวิตของพวกเขามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทว่าพวกเขาไม่ได้อยู่อย่าง “งอมืองอเท้า” หากแต่พยายามปรับตัวและต่อรองตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกับในส่วนของ “ขบวนการ” หรือเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ เหล่านี้เป็นสีสันและความซับซ้อนที่ถูกลดทอนและกลบทับในความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพวกเขาโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

หนังสือ Just Enough: A Journey into Thailand’s Troubled South โดย Mira Lee Manickam เป็นหนึ่งในความพยายามจำนวนไม่มากที่ชี้ให้เห็นสีสันและความซับซ้อนของชีวิตและชุมชนชาวมลายูมุสลิมในสถานการณ์ความไม่สงบ เป็นบันทึกการเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีที่ชี้ให้เห็นว่าการมีศรัทธาปสาทะและวัตรปฏิบัติทางศาสนาที่เคร่งครัดสามารถอยู่กับภาวะ “ความทันสมัย” ที่มาจากประเทศตะวันตกได้อย่างไร ชาวมลายูมุสลิมในหมู่บ้านตอบคำถามที่เกิดขึ้นจากการบรรจบกันของโลกภายนอกและระบบคุณค่าภายในอย่างไร และพวกเขารับรู้และอธิบายตัวเองอย่างไรหากต้องผันตัวเองออกไปสู่โลกภายนอกอย่างเต็มตัว จึงเป็นภาพของชีวิตและสังคมชาวมลายูมุสลิมที่ซับซ้อนและหลากหลาย ไม่ได้หยุดนิ่งหรือเป็นเนื้อเดียวเหมือนเช่นที่มักถูกทำเข้าใจโดยทั่วไป

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีพันธกิจในการเสริมสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และการเคารพในความแตกต่างหลากหลายของชีวิตผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคม จึงได้จัดฉายสารคดีขนาดสั้นและการบรรยายเกี่ยวกับหนังสือ Just Enough: A Journey into Thailand’s Troubled South โดย Mira Lee Manickam พร้อมด้วยการร่วมแลกเปลี่ยนและอภิปรายในประเด็นสืบเนื่องโดยนักวิชาการที่ศึกษาชีวิตและสังคมชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้การกล่าวถึงผู้คนกลุ่มนี้มีความกว้างขวางและครอบคลุมยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่ความเข้าใจและการเคารพในความแตกต่างหลากหลายของพวกเขาที่สอดคล้องกับเงื่อนไขและความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน


กำหนดการ

13.00 – 13.30 น. ลงทะเบียน

13.30 – 14.00 น.
ชมสารคดีสั้นเกี่ยวกับชาวมลายูมุสลิมบ้านดาโต๊ะ จังหวัดปัตตานี โดย Mira Lee Manickam

14.00 – 16.00 น.
การบรรยายและเสวนาว่าด้วยหนังสือ
Just Enough: A Journey into Thailand’s Troubled South*

Mira Lee Manickam
ผู้เขียน/นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักเดินทาง ผู้ผลิตสารคดี

*บรรยายเป็นภาษาไทย

ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนโดย

Alexander Horstmann, Ph.D
อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

อาจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินรายการ โดย
อาจารย์ ดร.ทรงสิริ พุทธงชัย
อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

16.00 – 16.30 น. ซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น