สังคมศาสตร์ กับ การบริหารผ่านระบอบเวลา
วัตถุของเวลาในองค์กรผลิตความรู้แห่งหนึ่ง
สายพิณ ศุพุทธมงคล
ระบอบเวลา และชนคนละชั้น
นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเวลาโรงงานอุตสาหกรรมว่ามันมาทำอะไรกับชีวิตของบรรดาสาวโรงงานบ้าง
ข้อค้นพบของนักศึกษา
- พวกเขาก็รีบเร่งมาให้ทันตอกบัตร รีบเร่งผลิตชิ้นที่ตนรับผิดชอบให้ครบปริมาณที่ทางฝ่ายผลิตกำหนด พักสิบนาทีช่วงเช้าทีบ่ายที พักกินข้าวกลางวันหนึ่งชั่วโมง รีบตอกบัตรออกเพื่อไปให้ทันขึ้นรถโรงงาน ซื้ออาหารถุงไปกินบ้าน ดูละครแบบไม่ติดตาม เพราะบางครั้ง บางทีบ่อยครั้งต้องทำงานกะดึกด้วย นอน ตื่น รีบอาบน้ำแต่งตัวมาโรงงานตอกบัตร…
- วินัยเรื่องเวลา โดยเฉพาะการเข้า-ออกตรงเวลาเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้ขาดว่าสาวที่ทดลองงานจะได้เป็นสาวโรงงานเต็มตัวหรือไม่
- สาวโรงงานเข้าออกบ่อยเพราะพวกเธอมีคุณสมบัติพิเศษ คือไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดๆ เลย สาวโรงงานจำนวนหนึ่งหยุดเลือกงานเมื่อถูกเวลาทางชีววิทยา (อายุและสภาพร่างกาย) บีบบังคับ
ข้อสังเกตเบื้องต้นของคนบนหอคอย
เวลาของสาวโรงงานกับสาวออฟฟิศอาจมีแบบแผนคล้ายกัน แต่ต่างกันที่รายละเอียด และเวลาของสาวสองประเภทแตกต่างอย่างสำคัญจากเวลาของ “ผู้หญิงทำงาน”
ประการแรก ไม่คุ้นหูกับคำว่า “สาวทำงาน” หรือนี่แปลว่าผู้หญิงแบบที่สาม ทำงานโดยไม่ถูกระบอบเวลาการทำงานรัดหรือผูกไว้กับเวลาทางชีวภาพ (อายุ)?
ประการที่สอง ดูเหมือนคุณสมบัติของแต่ละสาว/ไม่สาว (เช่น ในกรณีนี้ การมี/ไม่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน) จะแปรผกผันกับความเคร่งครัดชัดเจนของระบอบเวลา (ไม่มีความเชี่ยวชาญกับความแม่นเป๊ะของเวลา มีชำนัญการ-ความยืดหยุ่นของระบอบเวลา)
ประการที่สาม หาก “สาวโรงงาน” กับ “ผู้หญิงทำงาน” เป็นปลายคนละด้านของเชือกเส้นเดียวกัน ทีี่ทางของสาวออฟฟิศน่าจะอยู่ระหว่างสองปลายนี้ ทั้งในแง่ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และระบอบเวลาที่ควบคุมพฤติกรรมในที่ทำงาน กล่าวคือ
- สาวออฟฟิศเข้า-ออกจากที่ทำงานตามเวลา (เหมือนสาวโรงงาน) แต่การตอกบัตรตรงเวลาไม่ใช่ปัจจัยสำตัญ/เดียวที่บอกว่าเธอจะผ่านการทดลองงานหรือไม่
- ผลผลิตของพวกเธอไม่อาจตรวจนับเป็นตัวเลขได้อย่างสาวโรงงาน (บางคนทำงานครบ แต่หัวหน้าบอกงานไม่ดี บางคนทำไม่ครบไม่ดี แต่เป็นที่พอใจของหัวหน้า ฯลฯ)
- ลักษณะงานแม้ส่วนใหญ่จะผูกพวกเธอไว้กับโต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ เอกสาร แต่ก็สามารถเคลื่อนไหวไปมา เข้าห้องน้ำ เดินไปชงเครื่องดื่ม ดื่มชากาแฟหวาน กินขนมได้โดย (พวกเธอคิดว่า) ไม่ทำให้งานเสีย/เสียงาน (แต่หัวหน้างานอาจ/มักไม่คิดเช่นนั้น)
มองจากมุมของระบอบเวลา ในบรรดาคนสามกลุ่ม การใช้เวลาและการทำงานของสาวออฟฟิศจึงดูไร้ระเบียบ มี/สามารถมีปัญหา (ในสายตาของหัวหน้างาน) ได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน “การจัดการ” สาวกลุ่มนี้ก็ดูจะยากกว่ากลุ่มอื่น
การจับพวกเธอปั๊มนิ้วเพื่อตรวจนับเวลาเข้าออกให้ครบชั่วโมงทำงานจึงเป็นการแก้ปัญหาในเบื้องต้นของหัวหน้างานผู้กลัดกลุ้มทั้งหลาย
ชีวิตของการทำงาน/ชีวิตที่ทำงาน ในระบอบ “โต๊ะธิปไตย”
นักศึกษาอีกคนสนใจทำวิทยานิพนธ์เรื่องคนทำงานออฟฟิศ ดูเหมือนเขามีสมมติฐานว่างานออฟฟิศซ้ำซาก คนทำงานออฟฟิศ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง น่าจะเบื่องาน กระทั่งไม่อยากทำงาน ทำงานไปวันๆ กระนั้นก็ดี คนหนุ่มสาวต่างมุ่งหน้าหาหนทางเข้าสู่สำนักงานของบริษัทเอกชนและหน่วยราชการ
สมมติฐานของนักศึกษาส่วนหนึ่งอาจมาจากประสบการณ์ (เคยทำงานลักษณะนี้ คนอื่นเล่าว่า… ฯลฯ) ส่วนหนึ่งอาจจากความคิดความเชื่อว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ต้องมีการกระทำ (งาน) ที่เราสามารถร่วมคิด ตัดสินใจ สร้างเป้าหมาย อะไรทำนองนี้ อีกบางส่วนอาจมาจากข้อเสนอของนักสังคมวิทยาทีี่เหมือนเห็นคล้ายกัน พูดภาษาสมัยนี้ก็ทำนอง …ระบบที่จับคนมานั่งประจำที่ มีตารางว่าเวลานี้ (วัน สัปดาห์ เดือน ปี) ต้องทำอะไรบ้าง ทำกับใคร อย่างไร ที่ไหน เท่าไร มันเลว เพราะทำลายความเป็นมนุษย์ ทำให้โลกปราศจากสีสัน/ความหวัง
ระบบการทำงานแบบนี้ (ระบุที่ทางใคร ทำอะไร เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร กับใคร เท่าไร) แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เรียกว่า “bureaucracy” – ระบอบโต๊ะ(ตำแหน่งงาน)ธิปไตย ซึ่งเขาเสนอว่าเป็นเงื่อนไขของการดำรงอยู่และเติบโตขององค์กรขนาดใหญ่ทั้งหลาย เพราะทำให้ระบบแบ่งงานกันทำสามารถควบคุมตรวจสอบ (ผ่านเอกสาร บันทึกทั้งหลาย) เกิดประสิทธิภาพเพราะต่างคนต่างทำงานที่ได้รับมอบหมาย ทำครบทำดีมีรางวัล ทำงานไม่จบถูกตัดเงินเดือน ไม่เลื่อนขั้น ทำงานก็ง่ายเพราะหน้าที่ความรับผิดชอบ เกณฑ์ที่ต้องใช้ก็มีตราไว้หมด ไม่ต้องให้ความเห็นอกเห็นใจ/อารมณ์รัก-ไม่รัก/ชอบ-ชัง-รังเกียจ ที่อาจเกิดระหว่างทำงาน กับผู้ร่วมงานและ/หรือผู้ใช้บริการ มาเป็นอุปสรรคในการตัดสินใจตัดสินความ
ลักษณะข้างต้น ทำให้ระบอบนี้มักถูกวิพากษ์ว่าทำให้คนเป็นเครื่องจักร ทำงานไม่เท่าไร แต่ไร้หัวใจเหมือนจักรกลหนักกว่า เพราะระบบทำให้คนทำงานมองกันและกันในฐานะอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือชิ้นๆ อันนำไปสู่เป้าหมายขององค์กร/การเปลี่ยนโต๊ะทำงานของตนเอง
นี่อาจเป็นที่มาของความซ้ำซาก จำเจ สร้างความเบื่อหน่าย ไร้ชีวิตชีวา ชีวิตไร้ความหมายของคนทำงาน
แต่นั่นเป็นระบอบโต๊ะทำงานธิปไตยที่เป็นแบบฉบับในอุดมคติ (ideal type) ที่เอาไว้มอง อ่าน วัดความเข้มข้นของระบอบที่มีอยู่และดำเนินไป ในโลกของมนุษย์ที่มีชีวิตมีความคิดความรู้สึก ถ้าใครเชื่อว่าองค์กรของตนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ด้วยกลไกเช่นนี้ิ ก็ไปดูว่ามีอะไรขาดตกบกพร่อง ซ่อม-สร้าง-เสริมซะ ถ้าคิดว่าระบบโอเคและดูเหมือนทำงานดีเกินไปจนถูกใครๆ ติฉิน ก็ต้องหา ต้องใช้ CSR มารักษา/ทำให้ความเป็นมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจของคนในองค์กรยังอยู่ยังมี
สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้เรื่องที่หนึ่ง คือ ผู้ใช้คิดยังไงกับระบบนี้ เป้าหมายของเขาคืออะไร
พูดอีกอย่างคือการบริหารงานอย่างคำนวณต้นทุนกำไรอย่างรอบคอบ (rationalization) ยังขึ้นกับว่าคนใช้ “คิด” เรื่องต้นทุน (ทรัพยากรมนุษย์เป็นหนึ่งในนั้น) และจะเอากำไรแบบไหน เท่าไร เพื่ออะไร
จะเห็นว่าการ “คิด” ว่าจะเลือกแบบไหนนั้นอย่างไรเสียก็ต้องมีมิติทางศีลธรรม (อะไร “ดี” “ไม่ดี”) ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดเกี่ยวกับที่ทางและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสังคมบางแบบ (กำไรสูงสุดดีที่สุด/คนอื่นช่าง… กำไรน้อยแต่มั่นคงยั่งยืนดีกว่า เราได้/สังคมได้ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่เลวฯ) และ “พันธกิจ” (mission) ขององค์กร (การศึกษาไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์อื่น ผลิตมาก ต้นทุนต่ำ กำไรสูง ดีกับทุกฝ่าย?)
นี่คือเหตุผลหนึ่งว่าทำไมการจัดการคนและทรัพยากร แม้จะใช้กลไกตรวจนับแล้วก็ตาม จึงไม่อาจทำได้อย่างเป็น “วัตถุวิสัย” ล้วนๆ
ขีดเส้นใต้เรื่องที่สอง
ในระบอบโต๊ะทำงานธิปไตยที่เป็นจริง แม้คนจำนวนหนึ่งจะดูคล้ายๆ กลายเป็นผู้ปราศจาก “หัวใจ” ในแง่ที่ทำอะไร “ตามภาระงานที่ได้รับมอบหมาย” และ ปฏิบัติตามกฎกติกาอย่าง “เคร่งครัดตรงไปตรงมา” “ปราศจากฉันทาและอคติ” แต่งานสำนักงานไม่ใช่การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมที่จะบอกได้ชัดเจนว่าชิ้นงานที่ผลิตมีความดีงามสมบูรณ์แบบแค่ไหน อย่างไรเสีย วิจารณญาณของผู้ประเมินก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ดี นี่ไม่ต้องพูดถึงสุนทรีย์เกี่ยวกับตัวงาน (ถ้าบังเอิญผู้บริหารผู้นั้นพอจะมีอยู่บ้าง)
อาจจะด้วยเหตุนี้ การประเมินผลงานในสำนักงานที่ใช้ระบอบโต๊ะธิปไตยจึงยังมี/สร้างความไม่ลงรอยกัน นำไปสู่ความนัอยใจ ขัดเคืองใจ อิจฉา ฯลฯ กันและกันของผู้ถูกประเมิน ความโกรธ กระทั่งเกลียดชังผู้ประเมินของผู้ถูกประเมิน
คิดมาคิดไปแบบไม่ถี่ถ้วนทั้งกระบวนการ นักวิชาการบนหอคอย สงสัยว่าชีวิตในสำนักงานอาจไม่น่าเบื่อ (อย่างเดียว) แต่ยังอุดมด้วยความเครียด ความกลัดกลุ้ม วิตก โกรธ เกลียด ชังน้ำหน้า สารพัด
สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา กับการบริหารองค์กร
ในฐานะศิษย์ที่มีครูเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ จึงมีครูบางคนที่ถูกเชิญบ้างถูกเลือกบ้าง ให้ไปเป็นผู้บริหารหน่วยงานในมหาวิทยาลัยบ้าง นอกมหาวิทยาลัยบ้าง ที่น่าสนใจคือที่ผ่านมา ไม่เคยได้ยิน ไม่มีใครชมเชยว่าครูเหล่านั้นเป็นผู้บริหาร “ที่ดี” ได้ยินบ่อยๆ ทั้งทางตรงทางอ้อม ว่าบรรดาครูเป็นนักวิชาการที่ดี แต่บริหารองค์กรไม่เป็น
ทำไมนักสังคมศาสตร์เก่งๆ นักมานุษยวิทยาผู้ปราดเปรื่อง จึงเป็นผู้บริหารทีี่ไม่เอาไหนในสายตาของคนใน รวมทั้งนอกองค์กร
หรือความรู้สังคมศาสตร์/มานุษยวิทยาที่เรียนมา ที่เที่ยวไปสอน ไปสอบ นักศึกษา มีไว้เพื่อไปตัดสินพวกเขาว่าบางคนเป็นบัณฑิตได้ บางคนไม่ควรเป็น แต่ตัวความรู้ที่ร่ำเรียนกลับไม่เห็นจะเอาไปใช้อะไรได้
คนบนหอคอยจินตนาการตนเองยืนอยู่ในคอกจำเลย ท่ามกลางบัณฑิตและว่าที่บัณฑิต ซึ่งบางคนนักวิชาการเคยเสียดสีให้น้อยใจเจ็บใจ อาจทำให้พวกเขารู้สึกโง่เขลา ไร้ค่า พวกเขาบอกที่สอนมา ที่ว่ากล่าวพวกเขา หาว่าไม่มีหัวใจบ้าง ไร้สำนึกบ้าง ไหนบอกมาซิว่าความรู้ที่ตัวมี ใช้ทำอะไรได้บ้าง
ชี้แจงกับพวกเขาว่าคำถามนี้ นักวิชาการเคยถามครูคนหนึ่ง เขาตอบว่าสังคมศาสตร์ฝึกให้เราคิดอย่างเป็น กระบวนการ ต่อเนื่อง สมเหตุสมผล หากเราสามารถคิดเป็น เราเรียนอะไรก็ได้ ถ้าเราเรียนรู้เรืี่องใหม่ๆ โดยเฉพาะที่ไม่เคยเรียนได้ เราจะทำอะไรก็ทำได้
น่าแปลกใจที่นักวิชาการสมาทานคำของครูโดยไม่ตั้งคำถาม โชคดีที่ภายหลังเขาประจักษ์ด้วยตนเองว่าเรียนสังคมศาสตร์แขนงไหนมาก็ไม่สำคัญ เพราะโตขึ้น ยิ่งแก่ตัวลง สนใจอะไรก็อ่านก็ถามก็หาความรู้ สามารถเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้อย่างไม่หยุดหย่อน แล้วแต่เวลา ฉันทะ และความเกียจคร้านของตนเอง
ถ้าเช่นนั้น ทำไมนักสังคมศาสตร์/นักมานุษยวิทยาจึงเป็นนักบริหารองค์กรที่ใช้ไม่ได้อย่างที่ใครๆ เขายืนยัน
หรือกระบวนการหาความรู้ของเรามันโอเค แต่ตัวความรู้ที่มีต่างหากที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะความรู้ทางมานุษยวิทยาที่แปดเปื้อนด้วยอุดมการณ์อุดมคติบางอย่างอย่างเห็นได้ชัด
ความรู้ที่แปดเปื้อนอุดมการณ์ที่ว่า ก็อาทิ
หนึ่ง -เราสอน (บางคนไม่เพียงรู้แต่ยังเชื่อ) ว่าคนกับสังคมมันแยกออกจากกันไม่ได้ ยิ่งถ้ารับว่าอะไรๆ ในโลก (บ้าน ครอบครัว วัด สถานศึกษา ระบอบโต๊ะ ระบอบประชาธิปไตย ระบบทุนนิยม บริโภคนิยม วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมป๊อบ ความเป็นสากล/พื้นบ้าน/… อะไรก็ว่าไป) ล้วนถูกสร้างด้วยน้ำมือมนุษย์/สังคม (socially constructed อย่างที่นิยมพูดกัน) เราเป็นใคร ยิ่งถูกหล่อถูกหลอมถูกรื้อถูกประกอบใหม่ โดยเสี้ยวส่วนต่างๆ ของสังคมที่เราไปยุ่งด้วยหรือที่เข้ามายุ่งกับเรา
เพราะฉะนั้น ทำอะไรแล้วบอกว่าเรื่องของข้าพเจ้า ท่านไม่เกี่ยว จึงไม่ make sense แต่ทำอะไรแล้วบอกว่า ข้้าพเจ้าไม่สนใจว่าใครจะว่ายังไง อย่างนี้พูดได้ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั่นอีกเรื่อง เพราะสิ่งที่ท่านทำ ต้องไปหนักศีรษะใครบางคนแน่ จะน้อยจะมากก็แล้วแต่กรณี
สอนอย่างนี้ ไม่ได้กำลังบอกว่าด้วยเหตุนี้ นักศึกษาทั้งหลาย เข้าเมืองตาหลิ่ว ขอให้หลิ่วตาตาม ไปโรมก็ให้ทำอย่างคนโรมันเขาทำ
เพราะมนุษย์สร้างวัฒนธรรม (ทั้งใหญ่และย่อย) สร้างสังคมขึ้นมาได้เพราะแต่ละคนมีความสามารถในการรู้ว่าสิ่งไหนผิดสิ่งใดชอบ (แน่นอนว่าอะไรผิด/ชอบมาจากสังคมก่อน แต่ก็มาจากประสบการณ์ในการอยู่ในสังคมนั้นของเราด้วย ไม่อย่างนั้นโลกคงไม่เปลี่ยนมาเป็นอย่างที่เป็นอยู่ และจะเปลี่ยนต่อไป) ด้วยเหตุนี้มนุษย์ทุกคนจึงสามารถเป็นนายของตัวเอง (autonomy/agency) สังคมบอกสิ่งนี้ถูก แต่ทำแล้วเราสะเทือนใจเพราะเห็นว่าไม่ถูก คำถามคือเราจะทำหรือไม่ทำ ตรงนี้เราเลือกได้
แน่นอนว่าเลือกทำสิ่งที่สังคมหรือกลุ่มคนที่เราสังกัดอยากให้ทำ (แม้เราจะไม่อยากทำ เพราะมีเหตุผลให้ไม่เห็นด้วย) ช่วยให้เราสบายเนื้อสบายตัวกว่าไม่ทำ
อาจจะเพราะอย่างนี้ นักปรัชญาที่นักสังคมศาสตร์ไปสมาทานความรู้มา เช่น รุสโซ (Rousseau) หรือ จอห์น สจ๊วร์ต มิลล์ (John Stuart Mill) จึงเสนอว่าระบอบที่ดีคือระบอบที่คนสามารถเข้ามาร่วมคิดร่วมสร้างกติกาในการอยู่ร่วมกัน อย่างนี้ เราจะได้อยู่ร่วมกันด้วยความสมัครใจด้วยความสบายใจ (พอประมาณ/พอรับได้) ของทุกฝ่าย
แต่พูดอย่างนี้ไม่เท่ากับใครอยากทำอะไรก็ทำได้
บอกแล้วว่า เราอย่างไรเสียก็ต้องอยู่ร่วมกัน อย่างไรเสีย แต่ละคนต้องรู้ผิดชอบชั่วดีบ้างเพราะถ้าปัญญาไม่บกพร่องร้ายแรง ถึงไม่มีพ่อแม่สั่งสอน เราก็ยังต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่นอยู่ดี
ความรู้เช่นนี้ พูดไปใครก็ชอบ เพราะคนฟังรู้สึกเขากำลังได้รับการยอมรับว่ามีสิทธิมีอำนาจชอบธรรมในการสร้างเนื้อตัวและตัวตนของเขาอย่างที่เขาเห็นดีเห็นชอบ แต่ในทางปฏิบัติ…
แต่ในทางปฏิบัติ ตัวเรามักมาก่อน เพราะมีแต่เราที่รู้ว่าชอบ/ไม่ชอบอะไร เลยอดคิดต่อไปว่าอะไรที่เราชอบเป็นของดี ถ้ามันดี เรายังชอบ คนอื่นก็ควรคิดว่าดีและชอบเหมือนเรา ใครที่เห็นว่าไม่ดี ไม่ชอบ กลายเป็นตัวปัญหาไป
หรือไม่ใช่ความรู้หรอกที่เป็นปัญหา ที่มีข้อจำกัด ประยุกต์ใช้ไม่ได้ แต่ปัญหาอาจจะอยู่ที่เรียนมาแล้วกลับทำตัวทำหัวว่างๆ เหมือนไม่ได้เรียนอะไรมาต่างหาก?
แต่การประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานเช่นนี้ในชีวิตที่เนืองแน่นด้วยมนุษย์ที่มาจากกลุ่ม ชนชั้น ชาติพันธุ์ วิชาชีพ วัย/ยุคสมัย ฯ ต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งไม่ต้องพูดว่ามันจะต้องใช้เวลากี่เดือนกี่ปีกว่าจะตกลงใจทำอะไรได้สักอย่างสองอย่าง
ในเรื่องเวลา นักมานุษยวิทยายังอาจเป็นผู้บริหารที่ใช้ทรัพยากรประเภทนี้เปลืองเป็นอันดับต้นๆ เพราะ
สอง -เราไม่เพียงสอน แต่หลายครั้งยังสั่งให้นักศึกษาไปใช้เวลา (สามเดือนหกเดือนในกรณีปริญญาโท นานกว่านั้นเท่าตัวในกรณีปริญญาเอก) อยู่กับคน/กลุ่มคนที่พวกเขาไม่รู้จัก เป็นคนแปลกหน้าทั้งในแง่ภูมิลำเนา ศรัทธา ความเชื่อ ความคิด ความรู้ พฤติกรรมบางอย่าง เพศ วัย สถานะทางสังคม ใครสนใจใครก็เลือกเอา แต่เลือกแล้วก็ต้องอยู่กับคนเหล่านั้นให้ได้ ด้วยการฝึกหูให้ไว ฝึกตาให้ช่างสังเกต ฝึกตนให้คุ้นกับความต่างๆ นานามิติ ฝึกใจให้รู้จักอดทนอดกลั้น
ถึงตรงนี้ จะเห็นว่าฐานคิดทางทฤษฎี และวิธีปฏิบัติ ที่เกี่ยวกับคน การอยู่กับคนอื่น ของนักมานุษยวิทยา ที่สอนสั่งว่าให้พยายามไม่ลดทอนคนให้เป็นนอตเป็นตะปูในเครื่องจักรกลการผลิต ให้ฟัง ให้ดู ให้อดทนอดกลั้น เข้ากันเป็นเนื้อเดียวกับระบอบโต๊ะธิปไตยได้ยาก
แล้วพวกเขาก็มาถึงทางสองแพร่ง จะเป็นนักบริหารในอุดมคติของระบอบโต๊ะฯ
หรือจะเป็นนักบริหารที่รู้จักระบอบ (ก็เรียนมา) รู้ฤทธิ์และพิษสงของมันที่เกิดกับคนในระบอบ (เรียนมาอีกเช่นกัน) ที่มีภารกิจคือให้เกิดผลผลิต ขณะเดียวกันก็ลงทุนลงแรงกับการหาหนทางถอนพิษ คิดวัคซีนป้องกันบัณฑิตใหม่ที่จะเข้าสู่ระบอบไม่ให้ปัญญาและอารมณ์เป็นพิษต่อไป
หากความเป็นนักบริหารองค์กรที่ดี คือการสร้างผลผลิตได้ตามเป้าหมาย ในเวลาที่สั้นกระชั้น ใช้ต้นทุนต่ำ ขายเก่ง ขายเร็วจนไม่ต้องมีบริการหลังการขาย นักมานุษยวิทยา หากไม่หลงลืมความรู้และถอนรากการปฏิบัติที่หล่อหลอมเขามา เห็นทีจะประสบความสำเร็จโดยเกณฑ์นี้ลำบาก
บัณฑิตและว่าที่บัณฑิตที่ฟังมายืดยาวบางคนถามอย่างอดรนทนไม่ไหว “ตกลงจะให้เรียนมานุษยวิทยาไปทำอะไร”
บางคนกำลังชั่งใจว่าจะยอมปล่อยคนในคอกให้กลับขึ้นหอคอยของเขาหรือไม่
เวลาสำนักงาน-เวลาสาวโรงงาน? สาวสำนักงาน แม่ค้าเร่ นักรบรับจ้าง
ได้รับข้อความสั้นระหว่างหลบกลับสู่หอคอย “กลับบ้านเถอะ พ่อแม่ให้อภัยแล้ว…”
ไม่ใช่พ่อแม่ของคนบนหอคอย แต่เป็นพ่อแม่ของมหาบัณฑิต ที่บากบั่นฟันฝ่า ผ่านการสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ การฝึกอบรมเบื้องต้น แต่พอถึงวันเซ็นสัญญาเพื่อรับสถานภาพสาวสำนักงาน กลับปฏิเสธงานในสำนักงานทรงเกียรติ แม่เมื่อรู้ข่าวก็ร้องไห้ร้องห่มจนเป็นลม เห็นหน้ามหาบัณฑิตคราวใดก็น้ำตาไหล เริ่มร้องไห้จนจะเป็นลมอีก ลูก “ไม่รักดี” จึงตัดสินใจอัปเปหิตัวเองออกจากบ้าน เร่ร่อนเป็นคนไร้บ้าน รับจ้างทำโน่นนี่ราวแรงงานรายวัน บางครั้งก็ตั้งแผงขายสินค้าในโลกไซเบอร์
ขณะที่พ่อแม่สงสัยว่าทำไมลูกปฏิเสธงานที่ประกันความมั่นคงของชีวิต (มีกิน มีเงินซื้อบ้าน รถ แต่งงาน มีลูก ส่งลูกเรียน มีเบี้ยหวัดไว้ใช้ยามแก่เฒ่า มีค่ารักษาพยาบาลให้ตนเอง ครอบครัว และพ่อแม่)
มหาบัณฑิตผู้เป็นลูก ที่อาจจะเพราะความรู้จากตำรับตำรา จากสนามของตนเองและเพื่อนๆ จากประสบการณ์ช่วงสั้นๆ ในสำนักงาน ก็สงสัย
เช่น สงสัยว่าทำไมผู้บริหารทั้งหลายที่อยากทำงานกับบัณฑิตและมหาบัณฑิต จึงฝักใฝ่ระบอบเวลาของโรงงานอุตสาหกรรมและพยายามใช้ระบอบนี้ในสำนักงานกันอย่างจริงๆ จังๆ
ทำไมพวกเขาทุ่มเทความคิด เวลา–ทั้งหาวิธีนับ วิธีจัดลำดับ จะตัดเกรดพนักงานผ่านเวลาเข้า-ออกสำนักงานอย่างไร ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ จะอธิบายเกณฑ์อย่างไรหากมีใครถาม เอาเครื่องปั๊มนิ้วดีไหม ใช้แล้วมีผลในเชิงเลือกปฏิบัติไหมถ้าเลือกปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้เกณฑ์นี้มีผลแต่พนักงานคนนั้นคนเดียวหรือสองคน ฯลฯ
และ ทรัพยากร ประเภทต่างๆ — เวลาในการประชุมกลุ่มโน้นนี้ ครั้งแล้วครั้งเล่า เวลาสอบถาม/เลือกสเป็คเครื่องกับงบประมาณที่มี กระดาษ/การผลิตเอกสาร/การเก็บเอกสาร คนที่ต้องถูกดึงมาร่วมคิดสมคบ งบประมาณที่ต้องจ่ายทั้งซื้อของ ซื้อเวลาคน ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ เพื่อนำมาใช้และสถาปนาระบอบเวลาอุตสาหกรรมในสำนักงาน
มหาบัณฑิตสงสัยว่าเหตุใด ไปๆ มาๆ ระบอบเวลาอุตสาหกรรมจึงครองความยิ่งใหญ่ได้ปานนี้ และสงสัยว่าคนในหอคอยจะมีคำอธิบายที่น่าพอใจให้ไหม
ระหว่างรอคำตอบ มหาบัณฑิตผู้บัดนี้ไม่ไร้บ้าน แต่ไร้สำนักงาน ยังชีพไปพลางๆ ด้วยการเป็นนักรบรับจ้าง ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่าง ไป/อยู่ในที่ที่คนเห็น/ต้องการความรู้ความสามารถของเขา เรียนทักษะใหม่ เห็นอีกหลายด้านของโลกและสังคม
มหาบัณฑิตรู้ว่าชีวิตนักรบรับจ้างไม่มีความมั่นคงปลอดภัย ไม่แน่นอน แต่สีสัน มนต์เสน่ห์ของสรรพสิ่ง และผู้คน ก็เย้ายวน
คนบนหอคอยคิดถึงการตัดสินใจของมหาบัณฑิต วูบหนึ่ง เขาเห็นโลกย้อนกลับสู่ยุคที่ยังมีโจรสลัด มีเด็กฝึกงานที่เปลี่ยนที่ทางเพื่อเรียนและฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ก่อนตั้งตนเป็นนายของตนเองและรับเด็กใหม่มาฝึกต่อ เห็นทหารรับจ้างมอมแมม ทว่าเดินตัวตรงองอาจ เห็นป่าดงรกชัฏที่เต็มไปด้วยภยันตราย เห็นความกลัว ความประหวั่น เห็นความทุกข์ เห็นความกล้าอันเกิดจากการตัดสินใจและความมุ่งมั่น
หรือโลกนอกหอคอยก็ยังเป็นเช่นนี้ โจรสลัด เด็กฝึกงานเร่ร่อน นักรบรับจ้าง พ่อค้าเร่ ฯลฯ ยังดำรงอยู่?
คิดต่อไปว่า หรือเหตุที่สังคมยังดำรงอยู่ แม้น่าเกลียดน่าชัง แต่ยังพออาศัยอยู่ได้ ก็เพราะยังมีคนเหล่านี้ ที่ยังไม่สยบให้นาฬิกามาควบคุมทุกจังหวะการเคลื่อนไหว ไม่ให้ความกลัวทำให้ตัวแข็งทื่อขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ไม่ได้…
คนบนหอคอยสงสัยว่าระบอบเวลาโรงงานในสำนักงาน แม้ไม่กักเขาไว้ในโมงยาม แต่ก็อาจทำให้เขาคิดถึงชีวิต ความสำเร็จ ไม่ต่างจากสาวโรงงาน…