ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บัณฑร อ่อนดำ: สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาสังคมวิทยา) ปีการศึกษา 2555
ชีวิตและงานของอาจารย์บัณฑร อ่อนดำ [อ่าน]
เรื่องราวของอาจารย์บัณฑร อ่อนดำ ในรายการ ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ตอน “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555
คำประกาศสดุดีเกียรติคุณ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัณฑร อ่อนดำ มหาบัณฑิตสาขาสังคมวิทยาชนบท จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี พ.ศ.2515-2523 ซึ่งเป็นช่วงที่ “แผนกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” อยู่ระหว่างการแยกออกมาเป็นแผนกอิสระและมีการปรับการเรียนการสอน นอกจากการสอนในห้องเรียนแล้ว อาจารย์ยังได้พานักศึกษาออกเรียนรู้สังคมภายนอก ทั้งในภาคเมืองและชนบท นำนักศึกษาทำวิจัยภาคสนาม โดยเข้าร่วมในโครงการการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง ร่วมกับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการ และ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงนั้น อาจารย์มีส่วนอย่างสำคัญในการดำเนินงาน โครงการบัณฑิตอาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนับสนุนกิจกรรมงานพัฒนาของนักศึกษากลุ่มต่างๆ
แม้ว่าหลังปี พ.ศ.2523 อาจารย์จะไม่ได้สอนในมหาวิทยาลัยโดยตรง แต่ก็ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ด้านสังคมวิทยาชนบทเข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญในการสนับสนุนวิชาการด้านการพัฒนาสังคมของประเทศ ร่วมกับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ได้บรรยายให้นักศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยและที่ออกไปปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรพัฒนา และเครือข่ายองค์กรชาวบ้านต่างๆ ที่อาจารย์บัณฑรได้ร่วมเป็นครูอยู่ด้วย คุณูปการของอาจารย์บัณฑรที่ได้ใช้เวลาเกือบทั้งหมดของชีวิตอุทิศให้กับการทำงานกับชาวบ้านผู้ทุกข์ยากเดือดร้อนทั้งในชนบทและเมือง จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมไทยและต่างประเทศ เป็นแบบอย่างที่ดีของครูผู้ทุ่มเทให้ความรู้กับศิษย์โดยไม่ยึดติดว่าต้องสังกัดองค์กรสถาบันใด ขอให้ศิษย์เป็นคนดีและมุ่งมั่นทำความดีให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็ใช้ได้แล้ว
อาจารย์เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางวิชาการและแนวทางการพัฒนา การทำงานกับชาวบ้านในหลายโครงการ จัดฝึกอบรม ประเมินผลงานพัฒนา รวมถึงเป็นผู้จัดการมูลนิธิประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ (Grassroot Rural Integrated Development- GRID), เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรขนาดเล็ก (Small Farmers’ Participation Project-SFPP) เป็นเวลาต่อเนื่องกันถึง 3 ปีครึ่ง สร้างวิธีการวิเคราะห์ระบบชนบท (Rural System Analysis- RSA) ซึ่งผนวกงาน 3 อย่างเข้าด้วยกัน ซึ่งได้แก่ งานวิจัย งานพัฒนา และ การเสริมพลังอำนาจแก่เกษตรกรผู้ยากจน วิธีการวิจัยที่อาจารย์บัณฑรเสนอนี้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในแวดวงงานพัฒนาและงานวิชาการ
ในช่วงทศวรรษที่ 2530-40 เป็นยุคที่องค์กรพัฒนาเอกชนมีบทบาทมากในการทำงานในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล และ สะท้อนปัญหาชนบท เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข อาจารย์บัณฑร รับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) และยังเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.ส่วนกลาง) ตำแหน่งทั้ง 2 นี้มีบทบาทอย่างสำคัญในการกำหนดทิศทางการทำงานกับคนจนและท้องถิ่นขององค์กรพัฒนาเอกชน และทำหน้าที่เป็นล่ามนำชาวนาไทยไปสู่เวทีชาวนาโลก ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2532 อาจารย์บัณฑรเป็นทั้งนักวิชาการและนักพัฒนา ที่ริเริ่มแนวทางการทำงานใหม่ๆ และ ฝึกฝนคนรุ่นใหม่ให้ทำงานร่วมกับชาวบ้าน และผู้ยากลำบากด้วยความอุตสาหะ
กว่า 15 ปีที่ผ่านมา จนถึงปี พ.ศ.2555 อาจารย์รับตำแหน่งสำคัญในองค์กรพัฒนาหลายองค์กร อาทิ ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, ประธานกรรมการศูนย์ต่อสู้เอาชนะยาเสพติดภาคประชาชนแห่งชาติ (ศตส. ภาคประชาชน), กรรมการมูลนิธิสภาวัฒนธรรมแห่งเอเซีย (Asia Culture Forum on Development-ACFOD), กรรมการมูลนิธิการศึกษาไทยญี่ปุ่น, กรรมการสถาบันยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ, กรรมการมูลนิธิประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้, กรรมการมูลนิธิชุมชนไท, ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), ที่ปรึกษาองค์กรชาวบ้านเพื่อการพัฒนาภาคอีสาน, ที่ปรึกษาโครงการยุติธรรมและสันติ, ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เป็นต้น
อาจารย์บัณฑร ได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการของประชาชน ที่ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้าง ท่านมีส่วนเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการนักพัฒนาอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ ที่มุ่งมั่นออกไปทำงานเพื่อคนส่วนใหญ่ในสังคม และการที่ท่านเป็นพุทธศาสนิกที่มีความรู้และเป็นนักปฏิบัติทำให้ท่านสามารถประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรม อันเป็นที่ยอมรับนับถือของบุคคลและหน่วยงานในวงการพัฒนาสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านมาจนถึงวันนี้ ท่านก็ยังเป็น อาจารย์บัณฑร คนเดิม ที่กำลังรอให้ตัวเองลุกเดินขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะสานต่อความคิด ความมุ่งมั่นให้คนยากคนจนในสังคมไทยได้ลืมตาอ้าปากขึ้นมายืนอย่างมีศักดิ์ศรี ร่วมสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีปณิธานที่จะทำงานรับใช้สังคมต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บัณฑร อ่อนดำ เป็นผู้ทรงเกียรติคุณที่ได้รับการยอมรับจากวงวิชาการและวงการพัฒนา เป็นผู้อุทิศตนให้กับการทำงานอย่างแท้จริง สภามาหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีมติเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์บัณฑร อ่อนดำ เป็นผู้เหมาะสมที่จะได้รับปริญญา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาสังคมวิทยา) ประจำปีการศึกษา 2555 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติประวัติสืบไป