วัฒนธรรมต่อต้าน

yukti-ed-2013
จัดพิมพ์โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (2556)

ยุกติ มุกดาวิจิตร (บรรณาธิการ)

วิธีวิทยาศึกษาวัฒนธรรมต่อต้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร

โลกของบัคตินและการต่อต้าน
ปรีดีโดม พิพัฒน์ชูเกียรติ

การศึกษา Popular Culture แบบเอ็ดเวิร์ด ธอมป์สัน
นันทวัฒน์ ฉัตรอุทัย

พังค์กับสัมพัทธนิยมมของการปะทะต่อต้าน
อธิป จิตตฤกษ์

ศิลปะสาปสยอง: แฟนหนังกับการเมืองของการต่อต้าน
วัฒนธรรมกระแสหลักในภาพยนตร์สยองขวัญสมัยใหม่

อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง


บางส่วนจาก

“วิธีวิทยาศึกษาวัฒนธรรมต่อต้าน”

โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร

ในแง่ วิธีการศึกษา ผลงานทั้งสี่ชิ้นอาศัยการเก็บข้อมูลจากเอกสารทุติยภูมิ อย่างไรก็ดี การใช้เอกสารชั้นสองไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผลงานทั้งสี่ด้อยค่า เนื่องจากการค้นคว้าของทั้งสี่ได้นำมาซึ่งข้อถกเถียงใหม่ๆ ให้แก่วงการวัฒนธรรมศึกษาในประเทศไทย นอกจากนั้น งานแต่ละชิ้นยังเพิ่มความเข้าใจใหม่ๆ ให้แก่เอกสารที่รวบรวมมา การที่งานทุกชิ้นให้ความสำคัญกับบริบทของความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ และบริบททางสังคมของผลงานเขียนหรือปรากฏการณ์ ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจงานเขียนเหล่านั้นในขอบเขตที่กว้างกว่าตัวบทหรือตัวปรากฏการณ์เอง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ในแง่วิธีการศึกษา บทความคู่หนึ่งศึกษาผลงานหลักของนักคิดสองคน บทความอีกคู่หนึ่งศึกษาปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม กล่าวคือ ปรีดีโดมและนันทวัฒน์ศึกษา Rabelais and His World (ขอเรียกสั้นๆ ว่า Rabelais) ผลงานสำคัญของบัคติน และ The Making of the English Working Class (ขอเรียกสั้นๆ ว่า The Making) ผลงานสำคัญของธอมป์สันตามลำดับ ส่วนอธิปและอรรถสิทธิ์ศึกษาปรากฏการณ์วัฒนธรรมดนตรีพังค์และภาพยนตร์สยองขวัญตามลำดับ

ทั้งปรีดีโดมและนันทวัฒน์ ไม่เพียงทำความเข้าใจและวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ของศตวรรษที่ 20 สองคนอย่างละเอียด หากแต่ทั้งสองยังนำเอาภาวะเชิงประวัติศาสตร์ของงานเขียน (ไม่ใช่ประวัติศาสตร์รัสเซียและประวัติศาสตร์อังกฤษแบบตรงไปตรงมา) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอ่านตัวบท ปรีดีโดมอ่าน Rabelais ด้วยความเคารพในบริบทที่มันถูกเขียนขึ้นมา มากกว่าที่จะอ่านมันเพื่อรับใช้ประเด็นศึกษาใหม่ๆ ในปลายศตวรรษที่ 20 ปรีดีโดมนำ Rabelais กลับไปสู่บริบทของการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างเทศกาลคานิวัล วิธีการดังกล่าวทำให้รูปแบบของคานิวัล ไม่ได้มีลักษณะของความสืบเนื่องของความกลับขั้ว พลิกผันจากระบบระเบียบ หากแต่ปรีดีโดมพยายามเข้าใจด้วยว่า “บัคตินถามว่าผู้คนในศตวรรษที่ 20 นั้นหัวเราะในแบบเดียวกันกับราบเลส์และคนร่วมสมัยศตวรรษที่ 16 หรือไม่” คำถามนี้จึงเป็นคำถามเชิงวิธีวิทยาที่สำคัญ เป็นการเคารพความเฉพาะเจาะจงของอารมณ์ขันพื้นบ้านที่หนึ่งในโลก ที่ไม่อาจเอามาใช้เป็นตัวแบบของการเข้าใจอารมณ์ขันของสังคมในศตวรรษที่ 20 ที่ใดๆ ได้ง่ายๆ ในขณะที่นันทวัฒน์ ไม่เพียงศึกษาคำอธิบายเรื่องการต่อสู้ผ่านวัฒนธรรมประชาชนที่ปรากฎในงาน The Making ของธอมป์สัน หากแต่นันทวัฒน์ยังศึกษาประวัติศาสตร์ของผลงานของธอมป์สัน นันทวัฒน์วางงานของธอมป์สันชิ้นนี้ลงไปในบริบทของการศึกษาแนว “วัฒนธรรมศึกษา” (หรือ “Cultural Studies” ในความหมายเคร่งครัด) หรือถ้าจะให้ชัดยิ่งไปกว่านั้นคือบริบทของ “ซ้ายใหม่” (New Left) นันทวัฒน์อุทิศข้อเขียนตอนแรกให้กับการอภิปรายข้อถกเถียงระหว่างธอมป์สันกับซ้ายใหม่คนสำคัญๆ ทำให้ผู้อ่านไม่เพียงเข้าใจธอมป์สัน แต่ยังได้เข้าใจซ้ายใหม่ไปพร้อมๆ กับเข้าใจว่า ทำไมธอมป์สันจึงวิพากษ์จุดยืนเรื่องวัฒนธรรมต่อต้านของพวกวัฒนธรรมศึกษาอย่างรุนแรงอีกด้วย

ส่วนอธิปและอรรถสิทธิ์ ทั้งคู่อ่านดนตรีพังค์และภาพยนตร์สยองขวัญ ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์สังคมอย่างชัดเจน แน่นอนว่าอธิปและอรรถสิทธิ์ไม่ได้ทำความเข้าใจ “ศิลปะ” เฉพาะรูปแบบของประเภทผลงานหรือเฉพาะตัวบทของผลงานเท่านั้น “ศิลปะมวลชน” (หากจะพอนับได้ว่าพังค์ที่มีแขนงแยกย่อยมากมายต่างก็มี “มวลชน” ของตนเองอยู่เช่นกัน) นับเป็นการเผยให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับสังคม ที่สำคัญคือ ศิลปะที่ทั้งสองคนศึกษาไม่ได้เป็นเพียงผลผลิตจากการกำหนดโดยสังคมที่ศิลปะนั้นกำเนิดขึ้นมา อธิปและอรรถสิทธิ์ชี้ให้เห็นว่า ศิลปะทั้งสองแขนงยังสร้างสังคมขึ้นมา พังค์สร้างสังคมชาวพังค์และเผยแพร่วัฒนธรรมพังค์ไปนอกข่ายชาวพังค์ กระแทกวัฒนธรรมหลักทางเสียงและรสนิยมหลักของชนชั้นกลาง ส่วนภาพยนตร์สยองขวัญ ผลิตอารมณ์ตื่นเต้นสยองขวัญที่ท้าทายมาตรฐานอารมณ์ของความบันเทิงแบบชนชั้นกลางเช่นกัน การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมของพังค์และภาพยตร์สยองขวัญของอธิปและอรรถสิทธิ์ จึงช่วยให้เราเข้าใจปฏิสัมพันธ์ของศิลปะกับสังคม ในแง่ที่ว่า ทั้งศิลปะและสังคมต่างตอบโต้และก่อร่างสร้างตัวกันและกันอย่างสลับซับซ้อน